– Club 27 –
___________
Club 27 เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของบรรดานักดนตรีชื่อดังที่เสียชีวิตตอนอายุ 27 ปี โดยส่วนมากมักจะมีปัญหามาจากแอลกอฮอล์ ยาเสพติด การฆ่าตัวตาย หรือความรุนแรงต่างๆ ความที่นักดนตรีชื่อดังของโลกหลายคนเสียชีวิตในช่วงอายุเท่านี้ พวกเขาจึงเปรียบประดุจดอกไม้ไฟที่งดงาม โชติช่วงเพียงชั่วคราว และลาลับไปจากฟากฟ้าอย่างรวดเร็ว เหลือทิ้งไว้เพียงตำนานเล่าขานถึงผลงานอันตราตรึงของพวกเขาเพียงเท่านั้น
.
Brian Jones, Jimi Hendrix, Janis Joplin และ Jim Morrison เสียชีวิตตอนอายุ 27 ปีระหว่างปี 1969 -1971 ในช่วงเวลาดังกล่าวก็เริ่มมีคำพูดถึงความตายของพวกเขาที่เสียชีวิตในช่วงอายุเดียวกัน และก็ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรมากนัก จนกระทั่งความตายของเจ้าพ่อเพลงกรั๊นจ์อย่าง เคิร์ต โคเบน ที่เดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1994 จากการระเบิดกระสุนเข้าที่ศีรษะ หลังจากสิ้นลมหายใจแบบช็อคโลกของโคเบน Club 27 ก็เป็นที่หยิบยกมาพูดถึงกันขนานใหญ่ถึงความเชื่อเรื่องการขายวิญญาณให้กับซาตานเพื่อแลกกับชื่อเสียงและจะต้องเสียชีวิตลงไปเมื่ออายุเท่านี้ตามสัญญาที่ได้ทำไว้
.
นอกเหนือจากเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ ก็มีการวิเคราะห์สภาพจิตของผู้มีชื่อเสียงที่อยู่ในช่วงอายุ 27 จากนักจิตวิทยาที่ระบุว่า การที่นักดนตรีชื่อดังฆ่าตัวตายตอนอายุ 27 นั้น เป็นไปได้ว่า อายุในช่วงนี้ คือช่วงเวลาที่ผ่านพ้นความเป็นวัยรุ่นไปแล้วแต่ก็ยังไม่ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว บวกกับปัญหายาเสพติดและแอลกอฮอล์ที่สะสมของนักดนตรีทั้งหลาย รวมถึงความหมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ของตน และการไม่อาจรับมือกับความถาโถมของปัญหาต่างๆ ที่ตามมาพร้อมชื่อเสียงเงินทอง จึงสอดคล้องให้เกิดการฆ่าตัวตายหรือเกิดการเสียชีวิตจากการใช้ยาเสพติดในช่วงอายุเท่านี้จนเป็นที่น่าสังเกตได้
.
ถัดจากเคิร์ต โคเบน เอมี ไวน์เฮาส์ ก็เป็นนักดนตรีอีกคนหนึ่งที่ได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุ 27 ในปี 2011 จนทำให้การพูดถึงเรื่อง Club 27 เป็นประเด็นอีกครั้งตอนที่เธอเพิ่งเสียชีวิตหมาดๆ แต่กระนั้นก็ตามที ดิ อินดิเพนเด้นท์ได้รายงานถึงอัตราการเสียชีวิตของนักดนตรีมีชื่อในช่วงปี 1950 - 2010 ที่มีรายงานว่า แท้ที่จริงแล้วแม้ชื่อเสียงของ Club 27 จะโด่งดังเกินหน้าเกินตานักดนตรีคนอื่นๆ ที่ลาโลกไปก่อนหน้านี้ แต่อายุเฉลี่ยที่นักดนตรีมักเสียชีวิตอย่างสูงที่สุดกลับเป็นที่อายุ 56 ปีมากกว่า แต่การที่สมาชิก Club 27 เป็นที่น่าสนใจกว่านั้น เป็นเพราะพวกเขาหนุ่มยังสาว จนนำมาซึ่งความสะเทือนใจที่ผู้ฟังอาจจะอยากเห็นผลงานอื่นๆ ต่อไปหากว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่
.
