วิกฤติหนี้กรีซ : จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
การลงประชามติชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจและสมาชิกภาพของกรีซในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร(ยูโรโซน) จะมีขึ้นในวันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยชาวกรีกจะต้องตัดสินใจว่าจะยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจของบรรดาเจ้าหนี้ต่างชาติหรือไม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราส เรียกร้องให้ประชาชนโหวตไม่รับเงื่อนไขดังกล่าว ด้านบรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ชี้ว่าการลงประชามติครั้งนี้เป็นการเลือกว่าจะอยู่ต่อหรือออกไปจากกลุ่มยูโรโซน บีบีซีได้รวบรวมความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในวิกฤติหนี้ของกรีซครั้งนี้
1.กรีซยอมทำข้อตกลงในนาทีสุดท้ายกับเจ้าหนี้คือ สมาชิกยูโรโซน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งเป็นแนวทางที่กลุ่มเจ้าหนี้ต้องการ และจะทำให้กรีซสามารถชำระหนี้ได้รวมทั้งยังคงอยู่ในกลุ่มยูโรโซนได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่จะยอมปล่อยเงินกู้ให้กรีซใช้จ่ายหนี้ 1,600 ล้านยูโรแก่ไอเอ็มเอฟให้ทันเส้นตายช่วงเที่ยงคืนนี้ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว
ด้านนายฌองโคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป บอกว่า ได้ยื่นข้อเสนอสุดท้ายแก่นายกรัฐมนตรีกรีซไปเมื่อคืนวานเพื่อให้เขาสนับสนุนการลงประชามติรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ต่างชาติ แต่ได้รับการปฏิเสธ นอกจากนี้การที่จะบรรลุข้อตกลงนาทีสุดท้ายกับกรีซ กลุ่มยูโรโซนจะต้องเห็นพ้องต่ออายุข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินกรีซที่จะสิ้นสุดลงในวันนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติภาคียูโรโซนส่วนใหญ่ไม่เต็มใจที่จะต้องจ่ายเงินเพื่ออุ้มกรีซต่อไป
2.ชาวกรีกลงประชามติรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ต่างชาติ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับข้อตกลงต่ออายุการช่วยเหลือทางการเงินกรีซ รวมทั้งหมายความว่าพรรคซีริซา ของนายซิปราส จะต้องเผชิญปัญหาใหญ่ทางการเมือง เนื่องจากได้เรียกร้องให้ประชาชนโหวตไม่รับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ต่างชาติ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนให้รับข้อเสนอดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลกรีซที่นำโดยพรรคซีริซายอมรับเงื่อนไขและนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่กลุ่มยูโรโซนต้องการ ก็คือ ชาติภาคียูโรโซนอีก 18 ประเทศอาจไม่เชื่อใจกรีซมากพอว่าจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและนโยบายดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันหากนายซิปราส ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนโหวตไม่รับเงื่อนไขเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการลงประชามติก็อาจทำให้เขาต้องลาออกจากตำแหน่ง
3.ชาวกรีกลงประชามติไม่รับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ต่างชาติ และออกจากกลุ่มยูโรโซนโดยไม่มีการเจรจาใดๆ กรณีนี้อาจนำกรีซเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ และทำให้ต้องกลับไปใช้เงินสกุลเดิม คือ เงินดราช มา ซึ่งอาจต้องเผชิญปัญหาค่าเงินตกต่ำ อีกทั้งยังอีซีบี อาจระงับการปล่อยเงินกู้แก่ธนาคารของกรีซด้วยเหตุผลที่ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งนั่นจะยิ่งส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่แล้วของกรีซ
4.ชาวกรีกลงประชามติไม่รับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ต่างชาติ และออกจากกลุ่มยูโรโซนโดยมีการเจรจา ซึ่งก็จะเกิดความเสียหายน้อยกว่าแนวทางในข้อที่ 3 แต่ก็จะทำให้ต้องเปลี่ยนสกุลเงินจากยูโรไปเป็นเงินดราชมาอยู่ดี นอกจากนี้การลงประชามติไม่รับเงื่อนไขเจ้าหนี้ต่างชาติยังนำไปสู่คำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสมาชิกภาพของกรีซในกลุ่มอียู เนื่องจากไม่มีการกำหนดกระบวนการขับสมาชิกออกจากอียู และอาจเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นที่ต้องการเลิกใช้เงินยูโร แต่ยังคงต้องการอยู่ในกลุ่มอียูต่อไป ซึ่งนั่นอาจทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาของอียูในอนาคต