ความหวังในความแล้ง: ชุมชนต้นน้ำน่าน อีกหนึ่งคำตอบสำหรับปัญหาเขาหัวโล้น
เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
ปัญหาเขาหัวโล้นของน่านไม่ใช่ปัญหาของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประเทศ
ภาพภูเขาของน่านที่กลายเป็นผืนดินสีน้ำตาลอันว่างเปล่าสุดลูกหูลูกตาเป็นภาพที่ทำให้เราทุกคนสะเทือนใจ ไม่เพียงแค่ป่าจำนวนมหาศาลที่หายไปเท่านั้น แต่นี่คือภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการจัดการดูแลป่าไม้จากการทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นผลผลิตจำนวนมากเพื่อป้อนอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร ผลกระทบที่ตามมานั้น คือ ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ที่พังทลายไป เร่งให้เกิดผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ซึ่งกำลังคุกคามประเทศไทยและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี … แล้วอะไรคือทางออกของปัญหานี้?
ภูเขาหัวโล้นของน่าน ภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการจัดการดูแลป่าไม้และการทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นผลผลิตจำนวนมากเพื่อป้อนกับอุตสาหกรรม
แม่น้ำน่าน คือ ต้นน้ำสายสำคัญที่เป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่การคุกคามป่าไม้จากอการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรมทำให้พื้นที่ป่าหายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัญหาภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อฤดูฝนมาถึงพื้นที่ต้นน้ำก็จะไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ปัญหาป่าไม้ของน่านจึงเป็นปัญหาของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงปัญหาของจังหวัด
แต่ไม่ใช่ทุกระบบการเกษตรส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์ ยังมีการเกษตรอีกแนวทางหนึ่งที่ตั้งอยู่บนการสร้างสมดุลย์ระหว่างการสร้างผลผลิตและการรักษาระบบนิเวศ แนวทางนี้มีตัวอย่างจริงอยู่ที่ชุมชนต้นน้ำน่าน ชุมชนต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล บนพื้นที่ 60 ไร่ ที่หมู่ 6 บ้านคั๊ว ตำบลศรีภูมิ อำเภอวังท่าผา จังหวัดน่าน เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร การจัดการน้ำ และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นทางออกของวิกฤตภัยแล้งและปัญหาเขาหัวโล้นที่เกษตรกรทุกคนสามารถร่วมกันทำได้
ชุมชนต้นน้ำน่าน “ภัยแล้ง เราไม่เคยแล้ง”
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุของฤดูร้อนและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงกว่าทุกปี ชุมชนต้นน้ำน่านแห่งนี้ยังคงความชุ่มชื้น เขียวชะอุ่ม เต็มไปด้วยพืชผักผลไม้นานาชนิด คุณกุล ปัญญาวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชุมชนต้นน้ำน่าน เล่าถึงความเป็นมาของการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่นี่ว่าต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน และการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้จริง ดังที่ชุมชนต้นน้ำน่านทำสำเร็จมาแล้ว
สถานที่ในอดีตเป็นสวนยางพารา อายุ 4 ปี ปลูกบนพื้นที่ที่ปรับจากสวนผลไม้ แต่เดิมดินมีความเป็นด่างเยอะมาก เนื่องจากมีสารเคมีตกค้างทั้งในดินและในแหล่งน้ำ พืชน้ำไม่มีความหลากหลาย ผืนดินเต็มไปด้วยวัชพืชเพียงชนิดเดียว ไม่มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ คุณกุลจึงเริ่มด้วยการปลูกต้นไม้ในต้นฤดูฝน ฟื้นฟูป่า ปล่อยให้ต้นไม้ที่มีรากมีเมล็ดอยู่ในดินเติบโต ซึ่งมีประมาณ 25 ชนิด บางชนิดเป็นสมุนไพร จากนั้นจึงหาไม้มาปลูกเพิ่ม ตามแนวคิดป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 5 ระดับ เพื่อกิน เพื่อใช้ สร้างที่อยู่อาศัย และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ต่อมาจึงปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเก็บน้ำ ด้วยการขุดหนอง คลอง และปรับนาให้เป็นคันนากว้างและลึก มีคลองไส้ไก่ขนาดเล็กเพื่อกระจายความชุ่มชื้นในดิน บริเวณหัวคันนาจะปลูกพืชผักสำหรับกินใช้ ในนาจะมีปลาและกุ้งฝอย มีการปลูกถั่วเพื่อเก็บกิน และไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ผลที่ได้คือมีสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งนก กระรอก แมลงในเวลาไม่ถึง 3 ปี รวมถึงคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าเพื่อกักเก็บและจัดการน้ำได้ สามารถทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศได้อย่างสมบูรณ์
ช่วงแล้งที่ผ่านมาที่ชุมชนต้นน้ำน่านไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเลย โดยคุณกุลกล่าวว่า น้ำในหนองทั้ง 5 หนองยังคงมีอยู่ แห้งไปเพียงครึ่งเดียว พืชผักก็ยังมีน้ำหล่อเลี้ยง “สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ คือสิ่งที่บรรพบุรุษเราทำไว้หมดแล้ว แต่เราหลงลืมหันไปทำเกษตรรูปแบบใหม่ ถ้าเราหันมาทำวิธีเดิม นั่นคือทางรอดเพื่อสุขภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อม หวังว่าชุมชนต้นน้ำน่านจะเป็นตัวอย่างให้คนเห็น และเกิดแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลงต่อไป” คุณกุล ปัญญาวงศ์ กล่าว