แต่ทั้งนี้ คำว่า CLUB ในที่นี้อาจมีความหมายโดยนัยถึงสถานที่ที่นักดนตรีที่ตายในช่วงอายุ 27 จะได้ไปอยู่ร่วมกันก็เป็นได้ โดยคำคำนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Charles R. Cross ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของเคิร์ต โคเบน และจิมี เฮนดริกซ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า “จำนวนนักดนตรีที่เสียชีวิตตอนอายุ 27 นั้นนับว่าไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะวัดจากมาตรฐานใดๆ ก็ตาม จริงอยู่ที่ผู้คนตายกันทุกช่วงอายุ แต่นักดนตรีที่ตายตอนอายุเท่านี้ควรถูกเก็บไว้เป็นสถิติ”
.
นอกจากนี้ อีกหนึ่งรายงานที่น่าขนลุกของ CLUB 27 คือบทสัมภาษณ์แม่ของเคิร์ต โคเบน ที่ Charles R. Cross เป็นผู้สัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Daily World ที่กล่าวถึงลูกชายร็อคสตาร์ที่เพิ่งเสียชีวิตไปว่า “ตอนนี้เขาไปเข้าร่วมคลับโง่ๆ นั่นแล้ว ฉันบอกเขาแล้วว่าอย่าไปเข้าร่วมไอ้คลับบ้านั่น” ซึ่งสอดคล้องกับการที่เคิร์ต โคเบน เคยหล่นวาทะไว้ครั้งหนึ่งว่า “I'm gonna be a superstar musician, kill myself and go out in a flame of glory, just like Jimi Hendrix”
— อย่าพยายามหาคำอธิบายในตัว ปารีส ฮิลตัน —
____________________
.
" ทุกคนก็รู้ว่าฉันไปปาร์ตี้มาแล้วทั่วโลก ฉันรู้ว่าคนข้างล่างนั่นอยากฟังอะไร และฉันรู้ว่าควรใส่อะไรลงไปในเพลงที่ฉันเปิด "
.
เห็นอย่างนี้ ปารีส ฮิลตัน คือหนึ่งใน DJ ที่มีค่าตัวแพงที่สุดในโลกโดยในงานปาร์ตี้ที่หาดอิบิซ่า 4 คืน เธอฟันไปเหนาะๆ 2 ล้านเหรียญ หลายกระแสบอกเธอใช้เงินจ้างตัวเอง แต่เธอหาได้แคร์คำหยามหมิ่นไม่
.
กระแสแอนตี้ในความสามรถในการเป็นDJของเธอนั้นรุนแรงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเธอออกมาบอกว่า
.
" ฉันมั่นใจว่าฉันคือหนึ่งใน 5 ของDJที่ดีที่สุดในโลก "
.
คำให้สัมภาษณ์อันน่าตบของเธอนี้สร้างความหมั่นไส้ให้เหล่าDJและคนทำเพลงหลายๆคนในวงการ ซึ่งได้ออกมาด่าความมั่นหน้าแบบผิดๆของเธอกันยกใหญ่ แต่เธอยักไหล่แล้วบอก ฉันไม่แคร์ ถ้าตราบใดที่ค่าตัวในการเปิดเพลงของฉันยังเยอะกว่าคนพวกนั้น มันก็หมายถึงฉันเก่งกว่าอยู่แล้ว
.
เธอยังคงเดินสายเปิดเพลงอย่างต่อเนื่องในปาร์ตี้ทั่วทุกมุมโลก ด้วยค่าตัวที่แพงหูฉี่ และค่าตัวที่ได้เธอก็ใช้มันอย่างสบายใจเฉิบ ใช้จนพวกDJเก่งๆตัวจริงในวงการรู้สึกตาร้อนผ่าวไปตามๆกัน
.
แนวคิดในการเป็นDJของเธอนั้นเริ่มมาจากการที่เธอเบื่อหน่ายในการเป็นนักปาร์ตี้แล้ว และเปรยไว้เสมอๆว่าอยากกลับตัวกลับใจช่วยธุรกิจครอบครัว แต่เธอก็ทำไม่ได้เสียที ดังนั้นเธอจึงฝึกการเป็นDJ แล้วเริ่มรับงาน โดยที่ตั้งราคาค่าตัวของเธอไว้แพงหูฉี่ มีคนจ้างเธอก็ไป ไม่มีใครจ้างเธอก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรเท่าไหร่
.
แต่น่าตกใจเมื่อในปาร์ตี้ใหญ่ๆดันมีคนจ้างเธอไปเปิดเพลงอยู่บ่อยครั้ง จะเป็นที่รู้กันดีโดยทั่วกันว่า ปาร์ตี้ไหนที่จ้างเธอไปเป็นDJ มันจะช่วยยกระดับความหรูหราฟู่ฟ่าขึ้นมา และสามารถดึงดูดผู้คนให้มาที่นี่มากมายได้โดยไม่ทราบสาเหตุ จะบอกว่าเธอเปิดเพลงได้ดีมากๆก็คงไม่ใช่ เพราะมักจะทำให้คนในปาร์ตี้เงิบอยู่บ่อยๆ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าคนที่มาปาร์ตี้ในงานที่มีปารีสมาเปิดเพลงนั้นมันเยอะก็เพราะว่าเธอคือ " ปารีส ฮิลตัน " ก็แค่นั้น ไม่มีคำอธิบายใดๆต่อทั้งสิ้น เพราะหากมีคำอธิบายต่อ เขาจะเรียกเธอว่า " ปารีส ฮิลตัน " กันเหรอ จริงมั๊ย
– รอน กัลเลลา ปาปาราซซีระดับตำนานของโลก –
_________________________________
รอน กัลเลลา ช่างภาพชาวอเมริกัน ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพปาปาราซซี่ จนได้รับฉายาว่าเป็น "The Godfather of the U.S. paparazzi culture" จากนิตยสาร TIME และ Vanity Fair เขาเป็นช่างภาพรุ่นเก๋าที่เก็บภาพถ่ายส่วนตัวของนักแสดงชื่อดังและบุคคลสำคัญของโลกมาอย่างยาวนานและมากมาย
.
เกิดในชุมชนอิตาลีในย่านบร็องส์ เคยรับใช้ชาติในฐานะช่างภาพแห่งกองทัพอากาศสหรัฐในช่วงสงครามเกาหลี หลังจบการศึกษาจาก Art Center College of Design ใน Los Angeles, California เมื่อปี 1958 ในช่วงเวลาว่าง กัลเลลามักใช้เวลาไปกับการถ่ายภาพคนดังตามงานเปิดตัวภาพยนตร์และขายภาพเหล่านั้นให้แก่นิตยสารบันเทิง เช่น Enquirer และ Photoplay จนเขาเป็นที่รู้จักจากบรรดาดาราทั้งหลาย เพราะเป็นตัวการสำคัญในการทำลายความเป็นส่วนตัวของเหล่าซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวู๊ด
.
แม้จะถูกมองว่าน่ารังเกียจหรือเป็นตัวป่วนปาร์ตี้ แต่ภาพถ่ายของกัลเลลากลับเป็นที่ต้องการของนิตยสารชั้นนำหลายฉบับ ทั้งจากนิตยสาร Time, Harper's Bazaar, Vogue, Vanity Fair, People, Rolling Stone, The New Yorker, The New York Times และ Life ด้วยผลงานถ่ายภาพคนดังมากมายที่เขามักถ่ายทอดความเป็นส่วนตัวของพวกเขามาขายจนร่ำรวยและตีแผ่ชีวิตส่วนตัวของบุคคลสาธารณะจนมีใครหลายคนที่ไม่ชื่นชอบเขาเอามากๆ
.
