ทั่วโลกประจักษ์ซึ้งถึงพิษภัยของ "ฝนเหลือง" (Agent Orange) เป็นอย่างดีในยุคสงครามเวียดนามระหว่างปี 2504-2518 เพราะเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดรุนแรงที่ทหารอเมริกันใช้ฉีดพ่นเหนือผืนป่าอันกว้างใหญ่ของเวียดนามใต้ เพื่อทำลายป่าที่หลบซ่อนของทหารเวียดกง โดยมีการประมาณกันว่า อเมริกันใช้ฝนเหลืองร้อยละ 60 หรือ 42 ล้านลิตร จากจำนวนสารเคมี 72 ล้านลิตรที่ใช้ไปในสงครามครั้งนั้น
แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 20 ปีเศษ แต่ผลกระทบของฝนเหลืองต่อระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และสุขภาพของคนในเวียดนามใต้ ยังคงปรากฎให้เห็นชัดเจน และนี่เองกระมังที่ทำให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ พยายามกลบเกลื่อนเรื่องสารเคมีที่ขุดพบในสนามบินบ่อฝ้ายเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2542 ว่าไม่ใช่ "ฝนเหลือง" ทั้ง ๆ ยังไม่มีการตรวจหาไดออกซินซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญของฝนเหลือง เพราะประเทศไทยไม่มีเครื่องมือที่ตรวจสอบสารนี้ได้ และมีผู้ที่เคยทำงานให้กับทหารอเมริกันในช่วงปี 2506-2507 ออกมายืนยันว่า ถังสารเคมีที่ขุดพบเป็นฝนเหลืองที่สหรัฐอเมริกาทิ้งไว้หลังจากเข้ามาทดลองในประเทศไทย ซึ่งสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ปฏิเสธ
ปฏิกิริยาของกรมควบคุมมลพิษในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว ฝนเหลืองยังน่ากลัวน้อยกว่าวิธีการทำงานแบบไม่โปร่งใสของหน่วยงานแห่งนี้เสียอีก
ฝนเหลืองคืออะไร
ฝนเหลืองมาจากชื่อเล่นภาษาอังกฤษว่า Agent Orange เป็นสารผสมจากสารเคมี 2 ตัวคือ 2,4-D และ 2,4,5-T ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชในกลุ่ม chlorophenoxy herbicide แม้สารเคมีในกลุ่มนี้จะยังมีอีกหลายตัวด้วยกัน แต่ตัวที่มีพิษร้ายแรงที่สุดตัวหนึ่ง คือ 2,4,5-T นี่เอง
สารในกลุ่ม chlorophenoxy herbicide เป็นสารที่ดูดซึมผ่านผิวหนังได้ และจะทำให้เกิดอาการทางประสาทตามมา ทำให้เกิดผื่นคัน ทำลายเนื้อเยื่อตับและไต และยังเป็นสารก่อมะเร็ง (carsinogen) เคยมีรายงานการทดลองในสัตว์พบว่า สารตัวนี้ทำให้เกิดมะเร็งและยังมีผลกระทบไปถึงลูกในรุ่นต่อไป ทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด แม้ได้รับในปริมาณความเข้มข้นที่ต่ำ สำหรับสาร 2,4-D มีชื่อเต็มว่า 2,4-dichlorophenoxy acetic acid
องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มของสารอันตรายปานกลาง (Solid Class II, Moderately Hazardous๗ จัดเป็นสารกำจัดวัชพืชและสารที่ทำให้ใบไม้ร่วง มีฤทธิ์ฉับพลันต่อคนคือ ถ้าหากสูดดมเข้าไปจะทำให้ทางเดินหายใจ คือ คอ จมูก และปอด ปวดแสบปวดร้อน ถ้าสัมผัสที่ตาจะทำให้ตาแดง แสบตา ถูกผิวหนังจะทำให้ผิวด่าง และหากสัมผัสมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการชักกระตุกของประสาทรอบนอก
ส่วนสาร 2,4,5-trichloronoxy acetic acid องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มของสารอันตรายปานกลางและมีฤทธิ์ต่อพืชเช่นเดียวกับ 2,4-D จากการทดลองในหนูทดลองพบว่า สาร 2,4,5-T มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์คือทำให้ฮอร์โมน testosterone ลดลงและทำให้ผู้ชายเป็นหมันได้
