ญี่ปุ่น กับสังคมเหยียดเชื้อชาติ
ชาตินิยม เป็นผลผลิตของรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ถ้านับตามประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ซึ่งมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ดึงอำนาจจากโชกุนกลับคืนสู่ศูนย์กลาง
.
แต่ความเป็นชาตินิยมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ ครับ ความรู้สึก “แบ่งเขา แบ่งเรา” มีอยู่ในสำนึกของคนญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน พัฒนากลายเป็นมโนทัศน์พื้นฐานทางวัฒนธรรมคือ อุจิ (ภายใน 内) และ โซะโตะ (ภายนอก 外) ตามแนวคิดนี้ คนญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม คือ 1) กลุ่มคนที่อยู่ภายใน ซึ่งเป็นพวกเดียวกัน และ 2) กลุ่มคนที่อยู่ภายนอก ซึ่งเป็นคนละพวก
.
เมื่ออยู่กันคนละพวก ย่อมมีปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งวิธีการพูดจา ลีลาท่าทาง การวางตัว ฯลฯ ความแตกต่างเหล่านี้ถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นเมื่อคนญี่ปุ่นต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นคนภายนอกตลอดกาล
.
ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมเดี่ยว หรือ homogeneous society ครับ ประชากรเกือบทั้งหมดคือคนญี่ปุ่น หรือถ้าจะเน้นให้ชัดก็คือ ชาววะ หรือ วะจิน (和人) สื่อความหมายถึงคนญี่ปุ่นแท้ๆ ไม่นับรวมชนกลุ่มน้อยในโอะกินะวะทางภาคใต้ ชาวไอนุซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ หรือลูกหลานคนจีนคนเกาหลีที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตประเทศญี่ปุ่นในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคม
.
นอกเหนือจากชาววะแล้ว ประชากรชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นพลเมืองชั้นสองครับ ทั้งโดยกฏหมาย และโดยความรู้สึกของผู้คน
.
ความเป็นชาววะ เมื่อมองผ่านนิยามหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คือพลเมืองที่ถือสัญชาติญี่ปุ่นโดยกำเนิดครับ กฎหมายญี่ปุ่นอนุญาตให้พลเมืองถือสัญชาติได้เพียงสัญชาติเดียว โดยเน้นการสืบสัญชาติผ่านทางสายเลือด ไม่ใช่ดินแดน เด็กที่เกิดมาจะมีสัญชาติญี่ปุ่นได้ก็ต่อเมื่อมีบิดา (หรือมารดา - กฏหมายแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 1985) ถือสัญชาติญี่ปุ่น แม้จะเกิดในต่างประเทศ แต่หากทั้งบิดาและมารดาไม่มีสัญชาติญี่ปุ่น แม้จะเกิดในประเทศญี่ปุ่นก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับสัญชาติ
.
ข้อกำหนดนี้เป็นไปเพื่อสงวนสัญชาติญี่ปุ่นไว้สำหรับชาวญี่ปุ่นครับ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเกาหลีและบางส่วนของจีนเป็นเอกราชจากญี่ปุ่น คนจีนคนเกาหลีในญี่ปุ่นถูกตีตราเป็นคนต่างด้าว ไม่ได้รับสัญชาติ หลายคนพยายามยื่นขอสัญชาติญี่ปุ่น แต่ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง
.
การขอสัญชาติญี่ปุ่นสำหรับคนต่างด้าว มีเงื่อนไขหลายๆ อย่าง เช่น อยู่ในญี่ปุ่นต่อเนื่องเกิน 5 ปี แต่งงานกับคนญี่ปุ่นเกิน 3 ปีและอยู่ในญี่ปุ่นอย่างน้อย 1 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรม ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้มีกำหนดไว้ในข้อกฎหมายครับ แต่เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วจะผ่านการพิจารณาหรือไม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด ทั้งสัมภาษณ์รายบุคคล ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจดูภายในบ้าน สอบถามข้อมูลจากเพื่อนบ้าน ฯลฯ เพื่อดูว่ามี “ความเป็นญี่ปุ่น” มากพอที่จะได้รับสัญชาติหรือไม่
.
