10 เรื่องเล่าสุดสะพรึงของย่านดังเมืองบางกอก
พระโขนงมาจากภายในซอยวัดมหาบุศย์ พระโขนง อันเป็นจุดเริ่มของความน่ากลัวที่มาจากตำนานของแม่นาคพระโขนง หรือ “นางนาค” (บ้างก็เขียนว่า “นาก” )หญิงสาวในหมู่บ้านย่านพระโขนงที่ตายไปจากการคลอดลูก (ทารกไม่กลับหัว) เลยกลายเป็นผีตายทั้งกลมที่เลื่องชื่อลือชาในความน่ากลัวและเฮี้ยนสุดๆ ซึ่งคนไทยเรารู้จักเรื่องราวหรือตำนานนี้กันเป็นอย่างดี สันนิษฐานกันว่าเรื่องของนางนาคเกิดขึ้นจริงในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนผู้ที่มายุติการอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวไปทั่วของนากนาคก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จโต (วัดระฆัง) ได้มาช่วยเหลือจนเหตุการณ์ผ่านพ้นไปด้วยดี ปัจจุบัน “ศาลแม่นาคหรือย่านาค” ตั้งอยู่ที่วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ทุกวันนี้ยังคงมีผู้คนมากมายหลั่งไหลไปเยือนและไหว้ขอพรขอโชคลาภจากย่านาคในนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว
ประตูผี
ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 1 ศูนย์รวมของชุมชนบ้านเรือนผู้คนจะอยู่ภายในกำแพงเมือง ส่วนด้านนอกกำแพงจะมีการทำนาหรือการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ภายในกำแพงเมืองนี้ถือธรรมเนียมกันว่าหากมีคนเสียชีวิต จะต้องขนเอาศพออกไปเผาด้านนอกกำแพง และทางออกที่ใช้ขนศพออกไปคือ ประตูทางทิศตะวันออกของเมือง ซึ่งเมื่อระบุตำแหน่งก็คือบริเวณใกล้สี่แยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบันนั่นเอง ประตูนี้จึงถูกเรียกขานกันว่า “ประตูผี” โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโรคระบาดในพระนคร และเมืองใกล้เคียงในสมัยรัชกาลที่ 2 ด้วยโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดไปทั่วทำให้มีคนตายหลายหมื่นคน ศพจำนวนมากถูกลำเลียงผ่านประตูผีไปยังวัดสระเกศซึ่งอยู่ติดๆ กัน ว่ากันว่าศพมีมากมายจนกองพะเนินเพราะวัดไม่สามารถเผาหรือฝังได้ทัน จึงต้องขุดหลุมขนาดใหญ่แล้วฝังศพลงไปในหลุมเดียวกันคราวละมากๆ แต่จำนวนศพที่มากเกินไปทำให้ฝูงแร้งแห่กันมาจิกกินซากศพเป็นอาหาร ครั้นมาสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ก็เกิดโรคระบาดซ้ำขึ้นอีก วัดสระเกศก็ยังคงประสบปัญหาเผาศพไม่ทันเหมือนเดิม ทำให้กลายเป็นแหล่งหากินของฝูงแร้งที่มาจิกกินซากศพ จนมีคำเรียกว่า “แร้งวัดสระเกศ” เกิดขึ้นในช่วงนั้นเอง ปัจจุบันไม่มีประตูผีให้เห็นกันแล้ว อันเนื่องมาจากการตัดถนนบำรุงเมืองผ่านประตูผี และมีการรื้อถอนกำแพงเมืองพร้อมประตูออกไป ประตูผีจึงเหลือแต่ชื่อไว้ให้ระลึกถึง แม้ว่าภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเรียกจากเดิมว่าย่าน “ประตูผี” มาเป็น “สำราญราษฎร์” เพื่อเป็นสิริมงคลแล้วก็ตาม แต่ชื่อประตูผีก็ยังคงเป็นชื่อเรียกติดปากผู้คนจนถึงวันนี้ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านของกินอร่อยที่เต็มไปด้วยร้านดังอาทิ ร้านขายผัดไทย หอยทอด ข้าวต้มเป็ด ที่ทุกค่ำคืนจะมีคนมายืนรอคิวซื้อกันอย่างคึกคักไม่เหลือความวังเวงน่ากลัวให้เห็นอีกแล้ว