ประเด็นสำคัญคือ ทั้งในสาร 2,4-D และ 2,4,5-T มีสารประกอบสำคัญที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกคือ 2,3,7,8-tetrachlorodibenzo-p-dioxin (TCDD) หรือที่รู้จักกันในชื่อ dioxin ลำพังสาร 2,4-D และ 2,4,5-T เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกขับออกในไม่ช้าและย่อยสลายในไม่นาน แต่ตัวที่อันตรายในที่สุดในฝนเหลืองคือ ไดออกซิน (dioxin) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมี non-biodegradable คือมีช่วงอายุนานหรือย่อยสลายยากในธรรมชาติ และ dioxin นี่เองที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตของคนเวียดนามใต้อย่างมาก
พิษฝนเหลืองในเวียดนามใต้
ดังกล่าวแล้วว่า สหรัฐฯ ใช้ฝนเหลืองเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 42 ล้านลิตร ภายใต้แผนปฏิบัติการ "Operation Ranch Hand" ในสงครามเวียดนาม และจากปริมาณฝนเหลืองดังกล่าวทำให้มีการประมาณการกันว่า มีสาร "ไดออกซิน" ทั้งหมดประมาณ 170 กิโลกรัมปนอยู่ในสภาพแวดล้อมทางภาคใต้ของเวียดนามระหว่างในช่วงสงคราม (สาร 2,4,5-T และ 2,4-D ในส่วนผสมของฝนเหลืองจะมีออกซินอยู่ประมาณ 3.83 กรัม/ลูกบาศก์เมตร)
ผลกระทบจากไดออกซินหลังสงครามต่อระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมและสุขภาพของคนยังปรากฎชัดเจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 20 ปีเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพมนุษย์ยังคงมีให้เห็นในรุ่นลูกรุ่นหลานของชาวเวียดนามที่ได้รับหรือสัมผัสฝนเหลืองในช่วงสงคราม
ธนาคารโลกเคยจัดทำรายงานเกี่ยวกับกรณีเวียดนามและได้ประมาณขอบเขตพื้นที่และป่า ที่ได้รับความเสียหายจากฝนเหลืองว่า มีประมาณกว้างประมาณ 625,000 ไร่ ถึง 12,500,000 ไร่ โดยรายงานของธนาคารโลกระบุชัดเจนว่า การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ ความย่อยยับของความหลากหลายทางชีวภาพและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรมเป็นผลมาจากปฏิบัติการฝนเหลืองของสหรัฐฯ
และด้วยเหตุที่สารไดออกซินจัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่ไม่ย่อยสลายหรือย่อยสลายยากในธรรมชาติ สารเคมีกลุ่มนี้เมื่อปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้วจะสามารถเข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารได้ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้คนเวียดนามใต้ที่รับประทานอาหารซึ่งมีไดออกซินปนเปื้อนอยู่มีสารพิษตัวนี้สะสมอยู่ในร่างกาย และจากการทดลองจากตัวอย่างอาหารและสัตว์ป่าจากตลาดต่าง ๆ ทางภาคใต้ของเวียดนามระหว่างปี 2528-2530 ได้ผลยืนยันว่ามีสารไดออกซินสะสมในปริมาณสูง
นักวิทยาศาสตร์ทั้งชาวเวียดนามและชาวต่างชาติเคยทำการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายครั้งด้วยกันเพื่อพิสูจน์ว่า การสัมผัสฝนเหลืองมีความเชื่อมโยงสำคัญกับโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคน เช่น ทำให้เป็นโรคมะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด เช่น soft tissue sarcoma และ chonocarcinoma โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับฝนเหลืองในช่วงสงคราม รวมทั้งทหารผ่านศึกจากเวียดนามเหนือที่ได้รับสารตัวนี้เข้าไป นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับฝนเหลืองหรือในครอบครัวของทหารผ่านศึกมีอัตราความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้แท้งลูก ทารกตายในท้อง ทารกพิการแต่กำเนิด เป็นต้น สูงกว่าประชาชนในพื้นที่อื่น
ผลพวงของฝนเหลืองในยุคสงครามยังตกไปถึงน้ำนมในมารดาที่ตั้งครรภ์ด้วย จากการศึกษาตัวอย่างน้ำนมมารดาที่รวบรวมมาจากสตรีที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของเวียดนามพบว่า แม้ระดับของสารไดออกซินที่สะสมในน้ำนมมารดาลดลงไปจากระดับ 1450 พีพีที (parts per trilion) ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็น 10-20 พีพีทีในปี 1994 (พ.ศ. 2537) แต่ก็ยังคงสูงกว่าที่ตรวจพบในน้ำนมมารดาของสตรีเวียดนามที่อยู่ทางภาคเหนือ ซึ่งไม่ได้รับฝนเหลือง และสูงกว่าน้ำนมมารดาของสตรีในประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประมาณ 3-8 เท่า
มีการศึกษาอีกชุดหนึ่งที่ชี้ว่า ตัวอย่างเลือดทั้งหมดที่เก็บจากเวียดนามใต้นั้นมีระดับไดออกซินสูงกว่าตัวอย่างเลือดที่เก็บจากคนในเวียดนามเหนือ การศึกษาชุดนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับไดออกซินเจนในเลือดของผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ศึกษาเป็นเวลานานกับปริมาณของฝนเหลืองที่มีการฉีดพ่นออกไปในช่วงสงคราม
องค์การอนามัยโลกจัดประเภทของสารไดออกซินไว้ในกลุ่มสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนทางด้านสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency-EPA) นั้น ระบุภายหลังจากที่มีการประเมินถึงพิษของสารไดออกซินครั้งล่าสุดแล้วว่า ไดออกซินมีอันตรายร้ายแรงกว่าดีดีทีถึง 200,000 เท่า ดังนั้นจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ฝนเหลืองในสมัยสงครามอินโดจีน มีผลกระทบร้ายแรงต่อทหารเวียดนามและทหารอเมริกันที่ได้รับสารตัวนี้เข้าไป
พิษฝนเหลืองที่บ่อฝ้ายไม่ร้ายเท่าพิษของหน่วยงานรัฐ
"จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบ่อฝ้าย ทำให้รู้ว่าสารเคมีดังกล่าวทหารอเมริกันนำมาใช้ในสมัยสงครามเวียดนาม โดยนำบรรทุกเครื่องบินแล้วไปโปรยในป่าที่กองกำลังเวียดกงหลบซ่อนอยู่ เมื่อใช้เหลือก็นำมาฝังกลบไว้กลางสนามบินบ่อฝ้าย" นาวาโทประเสริฐ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกการบินพลเรือนหัวหิน ออกมาให้สัมภาษณ์ หลังจากถังบรรจุสารเคมีที่ฝังอยู่ใต้ดินในระดับความลึกประมาณ 1.5 เมตรถูกรถแบ็กโฮขุดกระทบ จนเกิดการรั่วไหลของสารเคมีในสนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา
ผลของการขุดค้นถังบรรจุสารเคมีในเวลาต่อมาได้พบภาชนะเหล็กสภาพผุกร่อนขนาด 200 ลิตร ซึ่งไม่มีสารเคมีหลงเหลืออยู่อีก 1 ถัง และถังบรรจุสารเคมีจำนวน 5 ถัง ขนาดบรรจุ 15 ลิตร มีข้อความและหมายเลขกำกับว่า "Delaware Barrel PAT NO 2842282, Tri-sure, American lange, NY" คำว่า Delaware ซึ่งเป็นชื่อเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกานี่เอง ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยตั้งแต่เบื้องต้นว่า ถังบรรจุสารเคมีดังกล่าวน่าจะเป็นของสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีคนไทยหลายคนทยอยออกมาให้ข้อมูลพร้อมรูปถ่ายว่าสหรัฐฯ เคยเข้ามาทดลองสารเคมีที่เรียกว่าฝนเหลืองบริเวณนี้ เพื่อนำไปใช้ในสงครามเวียดนาม
นายเอนก กลิ่นน้อย อายุ 53 ปี ราษฎรบ้านบ่อฝ้าย เปิดเผยว่า เมื่อปี 2506 สมัยที่มีอายุ 17 ปี เคยรับจ้างทหารอเมริกันผสมสารเคมีและได้มีการนำไปโปรยในป่าใหญ่หลังค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเหมือนเหมือนเวียดนาม โดยทดลองอยู่เกือบ 1 ปี
