15 คำแนะนำในการสอนลูก เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เงินอย่างถูกต้อง
สำหรับบทความนี้ เป็นบทความที่มาจาก Paul Richard ซึ่งเป็น Executive vice president of National Center for Finance Education ซึ่งน่าสนใจมากครับ
โดยเนื้อหาจะเกี่ยวกับ ซึ่งไม่มีสอนในโรงเรียนอย่างแน่นอน คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้สอนลูกๆได้ครับ
1. คำแนะนำเรื่องเงิน
ให้คำแนะนำลูกในเรื่องเงิน เมื่อลูกมีความสามารถในการนับจำนวน ลองตั้งกติกาที่เป็นการเตรียมพร้อมทักษะในการใช้เงิน มีข้อมูลเรื่องการเงินแบบง่ายๆมาสอนลูก เช่น แต่ละเหรียญต่างกันอย่างไร ทำไมเวลาจะซื้อของเราถึงต้องใช้เงิน เป็นต้น
2. ใส่ใจเรื่องเงิน
พูดคุยกับลูกเหมือนกับว่าเขาโตพอที่จะใส่ใจเรื่องเงินได้แล้ว ว่าควรเก็บเงินอย่างไร? ทำให้เงินเพิ่มขึ้นอย่างไร? และที่สำคัญที่สุดคือ วิธีการใช้เงินอย่างระมัดระวังนั้นเขาทำกันอย่างไร?
3. “ความจำเป็น” “ความต้องการ” “ความอยาก”
ให้ความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า “ความจำเป็น” “ความต้องการ” และ “ความอยาก” เพื่อเป็นการเตรียมพื้นฐานในการตัดสินใจใช้จ่ายเงินที่ดีของลูกในอนาคต
4. การตั้งเป้าหมาย
ให้เด็กตั้งเป้าหมายไว้ ช่วงแรกอาจเป็นเป้าหมายระยะสั้นเช่น ของเล่น ตุ๊กตา และในระยะต่อไปอาจจะเปลี่ยนเป็นเป้าหมายระยะที่ยาวขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้เด็กๆเรียนรู้ที่จะมีความรับผิดชอบต่อตนเอง
5. การออม
แนะนำลูกๆถึงการออม อธิบายและยกตัวอย่างถึงวิธีการหารายได้เพิ่มจากดอกเบี้ยเงินออม โดยเริ่มต้นจากการจ่ายดอกเบี้ยเงินออมที่เด็กๆออมไว้ที่บ้าน ให้เด็กๆมีส่วนในการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่เขาจะได้ เด็กๆจะเริ่มเห็นประโยชน์ของการออม
6. ให้เงินในจำนวนที่เอื้อต่อการเหลือเก็บ
เวลาให้ค่าขนม ควรให้เงินในจำนวนที่เอื้อให้ได้เหลือเก็บ เช่นหากให้ค่าขนมลูก 20 บาท ก็เพิ่มให้เป็น 25 บาท และให้คำแนะนำที่น่าสนใจแก่ลูกว่าเขาควรจะออมอย่างน้อยวันละ 5 บาท อาจจะบอกลูกว่าในหนึ่งปีลูกจะมีเงินต้นรวมดอกเบี้ยเท่าไหร่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ขั้นแรกของการออม
7. เปิดบัญชีธนาคาร
เมื่อถึงเวลาก็พาลูกไปเปิดบัญชีธนาคาร แต่ข้อสำคัญคือ อย่าพูดกดดันเพื่อห้ามลูกเวลาที่เขาต้องการเบิกเงินไปซื้ออะไรที่เขาต้องการ เพราะอาจทำให้ไม่ชอบการออมไปเลย ทางที่ดีชี้ให้เขาเห็นเป้าหมายของการออมเงินของเขาและให้ตัดสินใจเอง
8. จดบันทึกการใช้จ่าย
