“ลมพิษ” โรคไกล้ตัวที่คนมองข้าม
อากาศที่แปรปรวน ทั้งแดดออก อากาศร้อน ฝนตก อากาศเย็น อับชื้น อาจช่วยกระตุ้นก่อให้เกิดโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น หนึ่งในนั้นคือ โรคลมพิษแบบเฉียบพลัน ที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก คือ โรคลมพิษแบบเรื้อรัง ซึ่งมีลักษณะอาการที่คล้ายกับโรคลมพิษแบบเฉียบพลัน
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเพยว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2558 นี้ เป็นวันโรคลมพิษโลก เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโรคลมพิษ ที่ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย
โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดได้ตั้งแต่ 0.5 หรืออาจถึง 10 ซม. เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขนขา มีอาการคัน แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจจะมีผื่นใหม่เกิดขึ้นที่อื่นๆได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม (Angioedema) โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน (acute urticaria) คือ อาการผื่นลมพิษไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นปฏิกริยาต่อการติดเชื้อเช่น เป็นไข้หวัดบางรายเกิดจากยา อาหาร แมลงกัดต่อย เมื่อแก้ปัญหาที่สาเหตุแล้วอาการจะดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางราย หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ ผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการแสดงที่อวัยวะอื่นได้ เช่น อาการปวดท้อง แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาจเป็นลมจากความดันต่ำ แต่จะพบได้น้อย โรคลมพิษชนิดฉับพลัน มักหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องไปจนเป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง
2. โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง (chronic urticaria) ผู้ป่วยอาจมีอาการผื่นลมพิษเป็นๆหายๆอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งมีทั้งชนิดที่ทราบสาเหตุกระตุ้น เช่น การติดเชื้อยา ระดับฮอร์โมน หรือเกิดจากปัจจัยทางกายภาพและชนิดไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นความแปรปรวนภายในร่างกายเอง
จากสถิติผู้ป่วยนอก แผนกผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช พบผู้ป่วยโรคลมพิษประมาณร้อยละ 2-3 ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคผิวหนัง โรคลมพิษเรื้อรังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มประชาชนวัยทำงาน อายุระหว่าง 20-40 ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยผื่นลมพิษสามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการได้ ดังนี้
1. งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
2. นำยาต้านฮิสตามีนติดตัวไว้เสมอ เพื่อให้ใช้ได้ทันทีหากมีอาการ
3. ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด
4. ไม่แกะเกาผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ
5. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม จนรบกวนการทำงานหรือการขับขี่ยานพาหนะ ควรแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาให้การรักษาต่อไปตามความเหมาะสม
6. อาจใช้ คาลาไมน์ ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน แต่ยานี้ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย
Cr. new) 108 ฉบับ วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2558