พระพุทธรูปดินที่ปั้นจากมือผู้หญิงมีตราบาป เคยทำชีวิตผิดพลาด ประมาทในศีล
คุณครู อรสม สุทธิสาคร ได้โพสต์เรื่องแสนประทับใจนี้
“ครูครับ จะมีชาวพุทธสักกี่คนที่ได้ปั้นพระพุทธรูปด้วยมือของตนเอง”
ฉันคิดถึงคำพูดของลูกศิษย์ชาวบางขวางที่ยังคงก้องอยู่ในความทรงจำ เมื่อได้มองพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดหน้าตักราว ๘-๙ นิ้วที่สาวๆ จากแดนหญิง เรือนจำกลางขอนแก่น กำลังปั้นอยู่ตรงหน้า
ครั้งนี้เป็นหนที่สองของการเรียนการสอน แต่ละอาทิตย์อาจารย์จะเดินทางจากกรุงเทพฯ มาสอนกันสามวัน คือพฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ หนนี้ครูที่สอนมีอาจารย์ดอน อาจารย์เอ และอาจารย์แห้ว อาจารย์แห้วชมว่าผลงานของนักเรียนหญิงมีความอ่อนช้อย มีรายละเอียดมากกว่านักเรียนที่บางขวาง เสียดายที่มีเวลาสอนน้อยไปเพียง ๘-๙ วันเท่านั้น ขณะที่อาจารย์ยี่หร่ามองว่างานของนักเรียนบางขวางมีพลังบางอย่าง
นักเรียนหลายคนที่ได้พูดคุยด้วย บอกว่าขณะปั้นพระ รับรู้ได้ถึงความมีสมาธิ งานพุทธศิลป์ช่วยขัดเกลาใจเธอให้เยือกเย็นขึ้น จากเดิมที่เป็นคนใจร้อน บ้างบอกว่าปกติมักเป็นกังวล คิดเรื่องคดีความและเรื่องครอบครัวที่อยู่ข้างนอก เมื่อได้มาปั้นพระทำให้จิตใจสงบลงมาก ขณะที่บางรายบอกว่ารู้สึกผ่อนคลาย ใจสบายบอกไม่ถูก แม้เมื่อเข้านอนแล้วก็ยังนึกถึงพระที่ปั้น เหมือนใจจดจ่ออยู่กับพระ ใจมีพระเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว
นักเรียนวัย ๔๐ กว่าคนหนึ่งบอกว่าในวัยเด็ก เธอคุ้นกับภาพพระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์ที่ขอนแก่น เพราะพ่อเป็นคนงานอยู่ที่นี่ ทุกช่วงปิดเทอมตั้งแต่ชั้นประถม ๔ จนถึงมัธยม เธอชอบตามพ่อที่ไปขุดแต่งโบราณสถานกับนักโบราณคดีตามพื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงแรงศรัทธา แต่การปั้นพระยังน้อมนำใจเธอให้หวนคืนสู่บรรยากาศและความผูกพันอันอบอุ่น แสนสุขในวัยเยาว์
นักเรียนบางคนชอบงานศิลปะอยู่แล้ว ครั้งที่ยังอยู่บ้านก็ซื้อสีน้ำมันชนิดกล่องละไม่กี่บาทมาวาดฝาผนังบ้านเป็นภาพดอกไม้ นู่นนี่นั่นตามแต่จินตนาการ เมื่อได้มาปั้นพระ จึงได้ทั้งสมาธิและความสนุก ภูมิใจกับการเรียนรู้งานพุทธศิลป์อันเป็นความรู้ใหม่ ทั้งยังได้กุศลในงานอีกด้วย