"สารเคมีที่นำมาผสมมี 3 ชนิด เป็นผงสีขาว ๆ และดำมีกลิ่นเหม็นมาก เวลากวนต้องใส่ถุงมือและหน้ากาก ช่วงทำงานผมก็มีอาการแพ้สารเคมีเหมือนกัน และหลังจากผสมเสร็จจะนำขึ้นบรรทุกเครื่องบิน สมัยนั้นเรียกว่าโครงการใบไม้ร่วง ซึ่งเมื่อนำสารเคมีผสมเสร็จแล้วไปโปรย ต้นไม้จะตายอย่างรวดเร็ว" นายเอนกกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ 5, 8 เม.ย. 42)
ด้านเรือโทเมธี เพ็ญสาดแสง วัย 72 ปี ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้ากองศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในช่วงปี 2508 ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า ช่วงทดลอง ทหารอเมริกันและคนไทยที่ไปรับจ้างทำงานเรียกสารตัวนี้ว่าฝนเหลือง
"สมัยนั้นคนไทยที่ทำงานอยู่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย นี่ล่วงเลยมา 30 ปีแล้ว สารพิษยังไม่สลายตัว กรมควบคุมมลพิษบอกความจริงกับชาวหัวหินว่าสารเคมีที่ขุดพบเป็นสารเคมีตัวใดและเร่งรีบแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน" เรือโทเมธีกล่าว
นอกจากนี้ทักษ์ เดชะปัญญา ประธานสภาเทศบาลตำบลหัวหิน ซึ่งเคยเป็นล่ามและช่างภาพให้กับผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาระบุว่า การทดลองสารเคมีในสนามบินบ่อฝ้ายดังกล่าว ใช้ชื่อว่า "defoliate" หรือแผนใบไม้ร่วง ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนว่าสารเคมีที่ขุดพบอาจเป็นส่วนประกอบของฝนเหลือง กรมควบคุมมลพิษก็ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ในระหว่างวันที่ 23 มี.ค.-4 เม.ย. 2542 พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างดินและน้ำที่ปนเปื้อนมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของบริษัทเอกชนช่วยตรวจสอบด้วย
หลังจากตรวจสอบสารปนเปื้อนเพียง 2 วัน นวล เภทยาภัชร ผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ออกมาเปิดเผยผลการวิเคราะห์ว่า พบไดเมทโธเอต (Dimethoate) และไตรอะโซฟอส (Triazophos) ในปริมาณความเข้มข้นที่ต่ำมาก พร้อมทั้งยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า จากการตรวจสอบทั้งในระดับอนุภาคของตัวสาร ระดับโมเลกุล และทุกโครงสร้างทางเคมีแล้วไม่พบทั้ง 2,4-D และ 2,4,5-T หรือแม้แต่ไดออกซิน สารดังกล่าวจึงไม่ใช่ฝนเหลือง
สำหรับผลการตรวจในห้องปฏิบัติการของกรมควบคุมมลพิษและบริษัทเอกชน ซึ่งก็คือบริษัทเจนโก้นั้น ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาเปิดเผยภายหลังว่า ไม่พบ 2,4,5-T และ 2,4-D รวมถึงไดออกซินเช่นเดียวกัน โดยสารประกอบหลักที่กรมควบคุมมลพิษตรวจพบคือ 2,6-bis-4-methylphenol หรือ Butylated
Hydroxytoluene ซึ่งใช้เป็นสารป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นในน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนห้องปฏิบัติเอกชนตรวจพบตัวทำละลายอินทรีย์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหมือนรบกวน ประกอบไปด้วยเบนซีน โทลูอีน เอทธิลเบนซีนและไซลีน ซึ่งเหล่านี้ใช้ประโยชน์ในการล้างคราบไขมันและเป็นเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ดี กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมคณะกรรมการรณรงค์ป้องกันภัยสารพิษและกลุ่มกรีนพีชนานาชาติ โครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกมาเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบสารเคมีดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบให้ทราบถึงบริษัทผู้ผลิต