ผู้บริโภคช่วยยุติแรงงานประมงไม่เป็นธรรมได้อย่างไร
เขียน โดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ จึงอยากหยิบยกประเด็นปัญหา สาเหตุ และสถิติสำคัญในแรงงานภาคประมงมาเล่าสู่กันฟัง รวมถึงวิธีที่ทุกท่านในฐานะผู้บริโภคจะสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไร
ก่อนที่เราจะกินปลาสดๆรสชาติอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละครั้ง เราๆท่านๆเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าใครเป็นคนจับและปลาเหล่านี้มาจากไหน
ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาหลายท่านคงได้รับรู้เรื่องราวของแรงงานประมงทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าวที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองในประเด็นนี้จากนานาชาติ
ทุกอย่างล้วนมีที่มา
จากการพัฒนาเทคโนโลยีการประมงของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทรุดโทรม สัตว์น้ำทุกขนาดและเกือบทุกชนิดถูกจับขึ้นมาในปริมาณมหาศาลโดยไม่มีการคำนึงถึงศักยภาพการผลิตของทะเลว่าจะสามารถผลิตทันหรือไม่ เมื่อสัตว์น้ำน้อยลงจึงต้องออกไปจับไกลขึ้น ต้นทุนจึงเพิ่มขึ้นตามมา
จากการศึกษาของ แอเมด และคณะ ในปี 2550 พบว่าในประเทศไทย การลงแรงประมงแต่ละครั้งมีปริมาณปลาที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และมีค่าใช้จ่ายในการทำประมงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาลูกเรือและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือประมงได้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการประมงบางกลุ่มต้องใช้แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับใช้และแรงงานติดหนี้ในอุตสาหกรรมนี้ [1]
วงจรการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง
จุดเริ่มต้นของแรงงานที่เข้ามาในวงจรการค้ามนุษย์มีหลายรูปแบบ เช่น การชักชวนจากเพื่อนหรือญาติ การล่อลวง และการลักพาตัว โดยมีผู้ที่ถูกจ้างมาให้มาทำการล่อลวงหรือนายหน้าจะเป็นผู้ดำเนินการล่อลวงแรงงานเองในวิธีการต่างๆ เช่นการพูดคุย และชักชวนโดยมีข้อเสนองานรายได้ดีให้ บางรายมีการดูแลซื้ออาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ที่ต้องการหางาน เมื่อดื่มหรือกินเข้าไปจะเกิดอาการสะลึมสะลือและหลับไปในที่สุด และเมื่อตื่นขึ้นกลับพบว่าได้ถูกขังอยู่ที่นากุ้งร้าง บางรายอาจจะตื่นขึ้นมาและพบว่าออกมากลางทะเลกับเรือประมงแล้ว โดยชีวิตการใช้แรงงานประมงนั้นเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงสูงมากไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเรื่องการถูกทารุณ ปัญหาสุขภาพ การถูกแสวงหาผลประโยชน์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องราวเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้น
แรงงานบนเรือถูกกระทำอย่างไรบ้าง
ผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2557 ขององค์กรที่ทำงานด้านแรงงานระดับโลก เช่น International Labour Organization หรือ ILO[2] ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานประมงที่ทำงานบนเรือประมงไทยและผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์บนเรือประมงไทย ดังนี้
ผู้บริโภคอย่างเราช่วยได้อย่างไร
การบริโภคเพื่อช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลให้ดีขึ้นและช่วยเหลือแรงงานประมงเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตในการทำงานบนเรือให้ดีขึ้น มีหัวใจสำคัญ คือ “การบริโภคอย่างรู้ที่มาไม่สนับสนุนสินค้าอาหารทะเลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานและใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง หันมาบริโภคสัตว์น้ำโตเต็มวัย และร่วมลงชื่อในงานรณรงค์ต่างๆที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อมและแรงงานประมงตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่บนเรือจนถึงจานเรา”
มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวคุณ เราเชื่อว่าพลังจากคนตัวเล็กๆสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้
[1] Ahmed, M. et al (2007) ‘Overfishing in the Gulf of Thailand: policy challenges and bioeconomic analysis’ Environment and
Development Economics 12: 145-72
[2] International Labour Organization (ILO) (2013) Employment practices and working conditions in Thailand’s fishing sector http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---asia/---ro-bangkok/documents/publication/wcms_220596.pdf
ที่มา : Greenpeace Thailand






















