Movie Style : Thailand
มันยังอาจจะเร็วเกินไปเสียหน่อยที่จะกล่าวว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยแชมป์ของปีนี้ เพราะนี่ก็พึงผ่านมายังไม่ถึงครึ่งปีเลยด้วยซ้ำ หนังยาวลำดับที่สี่ของผู้กำกับ "บุญส่ง นาคภู่" นี้น่าจะเป็นหนังที่สะท้อนออกมาชัดเจนว่าผู้กำกับเองสามารถหาจุดที่ลงตัวที่สุดของตัวเองได้มากขึ้นแล้ว หรืออย่างน้อยก็หาหนทางของความเป็นตัวเองได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น มันมีความพอดีของการเล่าเรื่องมากกว่าหนังเรื่องไหนๆที่เขาเคยทำมา แต่ถึงอย่างไรก็ดี เรายังพบปัญหาในเรื่องของการสร้างไดอะล็อกที่มีความประหลาดๆในหลายๆครั้งของหนังเขา ซึ่งเกิดขึ้นในทุกเรื่องของเขา เพียงแต่อย่างใน "วังพิกุล" หนังขาวดำเรื่องก่อนหน้านี้ของเขา เราสังเกตออกมาได้ค่อนข้างน้อยกว่า เพราะว่าหนังมีดนตรีช่วยกลบ และเกลาความต่อเนื่องให้กับตัวหนัง แต่พอมันไม่มีเหมือนหนังอีกสองเรื่องที่เขาทำ มันก็เลยให้จังหวะที่โดดๆประหลาดๆออกจากตัวหนัง และพอมันยิ่งเป็นประโยคที่สั่งสอนคนดูมันเลยสร้างความรู้สึกที่ค่อนข้างผิดแปลก ดูจงใจประดิษฐ์ ซึ่งมันแตกต่างจากภาพรวมของหนังที่ให้อารมณ์ความรู้สึกของความสมจริงที่มันค่อนข้างมากกว่า อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งหลังของหนังหนังก็ประสบความสำเร็จในการดึงเราเข้าสู่บรรยากาศของเรื่องราวได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าในหนังเรื่องนี่มันจะมีความเป็นหนังของ "บุญส่ง" อยู่ค่อนข้างมาก แต่เราก็เห็นลักษณะหลายๆอย่างที่มีในหนังเรื่องนี้ และมันทำให้หนังเรื่องนี้สร้างความโดดเด่นได้ดีกว่าหนังเรื่องไหนๆของเขา
ความเหมือนกันในหนังแทบทุกเรื่องของเขา แต่หนังเรื่องนี้เราจะเห็นได้อย่างค่อนข้างชัดเจนมากที่สุดคือ การที่หนังเรื่องนี้ทำหน้าที่ในการนำเสนอภาพของความเป็นไปที่เกิดขึ้น มากกว่าที่จะทำหน้าที่ในการบอกกล่าวคนดูอย่างตรงไปตรงมา แต่หนังกับใช้วิธีกค่อยๆเผยเรื่องราวออกมาทีละนิดที่มันค่อยๆสะท้อนความหมาย และความเป็นไปที่เกิดขึ้นในการสื่อสารของหนังเรื่องนี้ ท่าทีที่สำรวม ซึ่งเราอาจพูดได้ในอีกทางหนึ่งว่ามันมีท่าทีที่เย่อหยิ่งของตัวหนังเรื่องนี้ ที่ทำหน้าที่เพียงการเดินเรื่องไปข้างหน้าให้เห็นความเป็นไปของเรื่องราว และตัวเราเองทำหน้าที่ในการที่จะต้องปะติดประต่อ และวิเคราะห์ความหมายที่เกิดขึ้นในเรื่องราวที่หนังค่อยๆเดินไปข้างหน้า ซึ่งก็ถือเป็นลักษณะที่เด่นอย่างหนึ่งในหนังของผู้กำกับ เราเห็นชัดเจนเลยว่าวิถีของหนังมันประพฤติตัวในลักษณะนั้นจริงๆ เอกลักษณ์และความโดดเด่นอย่างหนึ่งในหนังเรื่องนี้ก็คือ การที่มันใช้บรรยากาศของป่า เขา ถ้า น้ำ และเรื่องราวของความศรัทธาในศาสนาพุทธ เรื่องเหนือธรรมชาติ ความจริงแล้วสัดส่วนในหนังเรื่องนี้มันมีความคล้ายคลึงกับหนังของ "อภิชาตพงศ์" อยู่ในหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนเรื่องของจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นในหนัง