เพื่อยืนยันลักษณะของสารเคมีและให้ประเทศที่เป็นเจ้าของออกมาแสดงความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ยังได้ทำจดหมายถึงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ให้เปิดเผยข้อมูลทางการทหารที่เคยมีการทดลองสารพิษในประเทศไทยสมัยสงครามเวียดนามด้วย รวมทั้งได้ติดต่อกับศูนย์ข้อมูลสารพิษในสหรัฐฯ ที่ชื่อมัลติเนาชั่นแนล รีสอร์ชเซ็นเตอร์ เพื่อขอข้อมูลสารพิษเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังขอให้ศูนย์ดังกล่าวส่งจดหมายไปยังกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้เปิดเผยข้อมูลปฏิบัติการทางทหารในการทดลองสารพิษในประเทศไทยระหว่างสงครามเวียดนาม
"เราไม่เชื่อว่าการตรวจมีประสิทธิภาพพอ เพราะปกติการตรวจหาสารพิษเหล่านี้ ต้องมีการตรวจยืนยันกันหลายรอบ นอกจากนี้การเก็บตัวอย่างดินก็ไม่รู้ว่าครอบคลุมบริเวณปนเปื้อนทั้งหมดหรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งคือการตรวจหาไดออกซินนั้น ตรวจหาได้ยากมากในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพพอ และต้องใช้งบประมาณสูง" เพ็ญโฉม ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่สามารถยอมรับผลการตรวจของกรมควบคุมมลพิษได้
ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรวจสอบที่ชัดเจนว่า สารเคมีที่พบเป็นของใครและเป็นสารอะไรกัน คณะกรรมการเฉพาะกิจซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ โดยมีนายศิริธัญญ์ เป็นประธาน ก็พยายามที่จะให้บริษัทเจนโก้เข้าไปดำเนินการบำบัดสารเคมีที่สนามบินบ่อฝ้ายอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติปัญหาและเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยคาดว่าจะใช้จ่ายในเบื้องต้นถึง 30 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติงบประมาณดังกล่าวให้แม้จะมีการลดงบประมาณเหลือ 16 ล้านบาทในเวลาต่อมา เพราะกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถระบุพื้นที่ที่ปนเปื้อนสารเคมีได้อย่างชัดเจน
"ทำไมกรมควบคุมมลพิษไม่พยายามสืบหาต้นตอของสารเคมีนี้ทั้งที่เห็นอยู่ว่ามีอันตราย เป็นสารเคมีที่จัดเก็บผิดวิธี แม้แต่กรมเองก็ยังตอบไม่ได้ว่าสารนี้คืออะไร" เพ็ญโฉมกล่าวพร้อมกับเสริมว่า หากไม่สามารถสืบหาต้นตอของสารเคมีได้ก็จะไม่สามารถจัดการได้ถูกวิธีเพราะสารเคมีทุกชนิดล้วนมีความเป็นพิษต่างกัน การจัดการจัดเก็บจึงต้องต่างกันไปด้วย มิหนำซ้ำยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ถ้าสารเคมีดังกล่าวไม่มีอันตรายจริงตามที่หลายฝ่ายออกมามายืนยัน ทำไมจึงต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดการสารตกค้างเหล่านี้ (กรุงเทพธุรกิจ 12 เม.ย. 42)
ด้านสหรัฐฯ ซึ่งเก็บตัวเงียบตลอดเวลาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของสารพิษ "ฝนเหลือง" ที่มีการขุดพบ ในที่สุดเมื่อถูกก็ออกมายอมรับ โดยโฆษกประจำสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้เข้ามาปฏิบัติการทดลองสารเคมีที่มีชื่อว่า เอเยนต์ออเรนจ์ ในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า Thailand Defoliation Program หรือโครงการปฏิบัติการทดลองใบไม้ร่วงในไทย ช่วงระหว่างเดือน เม.ย. 2507-มิ.ย. 2508 บริเวณค่ายทหาร อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งไม่ไกลจากสนามบินบ่อฝ้ายนัก โดยรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร รับทราบอย่างเป็นทางการ