กักเก็บน้ำอย่างยั่งยืนด้วยป่าและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ
การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนดังที่ชุมชนต้นน้ำน่านทำจนประสบความสำเร็จนั้น ทำได้ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยคำนวนปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาให้เหมาะสม พร้อมการคำนวนการสูญเสียน้ำจากการระเหย เพียงพอสำหรับทั้งการเกษตรและอุปโภคบริโภค โดยโมเดลที่ชุมชนต้นน้ำทำนั้น นอกจากกักเก็บไว้ในหนองน้ำแล้ว ยังมีการกักเก็บน้ำด้วยการปลูกต้นไม้ ทำนาด้วยการยกหัวคันนาสูงเพื่อเก็บไว้ในรูปแบบของนาข้าว ทำคลองไส้ไก่กระจายน้ำไปตามพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปลูกป่า เนื่องจากคุณสมบัติและความหลากหลายของพืชจะช่วยอุ้มน้ำได้มากกว่า หัวใจของการทำเกษตรของชุมชนต้นน้ำน่าน คือ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ที่เน้นถึงความสำคัญของวิถีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าหญ้า เนื่องจากยาฆ่าหญ้าจะฆ่าสิ่งมีชีวิตในดินด้วย
“การให้อาหารดินคือการให้อาหารคน การทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อเน้นเพียงผลผลิตจำนวนมากของบริษัทและอุตสาหกรรมควรหันมาเคารพธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศอันเป็นวิถีดั้งเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนทุกอย่างผลเพื่อตอบแทนทางเศรษฐกิจ จะเป็นการทำลายแผ่นดิน ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องการทำเกษตรกรรมมาก มีทุกอย่างแล้วที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แต่เรากลับมาที่ลบศูนย์เมื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อป้อนต่ออุตสาหกรรม แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สายที่จะกลับมาดูแล” คุณกุลกล่าวเสริม
ทุ่งข้าวโพดใกล้กับชุมชนต้นน้ำน่าน หนึ่งในการทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาภัยแล้ง การลุกล้ำทำลายป่า และหมอกควันพิษจากการเผาในที่โล่งและการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ความร่วมมือของเกษตรกรและอาสาสมัคร
ชุมชนต้นน้ำน่าน คือ ศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้อาสาสมัครทั้งคนไทยและคนต่างชาติ จากทุกพื้นที่ทั่วโลกมาร่วมกันศึกษาวิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในอาสาสมัครของชุมชนต้นน้ำน่าน คือ คุณชัยวัฒน์ ดำรงค์กุล ได้ร่วมเป็นอาสาสมัครมาเป็นเวลา 5 เดือน ผันตัวเองจากการทำธุรกิจส่วนตัวหลายกิจกรรม ใช้เวลา 10 วัน ตัดสินใจลาออกเพื่อศึกษาวิถีชีวิตเกษตรของชุมชนต้นน้ำแห่งนี้ นอกจากความรู้ด้านการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังได้ข้อคิดดี ๆ ถึงเกษตรกรรมเชิงนิเวศและความสำคัญของป่าต้นน้ำ
“ในประเด็นเรื่องเขาหัวโล้นต้องถามย้อนกลับไปว่า ทำไมคนถึงทำลายป่า การมีป่าทุกคนรู้หมดว่าดียังไง แต่คนเห็นอะไรสำคัญมากกว่าป่า เงินหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การเป็นอาสาสมัครทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากกว่าเงิน” คุณชัยวัฒน์ ดำรงค์กุล กล่าว
Victor Bonfiglioli Pinedo อาสาสมัครจากประเทศบราซิล กล่าวเสริมว่า “ผมสนับสนุนการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ช่วยดูแลดิน ระบบการจัดการน้ำ ทำให้ไม่ประสบปัญหายามแล้ง ชุมชนต้นน้ำน่านทำให้ผมได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง ปลูกพืชพรรณอาหารเพื่อเลี้ยงตนเองได้”
ชุมชนต้นน้ำน่าน ชุมชนต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล บนพื้นที่ 60 ไร่ ที่หมู่ 6 บ้านคั๊ว ตำบลศรีภูมิ อำเภอวังท่าผา จังหวัดน่าน เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร การจัดการน้ำ และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
“ทุกวันนี้มีสัญญาณเตือนภัยหลายอย่างด้านภัยพิบัติ เรามีสัญญาณเตือนอยู่ว่าเราไม่มีน้ำ ไม่มีป่า เรากำลังจะเจอหายนะ แต่เราไม่ตื่น อยากให้ตื่นขึ้นมาเจอกับความจริงได้แล้วว่าจะเจอกับอะไร ถ้าไม่นึกถึงตนเองก็นึกถึงลูกหลาน ทางรอดได้คือการทำให้ตัวเองรอด และให้เพื่อนรอด คือช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ และให้คนอื่นพึ่งพาได้ด้วย เราจะได้ดูแลสิ่งแวดล้อมและโลก มีที่อยู่ให้ลูกหลานเราต่อไป” คุณกุล ปัญญาวงศ์ กล่าว
ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้โลกต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรง ทางออกของเขาหัวโล้นและการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนคือการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่รักษาผืนดินและผืนน้ำ ซึ่งเกษตรกรทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนใช้ได้จริง ดังที่ชุมชนต้นน้ำทำจนสำเร็จจริง
อ่านเพิ่มเติม: ความหวังในความแล้ง: แม่ปิงแล้งสุดใน 40 ปี กับทางรอดของเกษตรกร
ที่มา: Greenpeace Thailand