เทคนิคการถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS 80D: ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากล้อง EOS 80D ให้ภาพที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม ด้วยการผสานการทำงานของซีรีส์ EOS แบบเดิมเข้ากับความสะดวกสบายของหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ ซึ่งทำให้กล้องเหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติที่ตรงใจคุณอย่างยิ่ง ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่งดงามและคงอยู่ไม่นานเนื่องจากทิวทัศน์นั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (เรื่องโดย Shirou Hagihara)
เทคนิคที่ 1
ฟังก์ชั่นสมดุลแสงขาวอัตโนมัติมีประสิทธิภาพสูงในการสร้างภาพที่มีโทนสีที่เหมาะสมสำหรับภาพทิวทัศน์ในตอนกลางวัน อย่างไรก็ดี ไม่จำเป็นว่าฟังก์ชั่นสมดุลแสงขาวจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสำหรับแก้ไขโทนสีแดงที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนขณะถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกดิน แต่กลับจะทำให้ความสดใสของสีสันต่างๆ ลดลงไป ดังนั้น การใช้สมดุลแสงขาวอัตโนมัติจึงอาจไม่ช่วยให้คุณได้ภาพดังที่ตั้งใจไว้หากคุณใช้ฟังก์ชั่นดังกล่าวในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกดิน
ในกรณีนี้ คุณควรปรับอุณหภูมิสีด้วยตัวเองจะดีกว่า ในการเพิ่มโทนสีแดง คุณอาจใช้การตั้งค่ามาตรฐาน เช่น "เมฆครึ้ม แสงแดดยามเย็น พระอาทิตย์ตก" หรือ "แสงในร่ม" ได้ แต่หากคุณต้องการปรับแต่งภาพอย่างละเอียดให้ใช้วิธีกำหนดอุณหภูมิสี วิธีการกำหนดอุณหภูมิสีโดยใช้ค่าตัวเลขจะช่วยให้คุณสามารถปรับแต่งภาพได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถเก็บโทนสีที่ถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ธรรมชาติตามที่ต้องการได้
EOS 80D/ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM/ FL: 35 มม. (เทียบเท่ากับ 56 มม.)/ Aperture-Priority AE (f/11, 1/60 วินาที, EV0)/ ISO 200/ WB: 7,000K
ผมต้องการเก็บภาพก้อนหินรูปร่างประหลาดที่โผล่ขึ้นมาเหล่านี้ พร้อมกับปรับแต่งภาพให้ดูเหมือนว่าก้อนหินถูกอาบไล้ด้วยแสงสีแดงของดวงอาทิตย์ที่กำลังตกดิน ดังนั้นผมจึงตั้งค่าอุณหภูมิสีไปที่ "7000K" เพื่อเพิ่มโทนสีแดง ในการเลือกบริเวณที่สว่างของตัวแบบและโฟกัสอัตโนมัติไปที่บริเวณดังกล่าว ผมเลือกใช้ AF ครั้งเดียว และโหมด Flexizone-จุดเดียว และเนื่องจากผมต้องการหลีกเลี่ยงปัญหากล้องสั่น ผมจึงติดตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง และใช้ตัวตั้งเวลา 2 วินาทีขณะถ่ายภาพ
สามารถปรับอุณหภูมิสีโดยเพิ่มครั้งละ 100K ได้
เมื่อคุณเลือก "อุณหภูมิสี" สำหรับสมดุลแสงขาว คุณสามารถปรับอุณหภูมิสีโดยเพิ่มครั้งละ 100K ได้ ในหน้าจอ Quick Control ให้เลือก "สมดุลแสงขาว" และเมื่อ "อุณหภูมิสี" ปรากฏขึ้น ให้หมุนวงแหวนควบคุมหลัก
เทคนิคที่ 2
ใช้การถ่ายภาพ Live View และกำลังขยาย MF เพื่อโฟกัสที่ดอกไม้ได้แม่นยำมากขึ้น
การโฟกัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ดังนั้น การใส่ใจกับการโฟกัสให้มากขึ้นจึงเป็นความคิดที่ดี ในกล้อง EOS 80D มีฟังก์ชั่นการขยายโฟกัสระหว่างการถ่ายภาพแบบ Live View ให้คุณใช้งานเพื่อการโฟกัสที่สมบูรณ์แบบ
ระหว่างการถ่ายภาพ Live View กล้องอาจไม่ได้จับโฟกัสที่ตำแหน่งเป้าหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแบบ ตัวอย่างเช่น เมื่อจับภาพดอกไม้ แม้ว่าคุณต้องการโฟกัสไปที่เกสรตัวผู้ แต่จุดโฟกัสนั้นอาจมีขนาดเล็กมากจนกล้องอาจจับโฟกัสที่กลีบดอกไม้แทน ในกรณีเช่นนี้ ให้ลองเปลี่ยนไปถ่ายภาพโดยใช้การโฟกัสแบบแมนนวลและขยายจุดโฟกัสเพื่อเพิ่มความแม่นยำ นอกจากนี้ หน้าจอ LCD ความละเอียดสูงของกล้อง EOS 80D ยังช่วยให้คุณตรวจสอบโฟกัสได้อย่างมั่นใจอีกด้วย!
