คนไทยเตรียมชมปรากฎการณ์ “ดาวเคียงเดือน” 19-21 มิถุนายนนี้
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชวนชาวไทยเฝ้าจับตาปรากฏการณ์ท้องฟ้าน่าสนใจใกล้เข้ามาแล้ว กับ “ดาวเคียงเดือน” 19-21 มิถุนายนนี้ หัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า หากฟ้าใสเห็นชัดด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย
โดยวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน เห็นคล้าย “ดวงจันทร์ยิ้ม” ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีสุกสว่างอยู่ห่างกันคล้ายสองตา มีดวงจันทร์เสี้ยวบาง ๆ ตะแคงอยู่ด้านล่าง เผยหากพลาดจันทร์(เกือบ)ยิ้มครั้งนี้ จะเห็นอีกที 18 กรกฎาคม 2558
ภาพจำลองปรากกฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนในวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2558
เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี อยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยว มีลักษณะปรากฏที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชวนชาวไทยติดตามชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงวันสองวันที่จะถึงนี้ และต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงกลางเดือนกรกฏาคม เริ่มจากวันที่ 19-21 มิถุนายน จะเกิดปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ครั้งนี้มีดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี อยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยว ในแต่ละวันจะสังเกตเห็นรูปแบบปรากฏที่ต่างกัน และที่น่าจับตามองที่สุด คือวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน จะเห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่มีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมด้านเท่า ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างกันเพียง 6 องศา มองดูคล้ายสองตา และดวงจันทร์ข้างขึ้น 3 ค่ำจะปรากฏเป็นเสี้ยว ตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสอง ดาวศุกร์จะสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี และอยู่เยื้องต่ำกว่าเล็กน้อย ปรากฏคล้าย “ดวงจันทร์ยิ้ม” ให้กับคนไทย ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงประมาณ 3 ทุ่มเศษก็จะตกลับขอบฟ้าไป ช่วงดังกล่าวหากฟ้าใสไม่มีเมฆ จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ครั้งนี้ดวงจันทร์จะหันด้านมืดตะแคงออกด้านข้าง จึงมีลักษณะต่างจากพระจันทร์ยิ้มครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551
จากนั้น วันที่ 30 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2558 ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนที่มาอยู่เคียงชิดกัน ห่างเพียง 0.4 องศา สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทั้งประเทศทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วเช่นกัน
ภาพจำลองตำแหน่งดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเคลื่อนที่เข้าใกล้กันมากที่สุดช่วงวันที่ 30 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2558
สำหรับผู้ที่พลาด ดาวเคียงเดือนจะกลับมาปรากฏให้เห็นคล้ายดวงจันทร์ยิ้มอีกครั้ง ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่ครั้งนี้ ดาวศุกร์เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่เหนือดาวพฤหัสบดี ห่างกันเพียง 5 องศา มองดูคล้ายสองตา พร้อมดวงจันทร์ข้างขึ้น 2 ค่ำปรากฏเป็นเสี้ยว ตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสอง และดวงจันทร์อยู่ห่างจากดาวเคราะห์ทั้งสองมากกว่าวันที่ 20 มิถุนายนเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสังเกตปรากฏการณ์ได้ยากกว่า เนื่องจากในวันที่ 18 กรกฏาคม ดวงจันทร์จะอยู่สูงจากขอบฟ้าเพียงเล็กน้อย และมีแสงสนธยารบกวน
ภาพจำลองปรากกฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนในวันที่ 18 กรกฎาคม 2558
ดาวเคียงเดือน เป็นปรากฏการณ์ปกติทางดาราศาสตร์ที่สวยงาม และหาชมได้ไม่บ่อยนัก นับเป็นอีกหนึ่งอีกปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในรอบปีนี้ อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) ที่เกิดจากแสงอาทิตย์สะท้อนผิวโลกไปยังดวงจันทร์ และสะท้อนกลับมายังผู้สังเกตบนโลกอีกต่อหนึ่ง ทำให้เห็นแสงจาง ๆ จากด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งจะสังเกตได้ดีในช่วงที่เป็นจันทร์เสี้ยว เป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เราสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในช่วงดังกล่าวเช่นกัน
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ และเห็นได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครู นักเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ก็สามารถใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์พร้อมกับให้ความรู้ทางดาราศาสตร์แก่นักเรียน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดาราศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น
ภาพถ่ายปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
ภาพถ่ายปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่มีลักษณะคล้ายดวงจันทร์ยิ้มเหนือฟ้าเมืองไทยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
ทางด้าน นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพดาราศาสตร์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์จะได้รอชมและเก็บภาพความสวยงามของปรากฏการณ์ดังกล่าว มี “ดาวเคียงเดือน” เป็นตัวชูโรง ตั้งแต่เดือนมิถุนายนยาวไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหลังดวงอาทิตย์ตกดินเป็นต้นไป บางวันยังเรียงตัวให้เห็นกันในรูปแบบคล้ายดวงจันทร์ยิ้มอีกด้วย การถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวในแสงช่วง ทไวไลท์จะเป็นช่วงที่สวยที่สุดและยังสามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์แสงโลกไว้ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ช่วงสิ้นเดือนในวันที่ 30 มิ.ย. – 1 ก.ค. ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์จะเคลื่อนที่มาชิดกัน หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน แนะนำว่าโอกาสดีแบบนี้ ควรถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขาตามดาว เพราะจะช่วยเก็บรายละเอียดของดาวเคราะห์ทั้งสองไว้ดีที่สุด ส่วนที่เหลือก็คงเป็นการเลือกสถานที่ในการถ่ายภาพ ที่จะช่วยเสริมให้ภาพปรากฏการณ์นั้นมีความสวยงามและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขอให้ทุกท่านสนุกกับการเก็บภาพความประทับใจของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้ครับ
สำหรับผู้ที่สนใจจะชมปรากฎการณ์ “ดาวเคียงเดือน สามารถชมพร้อมๆกันที่ลานกิจกรรม ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ สถานที่ดังต่อไปนี้
- ฉะเชิงเทรา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 038-589395
- นครราชสีมา ณ บริเวณสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 044-216254