ฉลาดในการให้ทาน
การให้ทานนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้ที่ให้ทานควรรู้จักฉลาดในการให้ทาน ผลของการทานนั้นจึ่งจะมีผลมาก ทานที่ให้ควรแจกจ่ายไปให้ทั่วถึงแก่ผู้ควรที่จะได้รับ ไม่ควรเอาไปทับถมในที่เดียว ควรเอาไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายที่มีความเดือดร้อน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับ คำว่า "ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง" ในพระสูตรด้านล่างนี้มีความหมายว่า การให้ทานในสมัยข้าวแพงเป็นการให้ที่สร้างประโยชน์เป็นอย่างมาก ชึ่งมีความหมายเดียวกันกับการที่เราให้ทานแก่ผู้ที่มีความเดือดร้อน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับ การให้ของเรานั้นย่อมมีประโยชน์มาก มีอนิสงส์มาก
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑ ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑ ทายกย่อมให้ข้าวใหม่
แก่ผู้มีศีล ๑ ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาลทาน
๕ ประการนี้แล"
ถ้าคุณจะศรัทธาในภิกษุรูปใด คุณควรเลือกที่จะศรัทธาในบุคคลที่ควรแก่การศรัทธา ว่าภิกษุนั้นเป็นผู้มีศีลมีธรรมดีไหม ถ้าคุณมีความศรัทธาในภิกษุผู้เห็นผิดมีธรรมอันเลว พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นลาภที่ไม่ดีเพราะความศรัทธานั้นเป็นความศรัทธาที่เลว
"ก็ลาภานุตริยะเป็นอย่างไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้างน้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็น
ของเลว. . ."
(36/608/22)
เช่นเดียวกันกับการให้ทาน เราควรเลือกผู้รับที่เหมาะสม เพราะพระพุทธเจ้าสรรเสริญการเลือกให้ทาน
"พระศาสดาจึงตรัสว่า อังกุระ ชื่อว่าการเลือกให้ทานย่อมควร ทาน (ของอินทกะ) นั้น เป็นของมีผลมาก ดังพืชที่หว่านดีแล้ว
ในนาดี อย่างนั้น แต่ท่านไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทานของท่าน จึงไม่มีผลมาก เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า
" บุคคลควรเลือกให้ทาน ในเขตที่ตนให้แล้ว จะมีผลมาก เพราะการเลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว ทานที่ให้ในท่านผู้เป็นทิกขิไณยบุคคลในชีวโลกนี้ เป็นของมีผลมากเหมือนพืชที่หว่านในนาดีฉะนั้น"
(43/334/18)
และการให้ทานของสัตบุรุษย่อมเลือกให้ เลือกผู้รับ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้
ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘
ประการนี้แล"
(37/488/1)
อีกอย่าง ถ้าถิกษุนั้น เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว ผลของการให้นั้นย่อมไม่มีผลานิสงส์มาก
"...อนึ่ง ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย ... ของชนเหล่าใด ข้อนั้น ย่อมไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวการรับปัจจัยอันไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ทายกนี้ ในความมีราคาถูกของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเป็นดังผ้าเปลือกไม้มีราคาถูกฉะนั้น..."
(34/489/15)
และการบำรุงสมณะผู้เห็นผิด พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นการบำรุงที่เลว
"ก็ปาริจริยานุตริยะเป็นอย่างไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำ บำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว. . ."
(36/610/1)
และผู้ใดให้ทานแก่คนที่ไม่ควรให้ ไม่ให้แก่คนที่ควรให้ ในคราวมีอันตราย ย่อมไม่ได้สหาย
"ผู้ใดให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ไม่เพิ่ม
ให้บุคคลที่ควรให้ ผู้นั้นถึงจะได้รับความทุกข์ในคราวมีอันตราย ก็ไม่ได้สหาย
ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ให้
ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงได้รับความทุกข์ใน
คราวมีอันตราย ย่อมได้สหาย"
(58/383/6)
ไม่ทำบุญกับภิกษุผู้ทุศีลมีธรรมอันเลว เราควรทำบุญกับใคร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในเพราะโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน ? คือ เพราะอาศัยโภคทรัพย์ บุคคลจึงเลี้ยงตนให้เป็นสุขเอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑ เลี้ยงบุตรภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวาร
ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ๑ ย่อมบำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศเป็นทางสวรรค์ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในเพราะโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้แล"
(36/480/1)
การเลือกให้ การฉลาดในการจำแนกให้ ย่อมมีอนิสงส์มากและก็ทำให้เราเกิดปัญญาด้วย
(เล่ม/หน้า/บรรทัด)