พลับพลาชัย (วัดพลับพลาชัย)
ย่านป้อมปราบศัตรูพ่ายมีวัดๆ หนึ่งชื่อว่า “วัดพลับพลาชัย” ตั้งอยู่หลังวัดเทพศิรินทร์ ภายในมีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่วัด แต่เดิมวัดพลับพลาชัยมีชื่อเรียกว่า “วัดโคก หรือ วัดโคกอีแร้ง” เดิมทีวัดนี้เป็นที่ประหารนักโทษ (เหมือนกับวัดสระเกศ ศพที่ประหารแล้วจะถูกส่งออกมาด้านหลังวัดสระเกศ บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า ประตูผี อย่างที่บอกนั่นแหละ) พอประหารเสร็จบางครั้งทางวัดก็ปล่อยให้อีแร้งมากินศพที่ถูกประหาร บริเวณนั้นจึงมีอีแร้งชุกชุม ชาวบ้านเลยเรียกติดปากกันว่า “วัดโคกอีแร้ง” ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็มีการสร้างถนน และบางครั้งก็มีการขุดถนนแถวห้าแยกพลับพลาชัยเพื่อซ่อมแซม แต่เมื่อขุดลงไปทีไรก็จะต้องเจอโครงกระดูกอยู่ใต้ดินเต็มไปหมดทุกคราวไป ต่อมา รัชกาลที่ 6 ตั้งกองเสือป่ารักษาดินแดนขึ้น ได้มีการซ้อมรบ พระองค์ได้มาตั้งพลับพลาเสือป่าขึ้นที่วัดโคกอีแร้งนี้ กาลต่อมาวัดจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดพลับพลาชัย” เรื่องราวสยองขวัญของวิญญาณคนตายที่วัดนี้มีเล่าขานกันอยู่เนืองๆ ทั่วทั้งบริเวณวัด และในโรงเรียนวัดพลับพลาชัยด้วย เคยมีเด็กนักเรียนพบเจอสิ่งแปลกๆ อยู่บ่อยครั้ง จนมาถึงยุคนี้เรื่องราวในอดีตก็ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมๆ กับกิตติศัพท์ความเฮี้ยนที่เคยมีก็ไม่ค่อยได้ยินอีกแล้ว
(ภาพประกอบจากหนังสือ “หญิงชาวสยาม” โดย อเนก นาวิกมูล)
เสาชิงช้า
เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ใน “พระราชพิธีตรียัมปวายของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู” ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวรารามและลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ลานคนเมือง) ใกล้กับเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้านี้ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองบางกอก ส่วนวีธีเล่นนั้นหวาดเสียวมาก เริ่มจากผู้ที่จะโล้ชิงช้าจะต้องขึ้นชิงช้าทีละ 4 คน (โล้ 3 กระดาน รวมเป็น 12 คน) โดยชิงช้าจะมีเชือกที่ถือยึดไว้แน่นทั้งสี่ด้าน สองคนหันหน้าเข้าหากัน พนมมืออยู่กลางกระดาน อีกสองคนอยู่หัวท้ายจับเชือกไว้แล้วถีบโล้ชิงช้าเพื่อฉวยเงินรางวัล 1 ตำลึง โดยคนที่อยู่หัวกระดานจะเป็นคนฉวย ซึ่งเงินรางวัลนั้นผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงที่ปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกไประยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ คนดูที่อยู่ข้างล่างก็จะส่งเสียงเชียร์กันอย่างสนุกสนาน การโล้ชิงช้าสำคัญอยู่ที่คนท้ายคือจะต้องเล่นตลก