เจาะลึกเรื่องชวนหิว “อาหารญี่ปุ่นจำลอง” มองได้แต่ห้ามรับประทาน!!
ร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่นหรือร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีสาขาในประเทศอื่นๆ นั้นมีสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ดึงดูดความสนใจลูกค้าก็คือตัวอย่างอาหารสีสันสดใสน่ารับประทานที่ตั้งโชว์อยู่หน้าร้าน ซึ่งแม้จะสมจริงแค่ไหนแต่ก็กินไม่ได้เพราะมันทำมาจากพลาสติก
แม้อาจจะดูแปลกตาในสายตาผู้บริโภคต่างประเทศ แต่การใช้ตัวอย่างอาหารที่ทำขึ้นจากพลาสติกนั้นเป็นสิ่งที่ร้านอาหารในญี่ปุ่นทำมาเนิ่นนานตั้งแต่ปี 1917 ซึ่งมีความจำเป็นต่อธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวในประเทศอย่างมาก เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่นิยมเขียนเมนูเป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงภาษาเดียว
อาหารญี่ปุ่นจำลอง (Sampuru) นั้นแรกเริ่มถูกทำขึ้นเพื่อเป็นของประดับตกแต่งภายในบ้าน กระทั่งไม่กี่ปีต่อมาได้มีร้านอาหารชื่อดังในโตเกียวเกิดไอเดียแปลกใหม่ในการดึงดูดความสนใจของลูกค้า จากนั้นอาหารจำลองก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในย่านดัง
อาหารจำลองที่ชาวญี่ปุ่นใช้กันนั้นไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อประดับเท่านั้น แต่บริษัทผู้ผลิตนั้นใส่ใจทุกขั้นตอนไปจนถึงรายละเอียดเล็กน้อย เพื่อให้ได้อาหารจำลองที่หน้าตาเหมือนอาหารญี่ปุ่นแสนอร่อยทั้งรูปลักษณ์และสีสัน ซึ่งความสมจริงนี้ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจสั่งอาหารได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม
และยิ่งอาหารญี่ปุ่นจำลองนั้นมีหน้าตาสมจริงน่ารับประทานมากเท่าไหร่ ราคาก็สูงขึ้นเท่านั้น ร้านใหญ่ๆ บางแห่งอาจต้องจ่ายค่าอาหารจำลองมากกว่า 1 ล้านเยนหรือราวๆ สามแสนบาท
นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นคนแรกที่บุกเบิกอุตสาหกรรมอาหารจำลองคือ Ryuzo Iwasaki เขาเริ่มทำธุรกิจอาหารจำลองในโอซะกะตั้งแต่ปี 1932 ปัจจุบันอาหารจำลองในญี่ปุ่นกว่า 80% นั้นมาจากโรงงานของ Iwasaki Be-I
การทำอาหารจำลองนั้นไม่ได้มีความสำคัญแค่ในแง่ของธุรกิจ แต่ขั้นตอนการผลิตและสร้างสรรค์นั้นต้องใช้ความสามารถทางศิลปะร่วมด้วย พวกเขาต้องศึกษาทุกองค์ประกอบในอาหารของจริง มีการสเก็ตภาพ หล่อแบบ และให้ศิลปินที่มีฝีมือแต่งแต้มสีสันลงไปให้สวยงาม
ถ้าหากนักท่องเที่ยวท่านใดมีโอกาสไปเยือนประเทศญี่ปุ่นและอยากซื้ออาหารญี่ปุ่นจำลองกลับมาเป็นของที่ระลึกก็สามารถไปเลือกชมได้ที่ถนน Kappabashi-dori ในกรุงโตเกียว ซึ่งมีชื่อเรียกที่จดจำกันได้ง่ายว่า “Kitchen Town”
ที่มา: amusingplanet
ขอขอบคุณ ที่มา : meekhao.com