โปรดศึกษาข้อกฎหมายให้ดีก่อนตัดสินใจ
"ตายแล้ว ไม่ถามซักคำ"
คงได้เวลาเขียนบทความเพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายแก่พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายแล้วละครับว่า กรณีทำประกันชีวิตที่ไม่ถามเรื่องสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพ พอทำสัญญาแล้วต่อมาเมื่อผู้เอาประกันตาย ทำไมบริษัทประกันฯจึงไม่จ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต...!!!???
ก่อนอื่นผมจำเป็นต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาแสดงให้ทุกท่านเห็นก่อนนะครับว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. มาตรา 865 ครับ
มาตรา 865 บัญญัติว่าถ้าในเวลาทำสัญญาประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ผมอธิบายข้อกฎหมายสั้นๆง่ายๆอย่างนี้ครับว่า หากท่านจะทำสัญญาประกันชีวิตและท่านทราบดีว่าท่านป่วยเป็นโรคดังต่อไปนี้ ท่านจะต้องเปิดเผยให้บริษัทประกันชีวิตทราบด้วย ท่านจะพูดเท็จหรือปกปิดไม่ได้ แล้วอย่าคิดที่จะปกปิดเพราะเรื่องป่วยเป็นโรคนั้นสามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง. ย้ำนะครับแม้เขาจะไม่ตรวจสุขภาพหรือไม่ถามท่านเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพก็ตาม ท่านก็ยังคงมีหน้าที่ต้องบอกเขาหรือเปิดเผยให้เขาทราบว่าท่านป่วย โดยมีโรคสำคัญที่หากท่านรู้ว่าท่านเป็นแล้วท่านจะต้องบอกเขาดังต่อไปนี้ครับ
1.โรคมะเร็งลำไส้
2.โรคเบาหวาน
3.โรคความดันโลหิตสูง
4.โรคตับแข็ง
5.โรคพิษสุราเรื้อรัง
6.โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
7.โรคลมชัก
8.โรคไตวายร้ายแรง
9.โรคดีซ่าน
ท่านฟังต่อไปครับว่า หากท่านไม่แจ้งให้บริษัทประกันฯทราบ พอผู้เอาประกันตาย บริษัทประกันฯตรวจสอบและทราบภายหลังเขาก็จะบอกล้างสัญญาโดยอ้างว่าท่านไม่เปิดเผยโรคดังกล่าวให้เขาทราบ ผลทางกฎหมายคือสัญญานั้นกลายเป็นโมฆะ เขาก็ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามสัญญาประกันฯให้ทายาทหรือผู้รับประโยชน์ของท่านนั่นเองครับ ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายมาก ยิ่งไปกว่านั้นหากท่านปกปิดแล้ว แม้ต่อมาท่านจะตายด้วยโรคอื่นหรือสาเหตุอื่นก็ตามเขาก็ปฏิเสธไม่จ่ายเงินได้เช่นเดียวกัน ผมยกตัวอย่างให้ดูอย่างนี้ครับ. เช่นท่านป่วยเป็นโรคเบาหวาน ท่านทำสัญญาประกันชีวิตแต่ท่านไม่แจ้งบริษัทประกันว่าท่านเป็นโรคเบาหวาน ต่อมาท่านตายด้วยอุบัติเหตุ อย่างนี้ถ้าต่อมาเขาตรวจสอบพบว่าท่านเป็นโรคเบาหวานเขาก็ปฏิเสธไม่จ่ายเงินได้
แต่หากท่านไม่รู้ว่าท่านเป็นโรคท่านก็ไม่ต้องบอกแม้ความจริงท่านจะเป็นก็ตาม ถ้าต่อมาท่านจะตายด้วย 1 ใน 9 โรค เช่นนี้บริษัทประกันฯก็ยังจะต้องจ่ายเงินตามสัญญานะครับ จะปฎิเสธไม่จ่ายไม่ได้
เรื่องที่มีโฆษณาเกลื่อนทีวีนั้น เป็นการที่บริษัทประกันฯเขาเอาเทคนิคหรือช่องว่างของกฎหมายมาออกเป็นโฆษณาเพื่อจูงใจให้มีการเข้าทำสัญญาได้โดยง่าย ถามว่ามันถูกหรือผิด ก็คงตอบยากครับ แต่คงเป็นเรื่องของมโนธรรมสำนึกมากกว่า ถ้ามีสำนึกจริงก็คงจะต้องแจ้งให้ผู้ทำสัญญาทราบด้วยว่า แม้จะไม่ต้องตรวจสุขภาพก็ยังจะต้องมีหน้าที่บอกว่าตนเองเป็นโรคร้ายแรงอะไรบ้าง ถ้าไม่บอกตายไปประกันจะไม่จ่ายเงิน ผมถามว่าจะมีผู้ทำสัญญาประกันชีวิตกี่คนที่เขาจะรู้เรื่องกฎหมายที่มันเป็นเทคนิคอย่างนี้. เห็นตามสื่อที่ออกมาก็รู้สึกเห็นใจนะครับอุตส่าห์ส่งเบี้ยมาตั้งห้าปีสิบปี พอตายแล้ว ประกันฯ ไม่จ่ายเงิน กลับเป็นภาระให้ลูกหลานเสียอีก หวังว่าจะมีเงินซักก้อนทำทุน แต่กลับไม่ได้ และเชื่อว่าจะมีอีกหลายคนที่จะเป็นอย่างนี้นะครับ
ดังนั้นเมื่อท่านทั้งหลายมีความรู้แล้ว ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของกลเล่ห์นี้อีกต่อไป หากท่านใดที่พลาดไปแล้วก็ต้องรีบหาทางแก้ไขนะครับเมื่อตายไปจะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกหลานต้องไปหาร้องเรียนหรือไปฟ้องคดี
หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควรครับ
ชิตพล ไชยสงเมือง