เพื่อประเมินความเป็นญี่ปุ่น ผู้ยื่นขอสัญชาติบางคนอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ค้นบ้าน บุกห้อง ค้นตู้เย็น หรือถามถึง sexual partner ก็ได้ แต่ถ้ามีบิดาหรือมารดาถือสัญชาติญี่ปุ่นอยู่แล้วก็จบปิ๊งครับ มีคดีความอะไรมาก็ได้หมด เช่น อัลเบร์โต ฟุจิโมะริ อดีตประธานาธิบดีเปรู เป็นต้น
.
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า กฎหมายญี่ปุ่นให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองที่ถือสัญชาติญี่ปุ่นมากกว่าพลเมืองอื่นๆ แม้จะอยู่ในประเทศอย่างถูกกฎหมายครับ ในปี ค.ศ.2008 ศาลสูงญี่ปุ่นให้ความเห็นต่อกรณีที่เด็กที่เกิดจากบิดาสัญชาติญี่ปุ่นควรได้รับสัญชาติญี่ปุ่นแม้จะเกิดนอกประเทศ ก็เนื่องจากว่า การไม่ได้รับสัญชาติย่อมเป็นเหตุแห่งการแบ่งแยกกีดกัน (discrimnation) และการได้รับสัญชาติญี่ปุ่นย่อมทำให้เด็กได้รับคุ้มครองตามสิทธิพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น
.
นั่นหมายความว่า การได้รับความคุ้มครองขั้นพื้นฐานหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเด็กอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ขึ้นอยู่กับว่าเด็กได้รับสัญชาติญี่ปุ่นหรือไม่ หรือหากจะตีความกันอย่างสุดโต่งแล้วก็คือ การได้รับความคุ้มครองดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่อยู่ในฐานะของพลเมืองที่ถือสัญชาติญี่ปุ่น (Arudou D., 2013)
.
ปัญหาการเหยียด เกลียด และกลัวชาวต่างชาติของคนญี่ปุ่น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะความรู้สึกหรอกครับ แต่ยังแทรกซึมไปถึงข้อกฎหมายหลายๆ อย่างที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมและแบ่งแยกกีดกันระหว่าง “พลเมืองชั้นหนึ่ง” และ “พลเมืองชั้นสอง” รวมถึงการสืบสายเลือดในแบบที่ ซัลลาซาร์ สลิธีลิน และ ลอร์ดโวลเดอมอร์ คงรู้สึกภาคภูมิใจ
.
สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ท่านๆ คงไม่รู้สึกอะไรครับ คนญี่ปุ่นยังยิ้มให้กับเราเสมอ เพราะถือว่าเราเป็นคนนอก เจอกันชั่วครู่ชั่วคราวแล้วก็ไป แต่สำหรับคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนานๆ รวมถึงคนที่สืบเชื้อสายจากคนจีนคนเกาหลีมาตั้งแต่ก่อนสงคราม อาจสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก จะอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะเข้าภายในก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน
.
รัตนาดิศร
8 กุมภาพันธ์ 2559
โอซะกะฟุ ฮันไดเบียวอิน
.
เอกสารประกอบการเรียบเรียง: Arudou D., ‘Embedded Racism’ in Japanese Law: Towards a Japanese Critical Race Theory. Pacific Asia Inquiry, Volume 4, Number 1, Fall 2013
.
ใครที่สนใจเกี่ยวกับ racism ในประเทศญี่ปุ่น ติดตามอ่านเรื่องราวได้จากเว็บ http://www.debito.org ของ คุณ Debito Arudou ครับ
.
ภาพ: กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านชาวเกาหลีในประเทศญี่ปุ่น
.
ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าโรงเรียนเวทมนตร์มะโฮโทะโคะโระในญี่ปุ่นมีจริง คงรับแต่เฉพาะผู้วิเศษชาววะสายเลือดบริสุทธิ์แน่ๆ ความหวังของผมที่จะได้เป็นยามในโรงเรียนนี้คงเป็นไปไม่ได้แล้ว เสียใจครับ
https://www.facebook.com/JapanNutshell/photos/a.514361938718018.1073741828.514237958730416/591648900989321/?type=3&theater