แจ๊คการีน เคนเนดี้ โอนาซิส เป็นหนึ่งในผู้หนึ่งที่ไม่ชอบการถูกกัลเลลาลักลอบถ่ายภาพของเธอ (นอกเหนือจากเธอก็ยังมีคนดังอีกหลายคน เช่น เอลวิส เพรสลีย์ มาร์ลอน แบรนโด ฌอน เพนน์ และอลิซซาเบธ เทย์เลอร์ เป็นต้น) มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอไม่รู้ว่าเป็นกัลลาเลตามแอบถ่ายภาพ เธอจึงเผลอยิ้มให้เขาอย่างไม่รู้ตัว ภาพของคุณนายโอนาซิสภาพนั้นถูกกัลเลลาเรียกว่า "รอยยิ้มของโมนาลิซ่า" ซึ่งเขาบอกว่าเป็นภาพโปรดของเขาที่เขาชื่นชอบ เพราะสามารถดักถ่ายคนที่เกลียดเขาได้ด้วยรอยยิ้มและเขายังสามารถนำภาพของเธอไปขายให้นิตยสารได้ด้วย แต่ทั้งนี้ สื่อกลับมองว่าไม่ใช่เพียงแค่กัลเลลาได้รับประโยชน์จากการถ่ายภาพของแจ๊คการีนแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เธอเองก็ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยที่ทำให้เธอยังคงถูกจับจ้องและเป็นที่สนใจ จนมีการพูดว่าในความสัมพันธ์แบบเกลียดๆ ของคนทั้งสอง คลับคล้ายว่าจะเป็นการ "ทำงานร่วมกัน" ไปในตัวเสียมากกว่า
.
ในปี 1972 แจ๊คการีนขอคำสั่งศาลให้กัลเลลาอยู่ห่างตัวเธอ 50 ฟุต ซึ่งศาลสั่งให้เขาอยู่ห่างเธอ 25 ฟุตในภายหลัง ความปั่นป่วนและการถูกรบกวนถ่ายภาพเป็นผลมาจากประสบการณ์อันมากมายของกัลเลลาในการแฝงตัวอย่างแนบเนียนในการไปร่วมงานสำคัญต่างๆ ของบรรดาคนดัง เขามีเคล็ดลับที่เป็นกลเม็ดเด็ดพรายเพื่อให้ได้มาซึ่งรูปที่เขาต้องการ ทั้งการลั่นชัตเตอร์ให้ไวด้วยการวางภาพระยะกว้าง ตาไม่มองผ่านกล้อง แต่ใช้ความรู้สึกจับจ้องแบบ ที่อย่างน้อย เมื่อถูกแบบปฎิเสธไม่ให้ถ่ายภาพ แต่เขาก็ได้กดชัตเตอร์ไปแล้วรูปสองรูปอันถือเป็นกำไรนั่นเอง
.
นอกเหนือจากการใช้กล้อง กัลเลลาแนะนำให้แต่งตัวดีที่สุดอยู่ตลอดเวลาเพราะเราไม่อาจรู้ว่าจะไปเข้างานที่ไหนเมื่อไหร่ อีกคำแนะนำหนึ่งก็คือให้ทำบัตรปลอมเพื่อเข้าร่วมงาน และถ้าทำบัตรเชิญปลอมไม่ได้ ให้หาแผนผังของสถานที่นั้นมา แล้วมองหาห้องครัว ครัวทุกที่จะมีประตูทางออกไปยังถังขยะนอกร้าน ซึ่งเป็นทางเข้าชั้นดีที่ปาปาราซซี่อย่างเขาจะใช้เข้าไปตีเนียนถ่ายภาพคนดังได้ นี่เป็นเพียงเคล็ดลับบางข้อจากปาปาราซซี่มากประสบการณ์จนได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการในด้านนี้เลยทึเดียว
.
การไม่ระวังตัว และการลดสถานะของบุคคลสำคัญให้มาอยู่ในระดับเดียวกันกับผู้ชมของกัลเลลา ทำให้เขาเป็นช่างภาพคนโปรดของแอนดี้ วอร์ฮอล ศิลปินชื่อดังกล่าวชื่นชมผลงานของกัลเลลาว่า "ในความคิดของผม ภาพถ่ายที่ดีต้องจับภาพคนดังที่กำลังทำในสิ่งน่ารังเกียจ แบบถูกที่ถูกเวลา ดังนั้น รอน กัลเลลา จึงเป็นช่างภาพที่ผมโปรดปรานเป็นที่สุด"
กับมาร์ลอน แบรนโด กัลลาเลสวมหมวกอเมริกันฟุตบอลประชดแบรนโดเพื่อไม่ให้ดาราหนุ่มคนนี้ทำร้ายเขา