เรื่องราวของผี ความฝัน และเรื่องเหนือจริงต่างๆที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ ซึ่งมันสามารถสะท้อนความเชื่อมโยงของภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันออกมาได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มีทีท่าแบบนี้ตลอดทั้งเรื่อง ส่วนใหญ่หนังจะให้น้ำหนักแบบนี้ในตอนช่วงครึ่งท้ายเสียมากกว่า ซึ่งมันประสบความสำเร็จในการดึงเราเข้าหาตัวหนังอย่างสมบูรณ์
ในตอนแรกนั้นความพยายามของหนังในการดึงเรื่องราวเข้าสู่ส่วนของเรื่องราวที่เป็นเรื่องของการบวชพระ และการค้นหาความหมายของชีวิต การจัดการกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในจิตใจ หนังมีท่าทีที่ค่อนข้างรวบรัด และรีบเร่งค่อนข้างมาก บทสนทนาหลายครั้งมีไว้เพียงเพื่อเป็นป้ายบอกทางให้หนังดำเนินไปในส่วนใดเท่านั้น แต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่ในการขับกล่อมเรื่องราว และสะท้อนมีติทั้งต่อตัวเรื่อง และความเป็นไปของเรื่องราวมากนัก มันจึงมีความไม่จริงค่อนข้างมาก และมันขัดกับตัวหนังค่อนข้างแรก ก่อนที่หนังจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ท่าทีที่สงบ และนิ่งอย่างมากจนสามารถดึงคนดูเข้าสู่ตัวหนังได้ในช่วงหลังจากบวชพระไปแล้วดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ การพูดถึงความหมายในการตีความในหนังเรื่องนี้ และอย่างมากในช่วงที่เป็นพระแล้วนั้นไม่ได้ซับซ้อนมากมากนัก การเข้าถึงของหนังยังอยู่ในระดับที่ง่ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของจิตใจของตัวละครที่เหมือนกับเดินเตร็ดเตร่ไปเพื่อค้นหาทางออกให้กับชีวิตของตัวเอง เรื่องราวที่ประดังเข้ามาในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งในเรื่องของลูก มีความเชื่อบางอย่างว่าในช่วงเวลาที่ใจเราสงบนิ่งมากขึ้น หรือใกล้ตายนั้นเป็นช่วงที่เราจะสื่อสารได้กลับวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว รวมไปถึงบาดแผลในอดีตของตัวเอง และตัวละครในหนังเรื่องนี้ก็กำลังก้าวผ่านอดีตที่แสนเจ็บปวดทั้งหลายนั้น
การผสมผสานระหว่างความเหนือจริง และความจริงในหนังเรื่องนี้มีทีท่าที่โดดเด่นมากขึ้นเมื่อตัวละครเริ่มเข้าสู่กรรมฐาน ความสงบนิ่งเงียบของหนังเร้าด้วยเสียงของป่า เขา และน้ำ สะท้อนภาวะของจิตใจของตัวมนุษย์ได้อย่างชัดเจนในอีกทางหนึ่ง ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เรานึกถึงหนังของ "อภิชาตพงศ์" ที่ชอบหยิบประเด็นตรงส่วนนี้มา แต่หนังเรื่องนี้ยังไม่เปิดเผยด้วยท่าทีที่ชัดเจนเท่า