สร้างนิสัยในการจดบันทึกการเงินตั้งแต่เด็ก ให้ใช้ซองจดหมาย 12 ซอง 1 ซองต่อ 1 เดือน สร้างให้เป็นระบบบันทึกแบบง่ายสำหรับเด็กๆ และให้เก็บใบเสร็จทุกใบไว้ในซองเดียวกัน อย่างนี้จะง่ายสำหรับการบันทึกของลูก
9. การจับจ่ายใช้สอย
การไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ เป็นโอกาสที่ดีที่เด็กจะได้มีประสบการณ์เรื่องการใช้จ่ายเงิน เพราะในแต่ละวันเราจะใช้เงินกับการเข้าร้านพวกนี้บ่อยที่สุด สอนลูกให้ฉลาดในการใช้เงิน ทั้งการวางแผนก่อนซื้อ การใช้คูปองลดราคา การเปรียบเทียบราคา สอนเขาถึงวิธีตรวจสอบราคาและคุณภาพก่อนซื้อ
10. ตัดสินใจใช้เงินด้วยตนเอง
ปล่อยให้เด็กตัดสินใจใช้เงินด้วยตนเอง ลูกจะได้เรียนรู้จากการใช้เงินของเขาเอง คุณพ่อคุณแม่อาจให้คำแนะนำเบื้องต้นและได้พูดคุยกันถึงข้อดีข้อเสียต่างๆก่อนที่เขาจะจ่ายเงินซื้อ
พยายามให้ลูกใช้เหตุใช้ผลในการใช้เงินรวมถึงการสำรวจสืบค้นข้อมูลให้ดีก่อนทำการซื้อสิ่งของชิ้นใหญ่ๆ และลูกควรจะได้เรียนรู้ที่จะอดทนรอซื้อในจังหวะที่ถูกต้อง เทคนิคการสร้าง 3 ทางเลือกสำหรับการจ่ายเงินซื้อของสักชิ้นก็เป็นสิ่งที่ได้ผลดีมากครับ
11. โฆษณาชวนเชื่อ
แสดงให้เด็กๆเห็นถึงการประเมินโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ว่าสินค้าทำอย่างที่พูดได้จริงไหม? ราคาที่โฆษณานั้นจริงหรือเปล่า? สินค้าชนิดเดียวกันมียี่ห้ออื่นที่ราคาถูกว่าแต่มีคุณภาพใกล้เคียงกันบ้างไหม? เตือนให้ลูกฟังบ่อยๆว่าบางคำพูดอาจจะสวยหรูเกินความเป็นจริง
12. อันตรายจากการกู้ยืม
เมื่อลูกโตขึ้นเขาจะได้พบกับของล่อตาล่อใจมากมาย และก็มักไม่ได้คิดถึงดอกเบี้ยและราคารวมเบ็ดเสร็จเมื่อเราผ่อนใช้คืนหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กๆเลยก็คือ อันตรายของการกู้ยืมครับ
13. การใช้บัตรเครดิต
เวลามีโอกาสใช้บัตรเครดิตในร้านอาหาร ให้ใช้โอกาสนั้นสอนลูกเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตเสียเลย สอนถึงวิธีคิดค่าบริการ การคำนวณทิป รวมทั้งการป้องกันกลวิธีในการโกงบัตรเครดิตต่างๆให้ลูกฟังด้วย
14. ประโยชน์และโทษของบัตร
ระมัดระวังการที่จะให้ลูกใช้บัตรเครดิตจนกว่าจะมีวุฒิภาวะเพียงพอ และสอนให้เขาเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของบัตรรวมทั้งอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยว่าเราจะใช้บัตรเครดิตเมื่อยามฉุกเฉินไม่ใช่ใช้ซื้อเพื่อความสะดวกสบาย
15. พูดคุยกันเรื่องเงินในครอบครัว
จัดเวลาของครอบครัวในการพูดคุยกันเรื่องเงิน ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับเด็กๆมาก ทั้งเรื่องวิธีการใช้เงินของแต่ละคน ปัญหาเรื่องเงินที่พบรวมทั้งการปรึกษากันถึงการเพิ่มจำนวนเงินให้มากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