“ก่อนจะปั้นพระ หนูท่องนโมสามจบ ขออนุญาตท่านว่าเราจะปั้นท่านขึ้นมาด้วยความเคารพศรัทธา ด้วยกำลังใจของเรา ขอให้งานที่จะเกิดขึ้นมีความผิดพลาดน้อยที่สุด และสมบูรณ์ งดงามที่สุด หนูรู้สึกเหมือนพระที่เราปั้นมีชีวิต ตอนที่อาจารย์แกะบล็อกพิมพ์ ต้องแงะเอาดินน้ำมันออกมา หนูรู้สึกเจ็บไปด้วย เหมือนเราเอาหัวใจใส่ลงไปในดินที่เราปั้น”
นักเรียนสาววัยต้น ๒๐ จากประเทศลาว บอกว่าขณะปั้น เธอท่องพุทโธ และคิดถึงพระที่บ้าน ทำให้จิตใจสงบ และมีสมาธิ หากมีคนแถวบ้านมาเยี่ยม อยากฝากพระพุทธรูปองค์นี้กลับไป เพื่อมอบให้แม่ไว้กราบไหว้บูชาที่บ้าน
“ตอนที่ได้สัมผัสดิน นวดดิน หนูมองมือสองข้างของเรา ถามตัวเองว่าเราจะทำบุญปั้นพระที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สูงส่งได้หรือ ในเมื่อเราเป็นคนบาปที่มาชดใช้กรรมอยู่ในนี้ อาจารย์ยี่หร่าบอกว่าให้หนูถือศีล ๕ คิดถึงคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านที่สอนเรามา ทำใจให้ว่าง หนูคิดถึงพ่อที่เป็นอัมพฤกษ์ หนูอธิษฐานกับพระที่ปั้นว่าขอให้พ่อหายป่วยไวๆ”
นักเรียนทุกคนปีติใจในกุศลครั้งนี้ที่แม้อยู่ในก้นคุกก้นตะรางก็ยังมีโอกาสได้ปั้นพระ การสื่อสารกับพระที่ตนปั้นทำให้พวกเธอซาบซึ้งใจในพระคุณของพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น และรู้สึกละอายใจเกินกว่าที่จะกลับไปอยู่ในเส้นทางเดิมก่อนก้าวเข้ามา
สิ่งนี้นับเป็นเป้าหมายของโครงการกำลังใจในพระดำริพระองค์ภา และเครือข่ายพุทธิกา ของพระไพศาล วิสาโล นั่นคือการใช้กระบวนการพุทธศิลป์ในการขัดเกลาจิตใจผู้ต้องขัง เพื่อจะได้ไม่หวนกลับมาทำผิดซ้ำ อันจะส่งผลให้สังคมปลอดภัยขึ้น
วันนี้เป็นวันที่ ๖ ของการเรียน ผลงานทั้งหมดได้รับการทำพิมพ์ครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงการหล่อและการขัดแต่งองค์พระในอาทิตย์หน้า
จากดินก้อนน้อยในกำมือของผู้ที่เคยพลั้งพลาด ๓๐ ชีวิต มาวันนี้พระพุทธรูปองค์เล็ก ตัวแทนของพระพุทธเจ้ากำลังจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพื่อน้อมบูชาคุณของพระพุทธองค์ ราวจะเป็นเครื่องยืนยันว่าความรัก ความเมตตาของพระบรมศาสดาไม่เคยจำกัด ไม่ว่ากับชีวิตใด สูงต่ำ ดีชั่วแค่ไหน
แม้ในสถานที่ที่มืดมิดและทุกข์ที่สุด ความรักอันบริสุทธิ์ของพระองค์ก็ยังคงเป็นแสงสว่าง ชำระล้างกิเลสอันหมองมัว เพื่อให้ลูกหลานของพระองค์ได้ก้าวใหม่ในหนทางของความดีงามเสมอ
ขอเพียงพวกเธอปั้นพระพุทธรูปในใจไปพร้อมกัน เธอก็จะสามารถสัมผัสความรักอันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้าได้ว่างดงามและยิ่งใหญ่เพียงไร