ภาษีการรับมรดก ประกาศบังคับใช้แล้ว
พระราชบัญญัติ ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 72 ก ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2558 นั้น มีสาระสำคัญดังนี้
1.ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
มูลค่ามรดก หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สิน อันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น ให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกทุก 5 ปี โดยนําอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคที่กระทรวงพาณิชย์คํานวณเพื่อ ใช้ในราชการในรอบระยะเวลานั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยการกําหนดมูลค่ามรดกขึ้นใหม่ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
2.มรดกซึ่งต้องเสียภาษี ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) อสังหาริมทรัพย์
(2) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอน คืนหรือสิทธิเรียกร้อง จากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้
(4) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
(5) ทรัพย์สินทางการเงินที่กําหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
3.ในการคํานวณมูลค่าของทรัพย์สิน ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก ดังต่อไปนี้
(1)กรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง
(2) กรณีเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทําการของตลาดหลักทรัพย์ใน วันที่ได้รับมรดก
(3) กรณีอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กําหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่มีลักษณะเป็นการเฉพาะ เจาะจง
4.ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี และชําระภาษีตามแบบที่อธิบดีกําหนด ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่ เสียภาษี
5.ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดก แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การถ่ายโอนทรัพย์สินโดยทางมรดกในปัจจุบันได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินจะมีจํานวนมากน้อยเพียงใด ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรที่จะจัดเก็บภาษีตามสมควรจากการรับมรดกที่มีมูลค่าจํานวนมากเพื่อนําไป พัฒนาประเทศ และยกระดับการดํารงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น