เรื่องราวของเชฟติดดาว (Michelin Star)
เรื่องราวของเชฟติดดาว (Michelin Star)
เรื่องราวของดาวมิชลินกลายเป็นเรื่องใหญ่โตตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ เราเชื่อว่าไกด์บุ๊คปกสีแดงของคนช่างกินเล่มเล็กๆ จะเลยเถิดกลายเป็นมาตรฐานของนักชิมทั่วโลก ใครๆก็อยากลองชิมร้านอาหาร 3 ดาวจากมิชลินสักครั้งในชีวิต
จุดเริ่มต้นของมิชลินสตาร์ (Michelin Star) เกิดจากบริษัทยางรถยนตร์จากฝรั่งเศส ของสองพี่น้อง อังเดรและเอดเวิร์ด มิชลิน ที่คิดอยากกระตุ้นยอดขายยาง โดยหาวิธีให้คนเดินทางมากขึ้น ก็เลยออกไกด์บุ๊คเล่มเล็กๆ สีแดง ที่เรียกว่า มิชลิน ไกด์ ในปี ค.ศ. 1900 (Michelin Guide) เป็นแผนที่มิชลิน ที่นำมาใช้ในการบอกเส้นทางของสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหาร (ต่อมาออกปกเขียว สำหรับ โรงแรม บาร์ ปั๊ม อู่ซ่อมรถ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ) สำหรับนักเดินทาง
พวกเขาได้เริ่มทำครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่แล้ว แล้วเริ่มขยายออกไปหลายต่อหลายเมืองในยุโรป ข้ามไปทำถึงอเมริกาเหนือ เมื่อปี 2006 และกำลังจะเริ่มเข้ามาทำในเอเชียในเร็ววันนี้
การกำหนดดาวให้ร้านอาหารแต่ละร้านและเชฟจะแบ่งเป็น 3 ขั้น โดยดูจากหลายองค์ประกอบ ทั้งบรรยากาศภายในร้าน รสชาติของอาหาร การตกแต่งอาหาร การบริการ ความสะอาด รวมมไปถึงรสมือของเชฟ
โดยกำหนดความหมายของดาวไว้ดังนี้
1 ดาว สำหรับร้านอาหารระดับที่ดีมาก
2 ดาว สำหรับร้านที่ดีเลิศ
3 ดาว สำหรับการรับประกันประสบการณ์ที่พิเศษสุดๆ จากร้านที่มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และโดยอัตโนมัติ ร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำจากมิชลิน ไกด์ เชฟของร้านนั้นๆ ก็จะได้รับการขนานนามไปด้วยว่า เป็นเชฟระดับมิชลินสตาร์ไปโดยปริยาย
การชิมของบรรดานักชิมของมิชลินไกด์ ค่อนข้างละเอียดลออ นักชิมเหล่านี้ อาชีพหลักเป็นนายธนาคาร ทนาย หมอ หรือนักธุรกิจที่ยินดีทำงานหนัก (ตระเวนชิม) เหล่านี้ด้วยความเต็มใจ พวกเขาเหล่านี้จะมีความรู้ความชำนาญทางด้านอาหารและรสนิยมเป็นเลิศ ร้านอาหารหนึ่งร้าน อาจต้องใช้เวลาชิม 3-4 ครั้งใน 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างนั้นเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งรสชาติ การบริการและทุกๆอย่าง
นอกจากนี้จดหมายจากลูกค้าที่เขียนถึงมิชลินไกด์ ก็จะถูกนำมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาด้วยการให้ดาวของมิชลินไกด์จะมีการสำรวจและเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยทุกปีและมีสิทธิเรียกคืน หากไม่สามารถรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ ทำให้เชฟบางคนประกาศไม่รับมิชลินสตาร์ เพราะไม่อยากเครียดกับกฎเกณฑ์ต่างๆ และเสียความเชื่อถือเมื่อถูกเรียกดาวคืน เพราะการโดนเรียกดาวคืน อาจส่งผลทำให้ถึงขั้นต้องปิดร้านไปเลยทีเดียว
ฉะนั้นแต่ละร้านต้องทำงานหนัก เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อใดก็ตามที่ เหล่าสายสืบของมิชลินมาถึงร้าน ทุกอย่างจะต้องอยู่ในสภานการณ์ที่พร้อมรับมือกับวันหนักๆ ที่ไม่รู้ตัวมาก่อนได้เสมอ
เชฟมิชลินสตาร์ทุกวันนี้ไม่แตกต่างจากคนดัง หลายคนต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อปรุงอาหารตามเทศกาลและวาระ ความท้าทายของเชฟมิชลินจึงไม่ได้อยู่แค่การทำให้ร้านของตัวเองได้คุณภาพอยู่เสมอ แต่รวมถึงการสร้างสรรค์เมนูใหม่อยู่เสมอด้วย
บทความโดย FoodieTaste