สิ่งหนึ่งที่หนังค่อยๆนำเสนอออกมาเมื่อหนังดำเนินเรื่องราวไปนับตั้งแต่การที่ตัวละครกำลังจะเข้าไปสู่โลกที่สื่อสารได้กลับความเหนือจริงนั้น เราเริ่มเห็นการที่ตัวละครเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตมากขึ้น เริ่มเป็นหนึ่งเดียวกับป่ามากยิ่งขึ้น และมันค่อยๆเพิ่มระดับจนตัวละครหลุดไปยังอีกส่วนของความเหนือจริง ภาพของความลำบากที่ตัวละครต้องขึ้นไปยังจุดสูงสุดด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ด้วยใจที่ว้าวุ่นดั่งลมพายุที่โหมเข้าใส่ แน่นอนว่าตัวละครจะพัฒนาไปถึงในจุดที่เข้าใจ และอยู่รวมกับปัญหาเหล่านั้นได้ แน่นอนว่ามนุษย์เราไม่อาจลบล้างปัญหาทั้งหมดให้หายไปจากตัวเราได้ เราเพียงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข หนังไม่ได้บอกกับเราว่าหนทางสุดท้ายที่หนังดำเนินเรื่องราวมาถึงนั้นมันเป็นบทสรุปของชีวิตตัวละคร หรือมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตเท่านั้น และมันก็ยังไม่ได้บอกเราด้วยว่ามันเป็นความจริง หรือเป็นจิตที่หลุดออกไปสู่โลกของการปลดปลงแล้ว โลกที่บาดแผลในชีวิตไม่อาจทำอะไรเราได้อีกแล้ว
ในความดีงามมากๆในหนังเรื่องนี้ นอกจากความบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นจากการประดิษฐ์ที่ทำให้ตัวหนังโดดออกมาดังที่กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของบทความนี้แล้ว ส่วนบทที่เกินออกมายังมีปรากฎให้เห็นอยู่ประปราย โดยเฉพาะเรื่องทางการเมืองที่จะว่าไปก็เหมือนหนังจะให้ความสำคัญเป็นพื้นหลังของเรื่องราว และตัวละครด้วยในส่วนหนึ่ง แต่มันกลับถูกทิ้งไว้กลางทางอย่างน่าเสียดาย ในทางหนึ่งอาจจบอกได้ว่าหนังแทบไม่ได้หยิบประโยชน์จากตรงนี้มาใช้มากนักทั้งๆที่มันเองก็มีอยู่ รวมไปถึงเรื่องของครอบครัวที่ไม่ได้ถูกขับเน้นออกมาให้เห็นถึงผลกระทบมากเท่าที่ควรจะเป็น และหลายครั้งการที่มันดำเนินไปสู่บทสรุปโดยที่ที่มาที่ไปไม่ได้ถูกเอามาใช้อย่างมากเพียงพอ มันจึงเกือบทำให้บทสรุปของมันถูกลดทอนน้ำหนักไปค่อนข้างมาก
สำหรับหนังเรื่องนี้แล้ว แน่นอนว่าส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ เรื่องของบทหนังที่ยังเกลาออกมาได้ไม่สมบูรณ์มากเท่าไหร่นัก แต่ความน่าชื่นชมอย่างมากอย่างมหาศาลคือ ภาพโลเคชั่นที่การกำกับภาพโดย "อุรุพงศ์ รักษาสัตย์" และการกำกับโดย "บุญส่ง นาคภู่" สามารถดึงจิตวิญญาณของมันออกมาเล่าเรื่องกึ่งจริงกึ่งฝันได้อย่างยอดเยี่ยม และมันทำให้หนังเรื่องนี้มีเสน่ห์มากจนตรึงเราไว้ได้ทุกช่วงขณะที่ลมหายใจเข้าออก มันสงบ และเต็มไปด้วยพลังของความศรัทธาโดยที่ตัวละครเองไม่จำเป็นต้องพูดสั่งสอนอะไรออกมานัก เมื่อมีปัญญาเราจะเห็นแสงสว่าง เฉกเช่นกับตัวละครในหนังเรื่องนี้
ธุดงควัตร Wandering ผลงานล่าสุดของผู้กำกับหนังอิสระ บุญส่ง นาคภู่ และผู้กำกับภาพ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ที่จะพาเราติดตามพระภิกษุ 2 รูป ไปสัมผัสวิถีแห่งการประหารกิเลสด้วย ธุดงควัตร 13 เข้าฉาย 7 ก.ค.นี้ ณ โรงภาพยนตร์ house RCA
จากประสบการณ์การบวชเรียนนานถึง 10 ปี รวมถึงความรักในภาพยนตร์ ส่งให้ "บุญส่ง นาคภู่" ตั้งใจที่จะทำหนังซึ่งพูดถึงหลักธรรมทางศาสนา เรื่อง "ธุดงควัตร" หวังใช้เป็นสื่อกระตุ้นเตือนสังคมไม่ให้มองศาสนาเพียงแค่เปลือกนอก