เครียดๆๆ ปัสสาวะเล็ด ฉี่บ่อยตอนกลางคืน ทำไงดี???
- ผู้ที่มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยๆ ทุกชั่วโมง เวลาปวดจะรุนแรงมากจนต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที มักจะตื่นขึ้นมากลางดึกเกินกว่า 1 ครั้งเพราะปวดปัสสาวะจนทนไม่ไหว เวลาทำงานต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อยมากจนรู้สึกรำคาญ เวลาเดินทางไปไหนไกลๆ หรือรถติดบนท้องถนนก็มักจะรู้สึกปวดปัสสาวะกลางทาง สร้างความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก นพ.บุญเลิศ สุขวัฒนาสินิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า อาการต่างๆ เหล่านี้เป็นอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งมักพบได้จากหลายสาเหตุ แต่โรคหนึ่งที่พบบ่อยแต่ประชาชนทั่วไปยังอาจรู้จักน้อย คือ โรคกระเพาะปัสสาวะ ไวเกิน หรือ Over Active Bladder, OAB
โรคกระเพาะปัสสาวะ ไวเกิน เป็นกลุ่มอาการของความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเป็นภาวะที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ บางคนเป็นมากต้องปัสสาวะ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมง ยิ่งอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ จะปัสสาวะบ่อยมากขึ้น และรู้สึกปวดปัสสาวะอย่างรุนแรง เวลาปวดจะกลั้นไม่ค่อยได้ต้องรีบเข้าห้องน้ำอย่างเร่งด่วน รวมทั้งต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ จนรบกวนการนอนหลับ บางครั้งอาจมีปัสสาวะเล็ด หรืออาจมีอาการเจ็บท้องน้อยร่วมด้วย อาการจะคล้ายๆ กับเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบธรรมดา แต่จะเป็นค่อนข้างเรื้อรังเป็นเวลานาน
-
ก่อนหน้านี้เคยเข้าใจกันว่าภาวะปัสสาวะไวเกินมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ปัจจุบันพบว่า ในผู้ชายก็เป็นโรคนี้มากขึ้น โดยมักพบร่วมกับภาวะต่อมลูกหมากโต และพบได้ในคนทุกวัย แต่ไม่ค่อยพบโรคนี้ในเด็ก ซึ่งคนที่เป็นโรคนี้ ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดกับคุณภาพชีวิตโดยรวม เพราะอาการที่เป็นจะเป็นมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน มีปัญหาเวลาที่ต้องอยู่ในรถที่ติดขัด ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ มีผลต่อความสะอาดของบริเวณช่องคลอด และขาหนีบ ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่กล้าเข้าสังคม ผู้ป่วยจะไม่อยากไปไหน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะมีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่จะไป
-
อะไรคือสาเหตุของ โรคกระเพาะปัสสาวะ ไวเกิน
สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการ กระเพาะปัสสาวะไวเกิน ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากระบบประสาทที่บริเวณกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและไวกว่ากำหนด โดยที่ยังมีปริมาณปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ สาเหตุอีกส่วนหนึ่ง คือ พบร่วมกับภาวะการอักเสบ ติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะหมดประจำเดือนและโรคทางระบบประสาทบางชนิด
มีวิธีการตรวจวินิจฉัย โรคกระเพาะปัสสาวะ ไวเกินอย่างไร
การวินิจฉัย ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน (Overactive Bladder, OAB) จำเป็นต้องซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะระบบประสาท และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตัดโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการและอาการแสดงคล้ายกันเสียก่อน ได้แก่
1.การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
2.เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน ที่กดดันกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้ปัสสาวะบ่อย
3.การหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
4.ภาวะการขาดฮอร์โมนเพศหญิง
5.โรคเบาหวาน โรคเบาจืด การได้รับยาที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