ไม่เพียงเท่านั้น ในเอกสารที่สถานทูตสหรัฐฯ ส่งให้ประเทศไทยในเวลาต่อมายังมีการระบุด้วยว่า นอกจากฝนเหลืองแล้ว สหรัฐฯ ยังมีการทดลองสารเคมีตัวอื่น ๆ ด้วยเพื่อเปรียบเทียบกับสารเอเยนต์ออเรนจ์ เช่น สารสีม่วง สารสีชมพู เป็นต้น โดยในการทดลองครั้งมีคนไทยร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการอยู่ด้วย 2 คน คือ นายเต็ม สมิธินันท์ นักวิชาการกรมป่าไม้ ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว และนายสมจิตร พงค์พงัน
ส่วนถังสารเคมีที่พบในสนามบินบ่อฝ้ายนั้น โฆษกประจำสถานทูตสหรัฐฯ คนเดิมเลี่ยงที่จะพูดถึงชนิดและแหล่งที่มา โดยกล่าวเพียงว่า จากการพิสูจน์ของทางการไทยพบว่า ไม่ได้บรรจุสารที่เป็นส่วนที่ประกอบของเอเยนต์ออเรนจ์
ในเวลาต่อมานายสมจิตรได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากที่มีการโปรยสารเคมีในช่วงของการวิจัย ปี 2507 กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ได้ทำการติดตามผลระยะยาวว่า จะมีผลต่อมนุษย์และสัตว์รวมทั้งป่าไม้อย่างไรซึ่งจากการพบปะและเยี่ยมเยียนครอบครัวคนงานที่ถูกว่าจ้างให้เก็บตัวอย่างหลังการโปรยสารเคมีแต่ละครั้ง และครอบครัวคนงานที่อยู่ใกล้บริเวณที่โปรยสารเคมีพบว่า เด็กชายคนหนึ่งที่เป็นบุตรของคนงานต้องเป็นเด็กพิการ คือ มีหน้าอกยุบแฟบไม่สมประกอบ ซึ่งจากการสอบถามพบว่าเด็กชายดังกล่าวอยู่ในระหว่างที่มีการโปรยสารเคมีในบริเวณนั้น (มติชน, กรุงเทพธุรกิจ 12 พ.ค. 42)
หลังจากการออกมายอมรับของสหรัฐฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างดินที่ปนเปื้อนสารเคมีในสนามบินบ่อฝ้ายมาทำการตรวจสอบใหม่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่จากสำนักงานคุ้มครองมลพิษของสหรัฐฯ ตัวอย่างดินที่เก็บคราวนี้อยู่ที่ระดับความลึก 2-5 เมตรซึ่งเป็นชั้นดินดาน และได้ส่งไปตรวจสอบที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพราะจริง ๆ แล้วประเทศไทยไม่สามารถตรวจสอบสารไดออกซินได้ ซึ่งสุวิทย์ คุณกิตติ รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมายอมรับในที่สุดว่า ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ตรวจสอบสารตัวนี้ เพราะไม่มีเครื่องมือเพียงพอ
ด้านศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ก็ตามคำถามนี้ได้เพียงว่า "ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษเก็บตัวอย่างดินและน้ำที่ถูกสารเคมีปนเปื้อนไปตรวจสอบและนำไปใช้วิธีการตรวจสอบแบบเทียบเคียงแล้วไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของไดออกซินแต่อย่างใด ในภาวะเร่งด่วนที่ต้องรายงานให้ประชาชนทราบ จึงต้องใช้วิธีการเช่นนี้ และยืนยันว่าผลการตรวจสอบที่ออกมาเป็นไปตามมาตรฐานการวัดค่าทุกอย่าง" (มติชน 5 เม.ย. 42)
"ไม่ใช่แต่กรณีของบ่อฝ้ายที่เดียวหรอก เท่าที่สังเกตดู ปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนั้น มักจะรีบออกมาปฏิเสธ ในกรณีนี้ กรมควบคุมมลพิษอาจออกมาปฏิเสธเพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนตื่นกลัว แต่กลับไม่คำนึงปัญหาเลยว่าจะก่อผลกระทบอย่างไรบ้าง" เพ็ญโฉมสะท้อนภาพวิธีการแก้ปัญหาของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝนเหลืองที่ว่าอันตราย บางทีก็ยังอันตรายน้อยกว่าระบบการแก้ปัญหาของราชการไทยเสียอีก