งานวิจัยพบว่าการนอนตะแคงเป็นประโยชน์ต่อสมอง
ท่าทางการนอนหลับของคุณอาจจะส่งผลกระทบมากกว่าท่าทางตอนยืนเสียด้วยซ้ำ มันสามารถที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ งานวิจัยล่าสุดเสนอว่ามันอาจจะเชื่อมโยงกับการกำจัดของเสียของสมอง และนั่นหมายความว่าท่าทางการนอนหลับบางท่าอาจจะส่งผลดีกว่าท่าอื่น
นักวิจัยพบว่าการนอนหลับตะแคงด้านใดด้านหนึ่งนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการนอนในท่าปกติคือเอาหลังหรือท้องนาบกับเตียงปรากฎว่าท่าการนอนตะแคงทำให้ร่างกายกำจัดของเสียออกจากสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า Maiken Nedergaard ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้จากมหาวิทยาลัย Rochester ในกรุงนิวยอร์ค อธิบายว่า “มันน่าสนใจมากที่การนอนตะแคงเป็นสิ่งที่เป็นที่นิยมทั้งในมนุษย์และสัตว์ส่วนใหญ่ และก็ดูเหมือนว่าพวกเราจะปรับตัวกับการนอนตะแคงไปแล้วเพื่อที่จะกำจัดของเสียจากการเผาผลาญต่างๆ ระหว่างตื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
นักวิจัยใช้วิธีที่เรียกว่า “dynamic contrast” magnetic resonance imaging (MRI) ซึ่งใช้สารเคมีพิเศษในการเพิ่มความสามารถในการมองเห็นโครงสร้างภายในของสมองเพื่อที่จะสังเกตการณ์กลไกที่เรียกว่า glymphatic pathway ซึ่งเป็นกลไกที่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid, CSF) จะทำการกรองผ่านสมองและแลกเปลี่ยนกับของเหลวที่อยู่ระหว่างเซลล์ (interstitial fluid, ISF) นี่เองที่ทำให้สารเคมีและของเสียซึ่งสะสมในสมองไม่ว่าจะเป็น amyloid beta และ tau proteins ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้ถูกกำจัด
เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่ากระบวนการนี้จะเกิดมากขึ้นขณะนอนหลับ ซึ่งการศึกษาทางคลินิกได้แสดงให้เห็นว่าการนอนหลับจะทำการกระตุ้นการกำจัดสาร amyloid beta ออกจากสมอง แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ได้แสดงให้เห็นว่าลักษณะท่าทางการนอนนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการกำจัดสารเคมีเหล่านี้เช่นเดียวกัน ในการทดลองนักวิจัยได้ทำการฉีดยานอนหลับให้แก่หนู และจากนั้นได้ติดตามกลไกการกำจัดของเสียขณะหนูนอนหลับในลักษณะท่าทางสามแบบนัน่คือ นอนตะแคง (lateral), นอนหงายราบ (supine) หรือนอนคว่ำ (prone)
ดอกเตอร์ Helene Benveniste ผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารJournal of Neuroscience ให้คำอธิบายว่า “จากผลการวิเคราะห์พบว่ากลไกการกำจัดของเสียออกจากสมองนี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการนอนหลับในท่าตะแคงเมื่อเปรียบเทียบกับการนอนแบบหงายราบหรือคว่ำ จากการค้นพบครั้งนี้ พวกเราจึงทำการเสนอว่าท่าทางการนอนหลับและคุณภาพของการนอนหลับควรจะได้รับการพิจารณาในอนาคตเมื่อทำการจัดมาตรฐานของกระบวนการถ่ายภาพวินิจฉัยการศึกษากลไกการขนส่งสาร CSF-ISF ของมนุษย์”
เป็นที่น่าสนใจที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะนอนตะแคงไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือช้าง ถึงแม้ว่านักวิจัยจะตระหนักอยู่แล้วว่าพฤติกรรมการนอนหลับของสัตว์ป่าเหล่านี้อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากการอยู่รอด และอาจจะแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ อย่างที่รู้กันว่างานวิจัยนี้ได้ทำการทดลองกับหนู ดังนั้นจึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปเดียวกันกับมนุษย์หรือไม่ แต่หากพิจารณาว่าหนูและมนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่จะชอบนอนตะแคงมากกว่า มันก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก
Nedergaard ให้ข้อสรุปว่า “โรคความจำเสื่อมหลายประเภทนั้นเชื่อมโยงกับการถูกรบกวนระหว่างการนอนหลับรวมไปถึงความยากลำบากในการที่จะหลับ และก็มันเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าการรบกวนระหว่างการนอนหลับนี้อาจจะกระตุ้นการสูญเสียความทรงจำในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ งานวิจัยนี้ได้ช่วยเสนอความรู้ใหม่อีกด้วยว่าท่าทางการนอนก็มีส่วนสำคัญกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน”
ที่มา: I Fucking Love Science