เช่นว่าพอคนหน้ากำลังจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะต้องแกล้งทำกระดานโล้เบี่ยงออกไปหรือโล้จนเลยถุงเงินไปบ้างเพื่อเรียกเสียงฮาจากคนดู แต่นั่นก็ทำให้พราหมณ์ผู้โล้ชิงช้าต้องตกลงมาตายทุกปีอย่างน่าสยดสยอง แต่พวกเขากลับถือว่าได้บุญจึงมีคนอาสาขึ้นโล้(และตกลงมาตาย) ทุกปี แม้ต่อมาจะทอนเสาให้สั้นลงแต่ก็ยังมีพราหมณ์ตกลงมาตายอีกอยู่ดี ในที่สุดจึงต้องยกเลิกพิธีนี้ไป ต่อมาก็มีเรื่องเล่าปากต่อปากเรื่องของวิญญาณคนโล้ที่ตกลงมาตาย ทำนองว่าใครที่โล้ชิงช้าแล้วตกลงมาจะถูก “ฝัง” ไว้ที่ใต้ชิงช้านั้น วิญญาณจึงวนเวียนไม่ไปไหน….เรื่องเล่าลือนี้แท้แล้วไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด น่าจะเป็นความเข้าใจผิดที่ติดมาจากพิธีฝังหลักเมืองมากกว่า พิธีโล้ชิงช้าได้เลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 นี่เอง
สนามหลวง
เดิมทีเรียกกันว่า “ทุ่งนาวัดมหาธาตุ” ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีการทำนาในพื้นที่นี้ ต่อมาถูกเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ”เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ สนามหลวงหรือทุ่งพระสุเมรุ สร้างขึ้นมาพร้อมกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ จนเมื่อ พ.ศ.2398 รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจากทุ่งพระเมรุ เป็น “ท้องสนามหลวง” ส่วนต้นมะขามที่เห็นอยู่รายรอบสนามหลวงนั้นเริ่มปลูกในสมัยรัชกาลที่ 5 สนามหลวงมีเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา อันเป็นเหตุจลาจลและปราบปรามนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และที่ท้องสนามหลวง โดยมีการชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดที่ตอนนั้นเรียกกันว่า “ทรราช” เป็นเหตุให้กลุ่มการเมืองอีกฝ่ายที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ฉวยโอกาสก่อรัฐประหารและล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน(ตัวเลขจริงคาดว่าสูงกว่านี้) ซึ่งมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี ถูกทำให้พิการ และถูกเผา ในเหตุการณ์ครั้งนั้นสนามหลวงแปรสภาพเป็นลานประหารและทรมานนักศึกษา หลายคนถูกรุมทำร้ายถูกทุบตีจนเสียชีวิต จากนั้นมีการแขวนคอศพผู้เสียชีวิตไว้กับต้นมะขามริมสนามหลวงแล้วกระทำต่อร่างไร้ชีวิตนั้นอย่างหฤโหดเกินบรรยาย บ้างก็มีการนำศพและผู้ที่บาดเจ็บสาหัส (ยังมีลมหายใจ) มาเผาสดๆ ด้วยยางรถยนต์ที่สนามหลวง นิตยสารไทม์ กล่าวถึงเหตุการณ์น่าสยดสยองและสังเวชใจครั้งนั้นว่าเป็น “ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา” นับเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่ชวนสลดหดหู่ และอัปยศที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารโหดครั้งนั้นยังไม่ได้รับโทษ และหลายคนยังมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้!
