ลัทธิกินมะพร้าว
ลัทธิกินมะพร้าว
โพสนี้ สิบนำบทความ ของ คุณ ศิลป์ อิศเรศ มาให้อ่านนะคะ
ชายหนุ่มมีศรัทธาความเชื่อว่าการได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทำให้เขาอัปเปหิตัวเองไปใช้ชีวิตบนเกาะเล็กๆกลางมหาสมุทร นุ่งลมห่มฟ้ากินแต่ผักหญ้าโดยเฉพาะมะพร้าวเป็นอาหารหลักที่ขาดไม่ได้
ตลอดระยะเวลา 17 ปี นับตั้งแต่ปี 1902 ถึงปี 1919 ออกุสต์ เอนเจลฮาร์ดต์ อดีตทหารเยอรมัน ใช้ชีวิตตามลำพังอาศัยอยู่กับชนพื้นเมืองบนเกาะเล็กๆกลางมหาสมุทรแปซิฟิก เขาดำรงชีพด้วยการกินมะพร้าวเพียงอย่างเดียวเพราะมีความเชื่อว่ามะพร้าวเป็นยารักษาสารพัดโรค
ออกุสต์ เอนเจลฮาร์ดต์ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1875 บิดาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตสีและน้ำมันชักเงา เมื่อโตขึ้นเขาศีกษาวิชาฟิสิกส์และเคมีที่มหาวิทยาลัยเออร์ลังเกน ประเทศเยอรมัน หลังจากจบการศึกษาก็ไปทำงานเป็นผู้ช่วยเภสัชกร ช่วงเวลานี้เองที่ออกุสต์เริ่มสนใจการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ
ออกุสต์ศึกษาปรัชญาการดำเนินชีวิตของกลุ่มปฏิรูปการใช้ชีวิตจากหลายกลุ่มซึ่งล้วนแล้วแต่เน้นเรื่องการบริโภคผักและผลไม้ จนกระทั่งในปี 1899 ออกุสต์ไปสะดุดกับแนวคิดของกลุ่มจังบอร์น (Jungborn) ที่เน้นหลักการใช้ชีวิตนุ่งลมห่มฟ้าและบริโภคมะพร้าวเป็นอาหารหลัก
แต่แล้วเจ้าลัทธิจังบอร์นก็ถูกตำรวจจับในข้อหาโน้มน้าวผู้คนให้เป็นชีเปลือยซึ่งผิดทั้งข้อกฎหมายและผิดศีลธรรม ด้วยเหตุนี้เองออกุสต์จึงต้องเก็บงำความเชื่อและศรัทธาไว้ในใจ ไม่กล้าเปิดเผยให้ใครๆได้ล่วงรู้
ผลไม้บริสุทธิ์
ปี 1902 ออกุสต์ถูกเกณฑ์เป็นทหารรับใช้ชาติ เขาถูกส่งตัวมายังฐานทัพที่อาณานิคมหมู่เกาะนิวกินี ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ออกุสต์จะได้ทดลองการใช้ชีวิตสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดตามความเชื่อเดิมที่มีอยู่
ออกัสต์ทุ่มเงิน 41,000 มาร์ค ซื้อที่ดิน 750,00 ตารางเมตรบนเกาะคาบาคอน ซึ่งอยู่ห่างจากฐานทัพเยอรมันออกไปในทะเลราว 28 ไมล์ เพื่อใช้ปลูกกล้วยและมะพร้าว เตรียมพร้อมสำหรับการทดลองใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ บริโภคแต่พืชผักโดยเฉพาะมะพร้าว
ออกัสต์ปลูกบ้านบนเกาะอาศัยอยู่ท่ามกลางชนพื้นเมืองที่มีอยู่ราว 40 ชีวิต จากความเชื่อที่ว่าแสงอาทิตย์ให้กำเนิดชีวิตและให้พลังงาน แสงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต ดังจะเห็นได้ว่าอวัยวะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คือสมอง หากไม่มีสมองอวัยวะส่วนอื่นก็จะทำงานไม่ได้ และที่สมองมีความสำคัญที่สุดก็เพราะมันอยู่สูงที่สุดในอวัยวะทั้งหมด เมื่อมันอยู่สูงที่สุดก็หมายความว่ามันอยู่ใกล้กับพระอาทิตย์มากที่สุดนั่นเอง ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าแสงอาทิตย์มีคุณประโยชน์กับร่างกาย
เช่นเดียวกันกับต้นมะพร้าว มันเติบโตสูงชะลูดกว่าต้นไม้พันธุ์อื่นๆทำให้มันอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด ดังนั้น ผลมะพร้าวจึงเป็นอาหารที่มีประโยชน์มากที่สุด มีประสิทธิภาพสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิด ขณะที่ผลไม้ชนิดอื่นอยู่เตี้ยต้อยต่ำไม่บริสุทธิ์เท่ากับผลมะพร้าว ดังจะเห็นได้ว่าเนื้อมะพร้าวมีสีขาวและน้ำมะพร้าวมีลักษณะใสไร้สี ต่างกับผลไม้ชนิดอื่นๆโดยสิ้นเชิง
สร้างอาณาจักร
ปี 1903 นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ออกุสต์ ฟอน เบธแมนน์-อัลส์เลเบน เดินทางมากที่เกาะคาบาคอน เขาศรัทธาการใช้ชีวิตสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดแบบที่ออกุสต์ทำอยู่ จึงปวารณาตัวเป็นสาวกติดตามและใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแบบเดียวกัน
พฤติกรรมนุ่งลมห่มฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในหมู่เกาะกลางมหาสมุทรที่แทบจะไม่มีคนอาศัยอยู่เป็นเรื่องไม่แปลก ใครใคร่ทำอะไรก็ทำไปไม่มีคนสนใจ เพราะจริงๆแล้วบนเกาะนี้ก็แทบจะไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่
การใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีโดยไม่มีกฎหมายและข้อบังคับห้ามทำโน่นทำนี่ ทำให้ผู้ที่มาเยือนเกาะคาบาคอนหลายคนไม่ยอมกลับ จนกระทั่งมีสาวกลัทธินุ่งลมห่มฟ้า ใช้ชีวิตอาบแสงแดดบริโภคมะพร้าวเป็นอาหารหลักเกือบ 30 คน หนึ่งในนั้นคือ แม็กซ์ ลุตโซว์ คอนดักเตอร์ นักไวโอลินและนักเปียนโนชาวเยอรมัน
ไร้ภูมิคุ้มกัน
ปี 1906 ออกุสต์ ฟอน เบธแมนน์-อัลส์เลเบน เกิดลังเลว่าเขาตัดสินใจถูกหรือไม่ที่จะใช้ชีวิตบนเกาะกลางมหาสมุทร นุ่งลมห่มฟ้า บริโภคมะพร้าวเพียงอย่างเดียว เขาจึงติดต่อให้เรือมารับกลับเยอรมัน แต่สุดท้ายเขาก็เสียชีวิตเสียก่อนที่ได้กลับบ้าน
แอนนา ชวับ ภรรยาของออกุสต์ ฟอน เบธแมนน์-อัลส์เลเบน ซึ่งรู้จักกันบนเกาะและเพิ่งแต่งงานกันเมื่อกลางปี 1906 เคยเตือนให้ออกุสต์ ฟอน เบธแมนน์-อัลส์เลเบน บริโภคผลไม้อื่นนอกจากมะพร้าวเพียงอย่างเดียว แต่ดูเหมือนจะสายเกินไป แอนนาต้องเดินทางกลับเยอรมันเพียงคนดียว
เมื่อกลับมาถึงเยอรมัน เธอได้ทำเรื่องร้องเรียนให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ ส่งผลให้รัฐบาลอกคำสั่งห้ามคนเยอรมันเดินทางมาที่เกาะคาบาคอน แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มไม่เชื่อฟัง เดินทางมาที่เกาะเพื่อไขว่คว้าหาอิสรภาพในการดำเนินชีวิต
หลายคนที่เดินทางมากลับต้องพบจุดจบในช่วงเวลาอันสั้น ความเชื่อที่ว่าการอาบแสงตะวันและบริโภคแค่เพียงมะพร้าวจะช่วยรักษาสารพัดโรคกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เฮนริช ยูเกนส์ นักศึกษาวัย 24 ปี จบชีวิตลงหลังจากอาศัยอยู่บนเกาะเพียงแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น
เฮนริชป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา เขาขึ้นเรือเพื่อไปรักษาตัวที่เกาะใหญ่ แต่วันนั้นมีพายุฝนทำให้อาการป่วยยิ่งกำเริบ เป็นไปได้ว่าการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เฮนริชเสียชีวิต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สาวกลัทธิอาบแสงแดด-กินมะพร้าว เกิดความลังเลและย้ายออกจากเกาะกลับสู่ถิ่นฐานเดิม
อวสานค์เกาะสวรรค์
สาวกลัทธิกิน(แต่)มะพร้าวล้วนแล้วแต่ประสบกับปัญหาเป็นแผลที่ขา นิ้วบวม ผิวหนังเป็นผื่น มีไข้และหน้ามืด สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้พวกเขาต้องอพยพกลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่ ปล่อยทิ้งให้เจ้าสำนักอยู่เฝ้าเกาะตามลำพัง
ปี 1914 เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 เกาะคาบาคอนถูกฝ่ายพันธมิตรเข้ายึดครอง ออกุสต์ถูกจับตัวส่งเข้าค่ายกักกันเชลยสงครามในออสเตรเลีย แต่ได้รัยการปล่อยตัวในเวลา 3 สัปดาห์ต่อมาด้วยเหตุผลว่าเป็นคนไม่เต็มบาท
ออกุสต์เดินทางกลับมาที่เกาะคาบาคอน แต่บัดนี้มันถูกออสเตรเลียยึดครองไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ออกุสต์ยังคงดำเนินชีวิตตามความเชื่อด้วยการนุ่งลมห่มฟ้า บริโภคแต่เพียงมะพร้าว จนกระทั่งเสียชีวิตลงตามลำพังเมื่อราวต้นเดือนพฤษภาคม 1919
ความเชื่อที่ว่าการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ ด้วยการนุ่งลมห่มฟ้าปฏิเสธเสื้อผ้าอาภรณ์และบริโภคมะพร้าวเป็นอาหารหลักจะทำให้สุขภาพดีมีอายุยืนยาวกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ออกุสต์เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียงแค่ 44 ปี ก่อนเสียชีวิตเขามีสัดส่วนความสูง 166 เซนติเมตร น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ซึ่งนับกว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก
เรื่องราวของออกุสต์อาจฟังดูสุดโต่งจนแทบไม่น่าเชื่อ แต่หากเรามองดูรอบๆตัวจะพบว่าแม้ในปัจจุบันก็ยังมีคนบางคนที่มีความเชื่อผิดๆเพราะขาดความรู้ทางด้านโภชนาการที่ถูกต้อง
http://www.lokwannee.com/web2013/?p=194380
นู๋คืนสิบ เดือนสยองเรื่องลี้ลับของโลก'
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1537546719896803&set=gm.1707282442842397&type=3&theater