8 ข้อวิพากษ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ดร.โสภณ เสนอ 8 ข้อวิพากษ์เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร และยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก พร้อมตั้งข้อสังเกต สังคมไม่เคยได้มีโอกาสเห็นร่าง พรบ.ฉบับนี้เลย รัฐบาลได้แต่ "โยนหินถามทาง" ไปเรื่อย
สำหรับหลักเกณฑ์การจัดเก็บนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงว่าว่าจะมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยมีเกณฑ์ดังนี้ (http://bit.ly/1WCSURl):
- สำหรับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยหลังเดียว ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5% ด้านผู้ที่มีที่อยู่อาศัย หรือมีบ้านตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป จะเสียภาษีทันทีตั้งแต่บาทแรก โดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5%
- พื้นที่เกษตรกรรม โดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.2%
- สำหรับพาณิชย์ อุตสาหกรรม จะเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 2% และ
- กลุ่มที่ดินรกร้าง ว่างเปล่าและไม่ใช้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 5% สำหรับในปีที่ 1-3 หลังจากนั้น หากไม่ได้มีการทำประโยชน์ในปีที่ 4-6 จะเก็บเพิ่มอีกเท่าตัว
ข้อนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขออนุญาตวิพากษ์ดังนี้:
- การให้เก็บภาษีก็ต่อเมื่อมีราคาสูงถึง 50 ล้านบาทนั้น จะทำให้บ้านที่ต้องเสียภาษีมีน้อย อาจไม่คุ้มค่าจัดเก็บ จากฐานข้อมูลของศูนย์ฯ ในช่วงปี 2537-59 มีบ้านที่มีราคาเกิน 50 ล้านบาทในตลาดอยู่เพียง 1,351 หน่วย แยกเป็นบ้านเดี่ยว 572 หน่วย ห้องชุด 764 หน่วย และอื่น ๆ จากฐานข้อมูล 1,8490,789 หน่วย ของบ้านทั้งหมดประมาณ 4.7 ล้านหน่วยที่มีอยู่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เท่ากับมีบ้านราคาเกิน 50 ล้านบาทเพียง 0.007% เท่านั้น
- ในความเป็นจริงไม่ควรมีการยกเว้นใด ๆ โดยไม่จำเป็นเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน การยกเว้น การลดหย่อน มักเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้มีรายได้สูง เพราะผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางก็ถูกเก็บภาษีไม่มากนักอยู่แล้ว
- หลักเกณฑ์ที่ผ่าน ครม. ข้างต้น ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แสดงให้เห็นว่า ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสได้รู้ข้อมูลที่ชัดเจน รัฐบาลจึงควรนำเสนอหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด ราคาบ้านที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น รัฐบาลไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะจัดเก็บเฉพาะส่วนที่เกินหรือไม่
- การกำหนดให้ผู้ครอบครองบ้านหลังที่ 2 ต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกนั้น อาจทำให้เกิดการถ่ายโอนกันใหญ่ เพื่อจะได้ไม่เสียภาษีนั่นเอง อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีควรให้จัดเก็บโดยไม่มีข้อยกเว้นอยู่แล้ว ในโครงการบ้านจัดสรรหรืออาคารชุด ก็มีการจัดเก็บค่าส่วนกลางโดยไม่มีข้อยกเว้น จักรยานยนต์เก่าคันละ 10,000 บาท ก็ยังเสียภาษีประมาณ 1% ทุกปี
- การแบ่งแยกประเภทการใช้สอยที่ดินอาจไม่ชัดเจน เช่น เกษตรกรรม รัฐบาลควรส่งเสริมหรืออุดหนุนการเกษตรทางอื่นแทนที่จะยกเว้นภาษีที่ดิน การให้ข้อยกเว้นนี้ บางคนจึงอาจแสร้งทำการเกษตรกรรมบังหน้าเพื่อให้เสียภาษีแต่น้อย
- อาจทำให้ประชาชนพากันแบ่งแยกโฉนด ซอยให้เป็นแปลงย่อย จะได้ไม่เสียภาษีตามเกณฑ์ รวมทั้งการแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นอะพาร์ตเมนต์ ส่วนที่ปลูกบ้านของตนเอง ส่วนที่ทำการเกษตกรรม ออกจากกันเป็นต้น
- แม้กฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ จะอ้างว่าผ่าน ครม. แต่หากไปดูในผลการประชุม ครม. ก็ไม่ปรากฏว่ามีวาระนี้ในการประชุม ครม. และควรจะมีออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ชัดเจนด้วย และแม้จะผ่าน ครม. แล้ว กว่าจะไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าสภา ก็ยังอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกมาก เช่น ร่างเดิม ยกเว้นบ้านที่มีราคาไม่เกิน 300,000 บาท แต่มาในร่างนี้ยกเว้นบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท เป็นต้น
- ถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายนี้จริง ควรทำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เช่น ในสมัยจะเปลี่ยนมาใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐบาลจะใช้ทุกองคาพยพในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ แต่นี่มีแต่การปรับเปลี่ยนไปมา สร้างความสับสนให้กับประชาชน และอาจกลายเป็นกฎหมายที่ "เป็นหมัน" กลายเป็น "คลื่นกระทบฝั่ง" ไปในที่สุด
รัฐบาลควรให้ประชาชนได้เข้าใจว่าภาษีนี้ดีต่อส่วนรวม ทำให้มูลค่าทรัพย์เพิ่มพูนกว่าภาษีที่ต้องเสียเพราะมีการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น จะได้ยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรมและซ้ำซ้อนอื่น เช่น ภาษีโรงเรือน จะช่วยให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น สร้างประชาธิปไตยขั้นรากฐานมากขึ้น เป็นต้น