สนพ. หนุนผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานอุตสาหกรรม วางเป้าเดินหน้าตั้งเป็นสถานีพลังงาน
สนพ. หนุนผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานอุตสาหกรรม
วางเป้าเดินหน้าตั้งเป็นสถานีพลังงาน
สนพ. เดินหน้าตามแผนพลังงานระยะยาวของประเทศ AEDP 2015 สนับสนุน “โครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพที่เกิดจากของเสียในโรงงานอุตสาหกรรม” ดึงผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 226 ระบบ และผลิตก๊าซชีวภาพได้มากกว่า 845 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน ในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นสถานีผลิตพลังงาน
นางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวงพลังงาน ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง สามารถแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศได้แล้ว ยังสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากน้ำเสียหรือของเสีย ที่ใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพ และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ร่วมกับ สนพ. จัดทำ “โครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพที่เกิดจากของเสีย/น้ำเสีย ในกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ”
สำหรับผลสรุปการดำเนินโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปี พ.ศ. 2551-2555 มีโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพทั้งสิ้น 226 ระบบ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 2,013 ล้านบาท ผลที่ได้รับคือ โรงงานอุตสาหกรรมสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้มากกว่า 845 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งก๊าซชีวภาพดังกล่าวได้นำไปใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนพลังงานประเภทต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม ได้ 2 ส่วน คือ 1.การทดแทนพลังงานในเชิงความร้อน โดยนำไปทดแทนน้ำมันเตา 190 ล้านลิตร/ปี ชีวมวล 0.18 ล้านตัน/ปี LPG 5 ล้านกิโลกรัม/ปี และก๊าซชีวภาพส่วนหนึ่งถูกนำไปผลิตไฟฟ้า คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งรวม 175 MW สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 765 ล้านหน่วย/ปี คิดรวมเป็นมูลค่าการทดแทนทั้งสิ้นกว่า 6,798 ล้านบาท/ปี
จากความสำเร็จของโครงการฯ ดังกล่าว ส่งผลดีให้ผู้ประกอบการเกิดการยอมรับและเปลี่ยนมุมมองในการลงทุนก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพเป็นอย่างมาก จากเดิมแค่ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นสถานีผลิตพลังงาน รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และต่อยอดการพัฒนาสู่การใช้วัตถุดิบจากการเกษตร เช่น พืชพลังงาน เป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกันระหว่างชาวบ้านและโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่กันอย่างพึ่งพากัน และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการหมุนเวียนกระจายรายได้ในภาคการเกษตรที่สามารถป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงานได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตที่มีเสถียรภาพและมั่นคง มีความสามารถในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้ทดแทนในอุตสาหกรรมได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งส่งผลที่ดีต่อประเทศในการลดการนำเข้าพลังงาน และสร้างฐานความเชื่อมั่นและสามารถพัฒนาก้าวสู่ความเป็นเลิศในความเชี่ยวชาญเรื่องการนำก๊าซชีวภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคอุตสาหกรรมต่อไป
………………………