เจาะสูตร ‘ต้มยำกุ้ง’ แหล่งสมุนไพรสรรพคุณเลิศ ซดคล่องคอแถมไกลโรค
แปลก ยังไง ใครๆ ก็รู้จักกันดีใช่ไหมคะ สำหรับเมนูคู่บ้าน คู่เมืองอย่าง ‘ต้มยำกุ้ง’ แต่รู้จักกันดีขนาดนี้ ทราบไหมเอ่ยว่าสมุนไพรทั้งหลายทั้งมวลที่เราประโคมใส่ไปในต้มยำกุ้ง ใส่ไปทำไม? ใส่ตามสูตร ใส่ให้หอม ใส่ให้มันครบๆ ใส่ๆ ไปไม่กินก็ทิ้ง โถๆ ช่างน่าสงสารเพราะความจริงแล้วสรรพคุณของสมุนไพรในต้มยำกุ้ง 1 หม้อมีค่ามากกว่าที่คุณคิดเยอะ ยิ่งช่วงนี้หน้าฝน คนเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นหวัดกันงอมแงม ไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันแล้วค่ะ แค่ซดชามนี้ทั้งอร่อยแถมป้องกันโรคได้ด้วยทั้งลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ช่วยในการไหลเวียนโลหิต ฯลฯ แต่ก่อนจะไปดูสรรพคุณนั้น เรามาดูวิธีการทำต้มยำกุ้งน้ำข้นกันก่อนนะคะ
- กุ้งกุลาดำตัวใหญ่ หรือกุ้งแม่น้ำ (หากไม่มีใช้กุ้งขาว กุ้งแชบ๊วยแทนได้)
- เห็ดฟางผ่าครึ่ง
- พริกขี้หนู
- ใบมะกรูดฉีกเอาก้านออก
- ข่าหั่นแว่น
- ตะไคร้ทุบแล้วหั่นท่อน
- ผักชี โรยหน้า
- หอมแดง 2-3 หัว
- น้ำพริกเผา 1 ช้อนชา
- มะนาว 1 ลูก
- กะทิหรือนมข้นจืด 1/2 ถ้วย
- น้ำตาล 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำซุป (ถ้าไม่มีใช้น้ำเปล่า)
ขั้นตอนการทำ
- เตรียมกุ้งและเครื่องต้มยำให้พร้อม ก่อนอื่นต้องแกะเปลือกกุ้งผ่าเอาเส้นดำออกล้างให้สะอาด บุบตะไคร้หั่นเป็นท่อนๆ บุบพริก ข่า พอแตก ฉีกใบมะกรูดให้มีกลิ่นหอม และหั่นเห็ดฟางให้เรียบร้อย
- นำน้ำซุปไปตั้งไฟให้เดือด ใส่เครื่องต้มยำลงไปให้หมดต้มให้หอม รอจนน้ำเดือดอีกครั้ง ใส่กุ้งที่เตรียมไว้ลงไป
หลังจากใส่กุ้งลงไปแล้ว ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี พริกขี้หนู พริกเผา นมข้นจืด ปรุงรสตามชอบ ตามด้วยเห็ดฟาง - รอจนกุ้งสุกพอดี ถ้าสุกเกินไปจะแข็ง เนื้อกระด้าง จากนั้นปิดเตาแล้วค่อยปรุงด้วยมะนาว (เคล็ดลับ ไม่ควรบีบน้ำมะนาวใส่ในน้ำแกงที่กำลังเดือด เพราะจะทำให้มะนาวขมได้)
- จัดชามพร้อมเสิร์ฟ หั่นผักชีโรยหน้า เพิ่มความหอม
เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี ได้ต้มยำกุ้งรสเลิศกันแล้ว แต่ต้มยำกุ้งชามนี้ใครว่ามีดีที่อร่อยอย่างเดียว เพราะสมุนไพรไทยในเครื่องต้มยำแต่ละอย่างนั้นก็มีสรรพคุณมากมาย ยิ่งหน้าฝนแบบนี้ เวลาเปียกฝนมาแล้วได้ซดน้ำต้มยำพร้อมกลิ่นสมุนไพรหอมๆ โล่งคอนักเชียว มาดูกันว่าสมุนไพรแต่ละอย่างให้สรรพคุณอะไรกันบ้าง
- พริกขี้หนู : ประโยชน์มากมายช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต เร่งอัตราการเผาผลาญ ช่วยลดน้ำหนัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาแก้หวัด ลดน้ำมูก บรรเทาอาการไอ แถมสรรพคุณอื่นๆ อีกเพียบ
- ใบมะกรูด : ขับลมในลำไส้ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี แก้จุกเสียด เป็นต้น
- ข่า : บำรุงร่างกาย ลดเสมหะ ขับลม แก้บิด แก้มวนท้อง แก้อาการอาหารเป็นพิษ เป็นต้น
- ตะไคร้ : ขับเหงื่อ บำรุงธาตุไฟ ลดอาการไอ แก้หวัด ลดไข้ ช่วยขับลม เป็นต้น
- ผักชี : บำรุงสายตา แก้กระหายน้ำ ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ไอ ละลายเสมหะ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แก้วิเวียนศีรษะ เป็นต้น
- มะนาว : แก้วิงเวียน อาการเมา ขับเสมหะ รักษาโรคลักปิดลักเปิด แก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการต่อมทอลซินอักเสบ
- หอมแดง : ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ลดอาการวิงเวียนหน้ามืดตาลาย มีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
นี่แค่สรรพคุณคร่าวๆ นะคะ เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณเป็นร้อยๆ ข้อ เห็นไหมล่ะคะว่าอาหารไทย นอกจากอร่อยแล้ว ยังดีต่อสุขภาพเข้ากับอากาศและสภาพร่างกายของคนไทยเราเป็นที่สุด แบบนี้ฤดูไหนๆ ก็ไม่กลัวแล้วค่ะ