สัมพันธวงศ์ (วัดปทุมคงคา)
เป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาถูกทิ้งจนเป็นวัดร้างที่ห่างไกลผู้คน ทั้งวังเวงรกชัฏน่ากลัว ในเวลาต่อมาได้ใช้เป็นลานประหารบรรดาเชื้อพระวงศ์หลายๆ พระองค์ คนสำคัญได้แก่ เจ้าฟ้าเหม็น หรือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก) มีพระมารดาคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ (พระราชธิดารัชกาลที่1) เหตุการณ์สุดสะพรึงในอดีตเริ่มจากที่พระเจ้าตากโดนสำเร็จโทษ ทายาทพระเจ้าตากจึงถูกจับมาสำเร็จโทษด้วยหลายพระองค์ แต่เจ้าฟ้าเหม็นกลับรอดมาได้เพราะเป็นหลานคนโปรดของเสด็จตา (ร.1) ครั้นเมื่อ ร.1 สวรรคตได้ไม่กี่วัน เจ้าฟ้าเหม็นก็ถูกใส่ความว่าเป็นกบฏ รัชกาลที่ 2 จึงสั่งประหารท่านพร้อมขุนนางหลายคนที่เกี่ยวข้อง และยังประหารเจ้าจอมมารดาสำลีวรรณ ซึ่งเป็นพระชายาวังหน้า( เป็นชายาของพระเชษฐาในรัชกาลที่ 2) ด้วยเหตุที่เจ้าจอมเป็นน้องสาวของเจ้าฟ้าเหม็น ครั้งนั้นเจ้าฟ้าเหม็นถูกประหารด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคานี้เอง ส่วนพระโอรสของเจ้าฟ้าเหม็น 6 พระองค์โดนจับถ่วงน้ำที่ปากน้ำเจ้าพระยา ต่อมาในสมัยรัชกาล 3 ก็ยังคงใช้วัดปทุมคงคาเป็นลานประหารชนชั้นสูงอยู่ โดยรายสุดท้ายที่ใช้วัดนี้เป็นลานประหารคือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือ หม่อมไกรสร (พระราชโอรสในพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว)ในโทษฐานกบฏ ซึ่งถือเป็นเจ้านายองค์สุดท้ายที่โดนประหารด้วยท่อนจันทน์ เรื่องเล่าสยองขวัญของวัดนี้ยังมีเรื่องของ “ต้นอโศกผีสิง” ซึ่งเมื่อก่อนในวัดมีต้นอโศกอายุร้อยปีตั้งตระหง่านอยู่ภายในวัด ชาวบ้านย่านนั้นเล่าลือว่ามีวิญญาณมาปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในหลายรูปแบบแล้วมักจะหายวับเข้าไปในต้นอโศก เรียกว่าเฮี้ยนหนักจนชาวบ้านหวาดกลัวไม่กล้าเข้าวัด จึงถูกตัดโค่นทิ้งในปีพ.ศ.2495 เรื่องราวทั้งหมดจึงเงียบลงได้ จะว่าเป็นความสบายใจคลายระแวงของผู้คน ข่าวลือน่ากลัวนั้นจึงยุติลงก็น่าจะใช่
บางขุนนนท์ (วัดสุวรรณาราม)
มาทางฝั่งธนบุรีกันบ้าง ย่านบางขุนนนท์มีวัดเก่าแก่ชื่อว่า “วัดสุวรรณาราม” ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย เรื่องราวเล่าขานมากมายเหตุเพราะวัดสุวรรณารามเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และเมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี บริเวณวัดแห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็น “ลานประหารชีวิตเชลยพม่าโดยการตัดคอ” จึงมีเรื่องเล่ากันว่า