โฟกัสโดยใช้ฟังก์ชั่นการขยายภาพ Live View
เปลี่ยนไปถ่ายภาพแบบ Live View และย้ายจุดโฟกัสไปยังตำแหน่งที่คุณต้องการจะโฟกัส ตรวจดูให้แน่ใจว่าตัวแบบอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของจุดโฟกัส
ปรับสวิตช์โหมดการโฟกัสของเลนส์มาที่ MF จากนั้นกดปุ่มขยายภาพ หลังจากขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นถึง 5 เท่าหรือ 10 เท่าแล้ว ให้หมุนวงแหวนโฟกัสเพื่อจับโฟกัส
EOS 80D/ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM/ FL: 71 มม. (เทียบเท่า 114 มม.)/ Aperture Priority AE (f/5, 1/160 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ผมใช้ต้นอโดนิสที่กำลังผลิบานบนเนินริมแม่น้ำอามูร์เพียงต้นเดียวเป็นตัวแบบหลัก จากนั้นสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สวยงามให้กับต้นอโดนิสอื่นๆ และต้นพลัมที่อยู่ในแบ็คกราวด์ เพื่อถ่ายทอดภาพฤดูใบไม้ร่วงทั่วๆ ไป เพื่อที่จะโฟกัสตัวแบบหลักคือเกสรตัวผู้ของต้นอโดนิสได้อย่างแม่นยำ ผมเลือกใช้ฟังก์ชั่นการขยายโฟกัสโดยการตั้งค่ากล้องเป็นโฟกัสแบบแมนนวล และตั้งค่าโหมดขับเคลื่อนไปที่ "การถ่ายภาพเดี่ยว"
ออกจากจุดที่จำกัดด้วยหน้าจอ LCD แบบหมุนได้
ในการวางซ้อนตัวแบบหลักเข้าไปในแบ็คกราวด์ ให้ตั้งกล้องของคุณไว้ในตำแหน่งที่ต่ำ หน้าจอ LCD แบบหมุนได้ช่วยให้คุณถ่ายภาพได้แม้อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก
เทคนิคที่ 3
ใช้ฟังก์ชั่นระบบถ่ายภาพคร่อมอัตโนมัติ (AEB) เมื่อถ่ายฉากต่างๆ ที่กำหนดการเปิดรับแสงได้ยาก
เมื่อถ่ายภาพในรูปแบบ JPEG คุณจำเป็นต้องกำหนดการเปิดรับแสงที่ถูกต้องในฉากนั้นๆ ในกรณีนี้ คุณสามารถตั้งค่าการชดเชยแสงสำหรับแต่ละช็อตได้ด้วยตนเอง หรือสามารถใช้การถ่ายภาพคร่อม AE ได้ ในขณะใช้งานฟังก์ชั่นนี้ ให้ใส่เมนูแบบกำหนดเองเพื่อกำหนดล่วงหน้าว่าคุณต้องการถ่ายภาพคร่อมจำนวนกี่ภาพ (2/3/5/7 ช็อต) หลังจากนั้นจึงค่อยกำหนดช่วงการชดเชยแสงและการเปิดรับแสงอ้างอิงขณะถ่ายภาพ
หากตัวแบบของคุณเป็นวัตถุที่สว่าง เช่น ต้นซากุระ หรือหากฉากที่คุณกำลังถ่ายอยู่นั้นมีแบ็คกราวด์ที่ว่าง ควรลองกำหนดค่าการเปิดรับแสงอ้างอิงเป็นบวก สำหรับตัวแบบที่มืด ให้ลองกำหนดค่าเป็นลบ ขณะใช้งาน AEB คุณเพียงแค่ต้องกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพหลายภาพเท่านั้น ดังนั้น คุณสามารถใช้ฟังก์ชั่นนี้ควบคู่ไปกับโหมดการถ่ายภาพต่อเนื่องเพื่อถ่ายภาพที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
EOS 80D/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 165 มม. (เทียบเท่า 264 มม.)/ Aperture-Priority AE (f/8, 1/320 วินาที, EV+0.3)/ ISO 250/ WB: แสงแดด
ในภาพนี้ ผมต้องการถ่ายภาพต้นซากุระที่มีสีชมพูสดใส ผมจึงเลือกบริเวณที่มีดอกไม้ผลิดอกบานอย่างหนาแน่นมากที่สุด จากนั้นจึงถ่ายภาพโดยใช้ AEB ผมรู้สึกว่าช็อตนี้ ซึ่งถ่ายที่ EV+0.3 ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพราะตัวแบบอาจไม่ได้อยู่นิ่งซะทีเดียว เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ลม ผมจึงขอแนะนำให้ถ่ายภาพให้เร็วที่สุด และเพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนองค์ประกอบภาพ ผมจึงตั้งค่าถ่าย AF แบบครั้งเดียว + FlexiZone-จุดเดียว จากนั้นเลือกโหมดขับเคลื่อนการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
ตั้งค่าโหมดการถ่ายภาพต่อเนื่องและลั่นชัตเตอร์ 3 ช็อตต่อเนื่อง
ตามค่าเริ่มต้น กล้องจะถ่ายภาพคร่อมจำนวน 3 ช็อต ดังนั้น เมื่อคุณตั้งค่ากล้องเป็นโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง และกดปุ่มชัตเตอร์ลงจนสุด กล้องจะถ่ายภาพจำนวน 3 ช็อตโดยอัตโนมัติ การถ่ายภาพคร่อม AE มีประโยชน์ในสถานการณ์ที่ตัวแบบของคุณมีความเปรียบต่างที่เด่นชัดระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่าง และยากที่จะกำหนดว่าควรเปิดรับแสงเท่าใดในการถ่ายภาพครั้งแรก โดยคุณสามารถลองกำหนดช็อตไว้ที่ 5 หรือแม้แต่ 7 ช็อตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแบบ
EV +3
EV ±0
EV -0.3
รุ่นอื่นๆ ก็ลองไปดัดแปลงใช้งานกันดูนะ