บวชชั่วคราวเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่เป็นการเห็นผิด
บวชชั่วคราวเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่เป็นการเห็นผิด
การบวชคือการ เว้น เหตุผลของการบวชก็เพราะว่า การครองเพศคฤหัสถ์ จะประพฤติพรหมจรรย์นั้นทำได้ไม่ง่ายเลย เพราะฉะนั้น จึ่งปลงผมและหนวดออกบวชเป็นบรรพชิต บวชในศาสนาพุทธมีแค่อย่างเดียวคือ “บวชด้วยศรัทธา” ไม่มีนะบวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่หรือบวชด้วยเหตุผลอื่น ถ้าผู้ที่จะบวชคิดว่าจะบวชเพราะเหตุผลอื่น รู้อยู่ว่าจะบวชชั่วคราวแล้วก็สึก อันนี้เป็นการเห็นผิด ไม่เป็นกุศลแล การบวชนั้นทำได้ยากมาก (ไม่ง่ายนะ!) และสิ่งที่ยากเข้าไปอีกเมื่อบวชแล้วคือการปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
การบวชนั้น เพื่อตนเอง ไม่ใช่เพื่อพ่อแม่ ไม่ใช่เพื่อลูก ไม่ใช่เพื่อเมีย ไม่ใช่เพื่อผู้อื่น เพราะว่ากรรมใดใครกระทำ กรรมนั้นเป็นของผู้นั้น แต่ถ้าผู้นั้นบวชแล้วปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม เป็นทักขินัยบุคคล มันก็จะเพื่อผู้อื่นไปในตัว เพราะว่าได้แสดงธรรมสงเคราะห์ผู้อื่นและเมื่อผู้อื่นมาทำบุญด้วย เขาก็จะได้บุญมากเพราะผู้นั้นเป็น ทักขินัยบุคคล แต่ตรงกันข้าม ถ้าผู้นั้นบวชแล้ว ประพฤติปฏิบัติไม่ดี นอกจากจะส่งผลไม่ดีต่อตนเองแล้ว ยังส่งผลไม่ดีต่อผู้อื่นและศาสนาด้วย เพราะฉะนั้น "การบวชชั่วคราวโดยมีความเห็นว่าการบวชนั้นจะทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้นั้นจึ่งเป็นการเห็นผิด ในเมื่อเห็นผิด ย่อมไม่เป็นกุศล"
มารดาบิดามีคุณมาก ตอบแทนไม่ได้ง่าย บวชล้านชาติก็ทดแทนไม่ได้ เพราะมันไม่เกื่ยวกับการบวชโดยที่มีความเห็นแบบนั้น แต่ถ้าอยากทดแทนได้หมด พระพุทธเจ้าให้ทำแบบนี้...
[๒๗๘] ๓๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทน
ไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ทั้งสองท่านคือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึ่ง
ประดับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิต อยู่ตลอด ๑๐๐ ปี
และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ
และการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสอง
ของเขานั่นแหละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า
อันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อนึ่ง บุตรพึงสถาปนาบิดามารดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์
ในแผ่นดินใหญ่อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น
ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้
แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทาน
ตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีล-
สัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา
ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า
อันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา
(เล่ม 33 หน้า 357 บรรทัด 11)
จาก: พระไตรปิฎก ชุด 91 เล่ม มหามกุฏราชวิทยาลัย