มีคนเคยเห็นร่างของผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่นุ่งผ้าโจงกระเบนแต่ไม่มีหัวมายืนอยู่ให้เห็นบ่อยๆ ส่วนสถานที่ที่นำศพเหล่านั้นมาฝังไว้ก็คือ บริเวณที่เป็นสนามของโรงเรียนวัดสุวรรณาราม และบริเวณลานวัดสุวรรณารามในปัจจุบัน เหตุที่เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ฝังศพก็เนื่องจากว่า เมื่อครั้งที่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่บริเวณนี้ ได้มีการพบโครงกระดูกคนอยู่มากมาย ชาวบ้านในย่านวัดนี้เล่าว่า มีคนเคยขุดพบกระดูกท่อนขาหรือท่อนแขนก็ไม่แน่ใจนัก แต่ก็มีกำไลทองคล้องอยู่ ซึ่งแสดงว่าเจ้าของกำไลนั้นน่าจะเป็นทหารพม่าระดับนายกองชั้นผู้ใหญ่พอควร คนที่ขุดเจอกำไลก็เอาไปขายนำเงินมาซื้ออาหารให้ภรรยาที่กำลังตั้งท้อง แต่คืนนั้นกลับฝันเห็นทหารพม่ามาบีบคอทวงกำไลคืน และภรรยาก็เสียชีวิตแบบตายทั้งกลม ต่อมาจึงมีการตั้งศาลเพียงตาไว้ที่บริเวณโรงเรียนวัดสุวรรณารามแห่งนี้ ซึ่งหากใครที่มาไหว้ศาลแห่งนี้ แล้วมองเข้าไปด้านในศาลก็จะเห็นภาพวาดเป็นรูปนายกองทหารพม่าไว้สามรูป แทนที่จะมีเจว็ดอยู่ด้านในแบบศาลพระภูมิทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการระลึกถึงดวงวิญญาณทหารพม่าที่เสียชีวิตในอดีต ส่วนด้านหน้าศาลก็มีปิรามิดเล็กๆ ตั้งไว้ ด้วยความเชื่อที่ว่า สถานที่ใดที่มีความอาถรรพ์มากๆ ก็จะใช้ปิรามิดสะท้อนสิ่งอาถรรพ์เหล่านั้นออกไปนั่นเอง
คลองบางกอกน้อย
เรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับ “คลองบางกอกน้อย” มีอยู่ในบทเพลงลูกทุ่งอมตะของปรมาจารย์เพลงลูกทุ่ง “ชัยชนะ บุญนะโชติ” ที่ต่อมา ศรเพชร ศรสุพรรณ และ นิค นิรนาม เอามาร้องใหม่จนเพลงนี้โด่งดังอีกครั้ง ในเนื้อเพลงเล่าถึงตำนานบัวลอย ที่ปัจจุบันคนรุ่นหลังๆ ไม่มีใครค่อยรู้ที่มาที่ไปของตำนานนี้แล้ว จะมีก็แต่ผู้เฒ่าคนรุ่นเก่าๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่และเป็นคนพื้นเพบางกอกน้อยจริงๆ ที่ยังจดจำเรื่องราวได้ดี ท่อนหนึ่งของบทเพลงบรรยายไว้ว่า
สุดคลองบางกอกน้อย พายเรือตามหาบัวลอย จนเหงื่อพี่ย้อย โทรมกาย
ปากพี่ตะโกนกู่ถึงยอดชู้ เพื่อนร่วมกาย ไม่รู้ว่าเจ้าจมหาย ลอยไปแห่งใดเล่าหนา
ใจพี่แทบขาดแล้ว มือคงยังจ้ำยังแจว ตามหานางแก้ว ดวงตา ศพน้องเจ้าลอยล่อง
อยู่ใต้ท้องสุธารา หรือว่าลอยออกนอกเจ้าพระยา จึงค้นหาไม่พบศพบัวลอย……
