5 กลโกงข้อสอบยอดนิยมของนักศึกษาอินเดีย
ข่าวการโกงข้อสอบครั้งมโหฬารในการสอบเข้าเรียนหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ในรัฐมัธยประเทศ ของอินเดีย จนศาลสูงสุดต้องมีคำสั่งให้นักเรียน 600,000 คน เข้าสอบซ้ำอีกครั้ง ส่งผลให้ประเด็นการทุจริตในการสอบที่ทำกันอย่างเอิกเกริกในอินเดียได้รับความสนใจจากสังคม และแม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีการทำอย่างแพร่หลาย ซึ่งบีบีซีได้รวบรวม 5 กลโกงข้อสอบที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักศึกษาอินเดีย
1. การใช้เทคโนโลยีทันสมัยแบบสายลับเจมส์ บอนด์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้เข้าสอบหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ที่เพิ่งถูกศาลสั่งให้เข้าสอบใหม่นิยมใช้มากที่สุด โดยกลโกงรูปแบบนี้ผู้เข้าสอบมักลักลอบนำอุปกรณ์บลูทูธขนาดเล็ก และซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบด้วยการเย็บอุปกรณ์เหล่านี้ติดไว้ที่เสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีการใช้หูฟังขนาดเล็ก และกล้องแอบถ่ายที่เย็บติดไว้กับรูกระดุมเสื้อ รวมทั้งปากกาที่สามารถสแกนคำถามและส่งภาพออกไป ให้คนบอกข้อสอบที่อยู่ด้านนอก ส่งคำตอบกลับเข้าไปให้ผู้เข้าสอบ อุปกรณ์หล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เข้าสอบ และมีขายทั่วไปทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เจ้าหน้าที่คุมสอบต้องพยายามตามให้ทันเทคโนโลยีการโกงรูปแบบใหม่ ๆ และกวาดล้างสินค้าเหล่านี้
2. การใช้โพยลอกข้อสอบ เป็นวิธีที่ผู้เข้าสอบทำกันอย่างเอิกเกริกและอาจพบได้บ่อยที่สุดในอินเดีย โดยนักเรียนจะแอบเอาโพยคำตอบ หรือหนังสือเข้าไปในห้องสอบแม้จะมีการตรวจตราอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันภาพข่าวที่ปรากฎออกมาเผยให้เห็นผู้ปกครองจำนวนมากกำลังปีนขึ้นหน้าต่างห้องสอบเพื่อส่งโพยคำตอบให้แก่ลูกหลาน แม้ในแต่ละปีจะมีนักเรียนถูกจับได้เป็นจำนวนมาก แต่ทางการอินเดียยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
3. การจ้างคนบอกข้อสอบ เป็นวิธีที่พบเห็นไม่บ่อยนัก แต่การที่ตำแหน่งงานราชการในอินเดียมีอยู่อย่างจำกัดและมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้เข้าสอบบางคนลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบอกข้อสอบ ซึ่งเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและซับซ้อน โดยคนบอกข้อสอบจะสมัครเข้าสอบพร้อมผู้ว่าจ้าง และจัดการให้ได้นั่งสอบใกล้กัน เพื่อให้สามารถสลับกระดาษคำตอบกันได้ง่าย ส่วนอีกวิธีจะเป็นการรับจ้างทำข้อสอบโดยปลอมแปลงบัตรประจำตัวแล้วเข้าไปนั่งสอบแทนลูกค้า
4. การติดสินบนคนตรวจข้อสอบและผู้ประเมินผลสอบ ซึ่งพบเห็นได้มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีผู้เข้าสอบมากขึ้นและผู้ใช้บริการมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยจากการตรวจสอบของบีบีซีพบว่า ในรัฐอุตตรประเทศมีนักเรียนติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างแพร่หลาย
5. การใช้โซเชียลมีเดีย เป็นกลยุทธ์การโกงข้อสอบใหม่ล่าสุด โดยผู้ที่ลักลอบเข้าไปในศูนย์เก็บข้อสอบจะถ่ายภาพกระดาษคำถามแล้วนำไปเผยแพร่ตามสื่อโซเชียลมีเดีย โดยทางการอินเดียได้สั่งให้การสอบแห่งหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศที่มีผู้เข้าสอบกว่า 450,000 คนเป็นโมฆะเพราะจับได้ว่าข้อสอบรั่ว หลังมีคนเผยแพร่กระดาษคำถามผ่านแอปพลิเคชั่นวอทส์แอพพ์ นอกจากนี้ยังพบกรณีคล้ายกันในการสอบของมหาวิทยาลัยเดลี สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ขณะที่การเจาะอีเมลเพื่อเข้าถึงกระดาษข้อสอบก็เป็นปัญหาที่ทางการอินเดียต้องทุ่มงบประมาณในการรักษาข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นความลับ