เหตุใดผู้คนจึงชอบให้ตุ๊กตาหมีเป็นของขวัญ
ตุ๊กตาหมีจัดอยู่ในกลุ่มตุ๊กตาอัดเส้นใย(Stuffed toy) การให้ตุ๊กตาประเภทนี้เป็นของขวัญเกิดขึ้นมานานกว่า 130 ปีแล้ว โดยแรกเริ่มนั้นตุ๊กตาเป็นเพียงของเล่นสำหรับเด็ก ต่อมากลุ่มผู้บริโภคได้ขยายขอบเขตจนครอบคลุมกลุ่มผู้หญิงวัยต่างๆ จนกระทั่งครอบคลุมผู้คนทุกเพศทุกวัยในสังคม น่าสังเกตว่าในบรรดาของเล่นเด็กทั้งหมดมีเพียงของเล่นจำพวกตุ๊กตาอัดเส้นใยเท่านั้นที่สามารถขยายขอบเขตผู้บริโภคมาได้มากขนาดนี้ทั้งที่ตุ๊กตาประเภทอื่นหรือของเล่นประเภทอื่นถูกประดิษฐ์ขึ้นก่อนแล้วเป็นเวลานาน นั่นเป็นเพราะคุณสมบัติด้านการปลอบประโลมจิตใจ(Psychological comfort)ของตุ๊กตานั่นเอง
ตุ๊กตาสามารถให้ผลในเชิงจิตวิทยาต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยสำหรับเด็ก ตุ๊กตาเป็นตัวแทนของรูปธรรมความสัมพันธ์หรือความรักจากมารดา โดยในพัฒนาการของมนุษย์ช่วงเริ่มต้น ทารกจะรวมมารดาไว้เป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ระยะนี้เรียกว่า ระยะสื่อกลาง(Transitional phase) โดยเด็กจะคิดว่ามารดาเป็นส่วนของตนเองที่ติดต่อกับโลกภายนอก และเป็นตัวนำความพึงพอใจหรือวัตถุที่ปรารถนามาให้ภายใต้คำสั่งในจิตใจของตัวเด็กเอง ในระยะพัฒนาการต่อมาเด็กจึงจะเริ่มแยกแยะได้ว่ามารดานั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของตน แต่เป็นบุคคลอื่นที่ตนเองต้องพึ่งพา การรับรู้นี้ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนสูญเสียส่วนหนึ่งของร่างกาย(เปรียบเสมือนสูญเสียอวัยวะ“แม่”) ยิ่งไปกว่านั้นคือทำให้เด็กตระหนักได้ว่าการสร้างความพึงพอใจนั้นทำได้แค่บางเวลา เนื่องจากมารดาเป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นเอกเทศ ไม่สามารถตอบสนองต่อคำสั่งได้ตลอดทุกเมื่อเหมือนที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกสับสน หดหู่ และกระวนกระวาย ซึ่งมีผลรุนแรงต่อสภาพจิตใจของเด็กทารก ส่วนนี้เองที่ตุ๊กตาสามารถเข้ามามีบทบาท ตุ๊กตาจะทำหน้าที่เป็นวัตถุสื่อกลาง(Transitional object) โดยเป็นสิ่งของในโลกแห่งความจริงชิ้นแรกที่อยู่ใต้การควบคุมของจิตใจของเด็กเอง เด็กจะใช้ตุ๊กตาแทนร่องรอยความรู้สึกพึงพอใจที่อวัยวะ“แม่”เคยมีให้ และการที่เด็กสามารถควบคุมตุ๊กตานี้ได้ก็ทำให้เด็กรู้สึกว่าสามารถควบคุมความพึงพอใจและตอบสนองความต้องการได้ด้วยตนเอง คุณสมบัติการเป็นวัตถุสื่อกลางของตุ๊กตาทำให้เด็กสามารถจินตนาการความสัมพันธ์หรือความรักจากมารดาได้แม้ไม่ได้อยู่กับมารดาเป็นเวลานาน และทำให้เด็กสามารถนอนหลับได้โดยปราศจากความกังวล
สำหรับผู้ใหญ่ ตุ๊กตาจะถูกแปรสภาพจากวัตถุสื่อกลาง เป็นวัตถุประโลมจิตใจ(Comfort object) เนื่องจากสีและสัมผัสของตุ๊กตาทำให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่นและปลอดภัย คล้ายสัมผัสที่ได้จากการใช้ผ้าห่ม ในทางปฏิบัติมีการมอบตุ๊กตาให้กับแพทย์ห้องฉุกเฉิน ตำรวจ ผู้ประสบภัยธรรมชาติ และเหยื่อคดีอาชญากรรม โดยตุ๊กตาสามารถให้กำลังใจพวกเขาว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าตุ๊กตาสามารถเป็นสื่อแทนตัวบุคคลคล้ายกับผลของตุ๊กตาต่อทารก เนื่องจากเป็นความจริงที่ว่าผู้ใหญ่ยังคงต้องการความรักไม่ต่างจากเด็ก แต่แตกต่างกันที่วิธีการแสวงหา โดยเด็กจะเรียกร้องและได้รับทันที ส่วนผู้ใหญ่ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนจึงจะได้รับความรักมา การใช้ตุ๊กตาเป็นการลัดขั้นตอนความซับซ้อนนั้น โดยการให้ความรักกับตุ๊กตาจะทำให้ผู้ให้รู้สึกเหมือนได้รับความรักกลับมาทันที การดูแลตุ๊กตาเหมือนดูแลบุคคลสามารถมอบความสุขให้กับผู้ปฏิบัติ โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนคือปัจจุบันมีการใช้ตุ๊กตาบำบัด(Doll therapy) กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างแพร่หลาย เนื่องจากการดูแลตุ๊กตาช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้ระลึกถึงความทรงจำในขณะดูแลลูกได้
เนื่องจากผลของการใช้ตุ๊กตาในผู้ใหญ่ เป็นเพียงการส่งเสริมสภาพจิตใจเท่านั้น ต่างจากในเด็กที่ตุ๊กตามีผลต่อพัฒนาการซึ่งจะแสดงออกไปตลอดชีวิต เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ขอบเขตของผู้ใช้ตุ๊กตา ขยายจนครอบคลุมบุคคลทุกช่วงอายุ ทำให้สรุปได้ว่าปัจจัยด้านความนิยมในสังคม(Fashion) ก็มีผลอย่างมากในการทำให้ตุ๊กตาพัฒนาจากของเล่นเด็กเป็นของสะสมสำหรับบุคคลทั่วไป
โดย tukkatameeforyou.lnwshop.com
โพสท์โดย: Tukkatameeforyou