ตำนานบัวลอย มีอยู่ว่าหญิงตั้งท้องนางหนึ่งต้องการจะช่วยแบ่งเบาภาระสามีด้วยการทำขนมขาย เพราะมีฝีมือในการทำขนม แม้สามีจะห้ามปรามอย่างไรเธอก็ไม่ฟัง ครั้นพอสามีไปทำงาน หญิงสาวท้องโย้ก็จะแอบทำขนมบัวลอยใส่เรือแล้วพายไปขายในคลองบางกอกน้อย จนชาวบ้านย่านสองฝั่งคลองติดอกติดใจในรสชาติ เวลาใครจะซื้อก็จะตะโกนเรียก “บัวลอยจ๋า..บัวลอยมาทางนี้หน่อย” ชาวบ้านจึงเรียกชื่อแม่ค้าสาวติดปากกันว่า “บัวลอย” แต่วันหนึ่งก็เกิดเรื่องขึ้น เมื่อสามีกลับจากทำงานไม่เห็นเมียสุดที่รัก จึงพายเรือออกตามหา แต่กลับไม่พบแม้แต่เรือของเธอ หลายวันต่อมาจึงมีคนพบศพเธอลอยไปติดอยู่ที่ท่าน้ำของวัดในคลองบางกอกน้อย ร่างของเธอถูกนำขึ้นมาทำพิธีทางศาสนาและด้วยความเชื่อของคน ไทยที่ว่า ถ้าตายท้องกลม วิญญาณจะเฮี้ยนมากจึงไม่มีการเผาแต่ฝั่งศพหญิงสาวบังลอยเอาไว้ริมคลองบางกอกน้อยนั่นเอง และตามสูตรของคนไทย อะไรเฮี้ยน อะไรที่ลึกลับเหนือธรรมชาติจะมีคนแห่มาขอหวย ความเฮี้ยนของแม่บัวลอยทำให้คนถูกหวยกันมาก เลยโด่งดังไปทั่วผู้คนพากันมาขอหวยบัวลอยกันยกใหญ่ แต่แล้วเช้าวันหนี่งหลุมศพของบัวลอยก็มีร่องรอยถูกขุดและศพหายไป คาดกันว่าเจ้ามือหวยอาจจะจ้างคนมาขุดศพเอาไปเผาทิ้งและสะกดวิญญาณไว้ หลังจากนั้นตำนานบัวลอยก็ค่อยๆ ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงเรื่องเล่าขานต่อๆ กันมาเป็นตำนานหนึ่งที่โด่งดังมากในอดีตจนครูเพลงลูกทุ่งนำมาเขียนเป็นบทเพลงไพเราะจับใจ กลายเป็นเพลงดังอมตะมาจนทุกวันนี้
นางเลิ้ง
สมัยก่อนบริเวณนางเลิ้งในปัจจุบันยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ชาวบ้านเรียกย่านนี้ว่า “ทุ่งส้มป่อย” สาเหตุเพราะมีต้นส้มป่อยขึ้นดกดื่น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นเป็นคลองคูพระนครชั้นนอก ทุ่งส้มป่อยจึงได้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของชาวบ้านทั่วไปมากขึ้น หลังจากนั้นทุ่งรกร้างแห่งนี้ก็เริ่มมีผู้คนขยับขยายเข้ามาตั้งรกรากบ้านเรือน มีทั้งชาวญวนและชาวมอญ ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองด้านเหนือ ต่อมาจึงร่วมกันสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นมาชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดญวนสะพานขาว” ส่วนฝั่งตรงข้ามที่มีต้นส้มป่อยขึ้นดกดื่นนั้น มีชาวมอญอพยพมาปลูกบ้านช่องอยู่กันหนาแน่นจนกลายเป็นชุมชนมอญ และยึดอาชีพขายตุ่มดิน สมัยนั้นคนเรียกตุ่มดินขนาดใหญ่นี้ว่า “อีเลิ้ง” หรือ “ตุ่มอีเลิ้ง” เรียกกันจนติดปาก จากชื่อทุ่งส้มป่อยเลยกลายเป็น “บ้านอีเลิ้ง” ชุมชนที่คึกคักไปด้วยการค้าขาย ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเรียกให้สุภาพจาก อีเลิ้ง จึงกลายเป็น “นางเลิ้ง” ไป ส่วนย่านนางเลิ้งฝั่งใต้ ก็มีวัดอยู่อีก 