มนุษย์เรานานๆไปจะยิ่งสูง-ยิ่งฉลาด
งานวิจัยจากวารสารวิชาการ Nature เผยว่า คนเราจะค่อยๆฉลาดขึ้นและสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเทียบกับบรรพบุรุษ โดยเฉพาะคนที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมเบื้องหลังมักจะสูงขึ้นและคิดได้เร็วกว่าคนอื่น
ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้วิเคราะห์สุขภาพและข้อมูลพันธุกรรมจากการศึกษา 100 กว่าครั้งทั่วโลกจนได้ข้อมูลจากคนกว่า 350,000 คนจากทั้งในเขตเมืองและชนบททั่วโลก
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สก็อตแลนด์พบว่า การที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากมีความเชื่อมโยงกับส่วนสูงที่มากขึ้น และยังมีความเกี่ยวข้องกับทักษะทางสติปัญญาที่ดีขึ้น มีระดับการศึกษาที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็ไม่ได้มีผลใดๆต่อความดันเลือดหรือระดับคอเรสเตอรอลที่สูงขึ้น แม้อาการเหล่านี้จะหมายถึงโอกาสเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคที่ซับซ้อนอื่นๆก็ตาม
นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของคน โดยสามารถชี้ได้ว่าส่วนใดที่มีการคัดลอกพันธุกรรมมาจากพ่อและแม่อย่างไม่ผิดเพี้ยน ส่วนนี้จะบอกได้ว่าบรรพบุรุษนั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะในปัจจุบันอย่างไร
แม้ว่าส่วนที่คัดลอกมาอย่างไม่ผิดเพี้ยนเลยจะมีน้อย แต่ก็พอบอกได้ว่ารุ่นบรรพบุรุษนั้นมีความหลากหลายของยีนหรือไม่ และครอบครัวทั้งฝ่ายพ่อและแม่ดูแตกต่างกันมากเพียงใด
นักวิจัยเคยคิดกันว่า ครอบครัวที่มีความใกล้เคียงกันจะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดโรคที่ซับซ้อน แต่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ไม่ได้พบผลในลักษณะนี้เลย แต่สิ่งที่พบคือ ความหลากหลายของยีนมีความเกี่ยวข้องกับความสูงและความสามารถในการคิดเร็ว
การค้นพบครั้งนี้สื่อว่า วิวัฒนาการของมนุษย์เมื่อเวลาผ่านไปนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทางสูงขึ้นและมีทักษะการคิดที่เร็วมากขึ้น แต่ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการพัฒนาโรคร้ายแรง
ดร.จิม วิลสัน แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เผยว่า "การศึกษาครั้งนี้ช่วยตอกย้ำว่า การศึกษายีนในระดับกว้างๆจะช่วยทำให้เราค้นพบหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของเราได้"
ส่วนทาง ดร.ปีเตอร์ โจชิ แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระก็เผยว่า "งานวิจัยของเราช่วยตอบคำถามของดาร์วินเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นครั้งแรก ก้วาต่อไปของเราคือการศึกษาว่าส่วนใดในจีโนมที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากความหลากหลายนี้"
อ้างอิง: University of Edinburgh. (2015, July 1). Humans evolved to be taller and faster-thinking, study suggests. ScienceDaily. Retrieved July 5, 2015 from www.sciencedaily.com/releases/2015/07/150701133345.htm
งานวิจัย: Peter K. Joshi, Tonu Esko, Hannele Mattsson, Niina Eklund, Ilaria Gandin, Teresa Nutile, Anne U. Jackson, Claudia Schurmann, Albert V. Smith, Weihua Zhang, Yukinori Okada, Alena Stančáková, Jessica D. Faul, Wei Zhao, Traci M. Bartz, Maria Pina Concas, Nora Franceschini, Stefan Enroth, Veronique Vitart, Stella Trompet, Xiuqing Guo, Daniel I. Chasman, Jeffrey R. O'Connel, Tanguy Corre, Suraj S. Nongmaithem et al. Directional dominance on stature and cognition in diverse human populations. Nature, 2015 DOI: 10.1038/nature14618