6.ความผิดปกติของระบบประสาท
7.กระเพาะปัสสาวะยืดตัวผิดปกติ (Overflow Incontinence)
8.อาการที่เกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน -
โรคกระเพาะปัสสาวะ ไวเกิน รักษาได้อย่างไร
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้น การรักษาจึงใช้แนวทางรักษาหลายชนิดมาผสมผสานกัน กล่าวคือการรักษาภาวะหรือโรคที่มีผลก่อให้เกิดปัญหากระเพาะปัสสาวะไวเกิน ดังกล่าวข้างต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นการงดดื่มน้ำก่อนนอน หลีกเลี่ยงยา หรืออาหารที่มีฤทธิ์กระตุนการขับปัสสาวะ เช่น ยาขับปัสสาวะ น้ำชา กาแฟ การจัดที่นอนใหม่ให้เข้าห้องน้ำได้สะดวกขึ้น
การใช้ยาที่มีฤทธิ์คลายการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะ โดยหลักๆ จะใช้ยาในกลุ่ม Anticholinergic ซึ่งจะออกฤทธิ์คลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ลดการบีบตัวที่ไวเกินปกติของกระเพาะปัสสาวะ การใช้ยาจะต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะต่อผู้ป่วยแต่ละราย ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ต่างกันที่ราคา และผลข้างเคียงของยา
การฝึกกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมบำบัด เป็นการฝึกควบคุมระบบประสาท ที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้สมองส่วนกลางส่งสัญญาณมายับยั้งวงจรการปัสสาวะ โดยการฝึกปัสสาวะให้เป็นเวลา และเพิ่มช่วงเวลาการถ่ายปัสสาวะให้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากเดิมต้องเข้าทุกๆ 1 ชั่วโมงให้เพิ่มเป็น 1 ชั่วโมงครึ่ง และ เพิ่มเป็น 2 ชั่วโมงตามลำดับ เป็นการฝึกให้กระเพาะปัสสาวะ เก็บปัสสาวะให้มากพอ โดยไม่มีอาการบีบตัวไวกว่าปกติ รวมทั้งหลักการเบี่ยงเบนความสนใจ และผู้ป่วยควรขมิบช่องคลอดร่วมด้วย ซึ่งจะลดอาการอยากถ่ายปัสสาวะลง
การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นที่เส้นประสาทบริเวณก้นกบ (Sacral nerve stimulation) การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น ที่เส้นประสาทบริเวณก้นกบ จะช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ลงการรักษาโดยวิธีนี้ ต้องมีการผ่าตัดฝังตัว กระตุ้นสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าท้อง และกระดูกก้นกบด้วย (Sacral bone) และต้องมีการทดสอบในช่วงแรกว่าได้ผล จึงผ่าตัดฝังเครื่องชนิดถาวร (อยู่ได้ 5 ปี) การรักษาวิธีนี้ มีราคาแพง และยังอยู่ในระหว่างการวิจัย
การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อทำให้กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อหูรูดส่วนนอกของท่อปัสสาวะหนาตัวและแข็งแรงขึ้น โดยปกติการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จะใช้ในการรักษาภาวะไอ-จามจนปัสสาวะเล็ด แต่พบว่าสามารถนำมาใช้รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้ด้วยการผ่าตัด มีการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ บางส่วน หรืออาจนำลำไส้เล็กบางส่วน มาเย็บต่อกับกระเพาะปัสสาวะ เพื่อทำให้การบีบตัวไม่มีผลทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย การผ่าตัดมีผลแทรกซ้อนมาก และนิยมทำในรายที่รักษา โดยการใช้ยาแล้วไม่ได้ผลวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้ยาหรือสารบางชนิด เช่น Capsaicin ใส่ไปในกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงการทำกายภาพบำบัด
การจะการรักษาด้วยวิธีใดนั้น แพทย์จะพิจารณาตามความจำเป็นในแต่ละราย ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน ถึงแม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในหลายๆ ด้าน จึงจำเป็นที่แพทย์ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ อายุรแพทย์ และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ให้ความสำคัญและให้การดูและรักษาอย่างจริงจัง เพื่อให้หายหรือบรรเทาจากภาวะดังกล่าวได้ และให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น