2 วัด คือ “วัดแคนางเลิ้ง” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ ส่วนอีกวัดหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคือ วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอารามหลวงริมคูคลอง ต่อมาในปี 2472 มีคนลอบวางเพลิงตลาดนางเลิ้ง จนบ้านเรือนวอดวายกลายเป็นเถ้าถ่านไปเกือบ 100 หลังคาเรือน มีคนถูกไฟคลอกตายไปหลายศพ ว่ากันว่าวิญญาณคนตายเฮี้ยนนัก พอตกค่ำหน่อยย่านนี้จึงเงียบสนิท แม้จะมีการสร้างตลาดขึ้นใหม่ แต่ตอนดึกก็ยังมีคนได้ยินเสียงร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด เล่นเอาขนลุกขนพองไปตามๆ กัน ไม่เพียงเท่านั้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดมีระเบิดมาลงตลาดนางเลิ้งแห่งนี้จนราบเป็นหน้ากลองไปอีกรอบ ผู้คนทั้งเจ็บทั้งตายไปจำนวนมากกว่าตอนไฟไหม้เสียอีก ฝั่งวัดแคกับวัดโสมนัส ก็ใช่ย่อยลือกันว่า ผีดุสุดๆ ทั้งคนในพื้นที่และคนจรล้วนโดนหลอกกระเจิงมาหลายรายแล้ว โดยเฉพาะต้นตาลหน้าวัดโสมนัสฯ ที่สมัยนั้นปลูกไว้เป็นทิวแถว พอตกกลางคืนเล่ากันว่า มีวิญญาณขึ้นไปนั่งห้อยขาหลอกหลอนผู้คนอยู่บนนั้น (ต้นตาลไม่น่ามีกิ่งให้นั่งได้นะ?) บ้างก็ว่าเห็นเปรตหน้าวัดโสมฯ กันเป็นประจำ….เรื่องของเปรตกับต้นตาลนี่หนีกันไม่พ้นจริงๆ
เพชรบุรีตัดใหม่
เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในคืนวันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2533 ถือเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ของกรุงเทพฯ เหตุการณ์นั้นมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เป็นข่าวอุบัติเหตุที่ครึกโครมที่สุดในสมัยนั้น เปลวไฟรุนแรงจากแก๊สที่กระจายอยู่ทั่วลุกลามอย่างรวดเร็วและคลอกผู้คนที่ติดอยู่ในรถยนต์ซึ่งกำลังติดไฟแดงอยู่ ณ บริเวณนั้น หลายรายเสียชีวิตทันทีอย่างที่ไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ บางรายก็เสียชีวิตในรถเนื่องจากสำลักควัน บางคนที่สามารถหนีออกมาได้ ก็อยู่ในสภาพที่บาดเจ็บสาหัส เนื้อตัวเป็นแผลพุผองจากเปลวไฟ ขณะเดียวกันถังแก๊สอีกถังที่ยังติดอยู่กับตัวรถก็เกิดระเบิดซ้ำอีกครั้ง ทำให้ตึกแถวสองฟากถนนเกิดไฟลุกท่วม ลุกลามไปใหญ่โตจนเกิดเป็นลูกไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสีแดงฉาน ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนบริเวณนั้นและละแวกใกล้เคียงต่างพากันหนีเอาชีวิตรอด มีการระดมตำรวจดับเพลิงมาจากทุกสารทิศก็ยังไม่อาจดับไฟที่ลุกลามได้จนข้ามวัน เพลิงนรกนั้นมาสงบเอาในเวลา 22.00 น. ของคืนวันถัดมา!
ศาลฎีกาบรรยายเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ในคำพิพากษาว่า “…เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายสุทัน ฝักแคเล็ก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุลงจากทางด่วนมาที่ถนนเพชรบุรีด้วยความเร็วเพื่อเร่งให้พ้นสัญญาไฟจราจรที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสัญญาไฟแดง นายสุทันเลี้ยวรถไปทางด้านขวามุ่งหน้าจะไปสี่แยกมักกะสัน แต่รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุพลิกตะแคงครูดไปกับพื้นถนนจนถึงหน้าอาคารหอพักริมถนนเพชรบุรี ถังบรรจุก๊าซสองถังหลุดออกจากตัวรถ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ที่บรรทุกมารั่วแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้าง แล้วระเบิดเกิดเพลิงลุกไหม้ นายสุทันถึงแก่ความตายในรถ เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือนในชุมชนแออัดซึ่งอยู่ด้านซ้ายของถนนเพชรบุรีเสียหาย ไหม้ตึกแถวด้านซ้ายและขวาของถนนเพชรบุรีจำนวน 51 ห้อง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ในถนนเพชรบุรีตั้งแต่แยกทางด่วนถึงแยกถนนวิทยุเสียหายประมาณ 67 คัน และจากเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตาย 80 คน ได้รับอันตรายสาหัส 24 คน ได้รับอันตรายแก่กาย 12 คน ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 214,926,282 บาท…” ครั้งนั้นได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัทแก๊สสยาม และกระแสสังคมที่เกิดขึ้นส่งแรงผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการดูแลรถบรรทุกแก๊สอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น แม้จะดูเหมือนวัวหายล้อมคอกก็ตาม ต่อมาอุบัติเหตุครั้งนั้นได้ถูกหยิบยกมาเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “คนเห็นผี” ของ ออกไซด์ แปง ในปี พ.ศ.2545 ด้วย ส่วนเรื่องราวสุดหลอนอันลือลั่นและกล่าวขวัญกันไปทั่ว เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เพียงไม่กี่วัน เมื่อมีคนขับแท็กซี่หลายรายเจอผู้หญิงขากะเผลกเรียกรถจากบริเวณประตูน้ำ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ให้ไปส่งแถววัดอรุณฯ โดยใช้เส้นทางสะพานซังฮี้ พอขึ้นรถได้ครู่หนึ่งก็บอกให้ไปหน้าโรงพยาบาลหัวเฉียวก่อน จากนั้นไม่นานก็ให้ย้อนกลับไปทางบ้านพักรถไฟมักกะสัน แต่เธอจะลงกลางทางก่อนทุกครั้งพร้อมยื่นแบงค์กงเต๊กให้คนขับแท็กซี่เหมือนกันทุกคันไป จนกลายเป็นเรื่องเล่าสยองขวัญออกรายการวิทยุชื่อดัง แล้วปรากฎว่าแท็กซี่ทั้ง 5 คันที่ประสบเหตุก็เล่าเหมือนกันหมด ซึ่งเรื่องมาเปิดเผยเมื่อแฟนหนุ่มของหญิงสาวคนนี้ทราบเรื่องวิญญาณเธอวนเวียนเรียกแท็กซี่ (เหตุการณ์นี้เล่าในหมู่รถแท็กซี่ต่อมาอีกหลายเดือนและออกอากาศทางสถานีวิทยุ) ความจริงแล้วฝ่ายชายไปส่งฝ่ายหญิงลงรถที่ประตูน้ำ แล้วผู้ชายขับรถออกไปตามถ.เพชรบุรีตัดใหม่มุ่งหน้ามักกะสัน ซึ่งฝ่ายหญิงเห็นว่ามีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นในเส้นทางที่แฟนเธอขับรถไป เธอจึงเรียกแท็กซี่ไปตามหาแฟนที่นั่น ทำให้เธอเสียชีวิตในคราวนั้นด้วย แต่แฟนเธอไม่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เธอเข้าใจผิดไปตามหาแฟนจนตัวเองต้องจบชีวิตโดยไม่รู้ตัว ทำให้วิญญาณ “ตายโหง” วนเวียนทำสิ่งเดิมซ้ำๆ กลายเป็นเรื่องสุดสะพรึงที่น่าเศร้า และน่าเห็นใจทั้งคู่มากๆ