อิ่วจาก้วยนะ ไม่ใช่ปาท่องโก๋
ขนมซึ่งคนกรุงเทพฯ เรียกชื่อผิด แล้วทำให้คนไทยเรียกผิดกันทั้งประเทศ คือขนมที่คนไทยเรียกว่า ปาท่องโก๋ แต่คนที่รู้ภาษาจีน จะรู้ว่าเรียกผิดแน่นอน เพราะ ปาท่องโก๋ เป็นชื่อของขนมอีกชนิดหนึ่ง คือ 白糖糕 อ่านออกเสียงว่า ปะถ่องโก๊ ในสำเนียงจีนกวางตุ้ง หรือ แปะถึ่งกอ ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ ไป่ถางกาว ในสำเนียงจีนกลาง
白 แปลว่า ขาว 糖 แปลว่าน้ำตาล 糕 แปลว่าขนมที่เป็นก้อน
白 糖 糕 เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลทรายขาว นึ่งในถาด แล้วตัดขายเป็นชิ้นๆ เนื้อขนมมีลักษณะพรุน ไม่เนียน ไม่เรียบเป็นมันเท่าขนมเปียก แต่ไม่แห้งเท่าขนมถ้วยฟู เปียกประมาณขนมน้ำดอกไม้ เหนียวนิดๆ เคี้ยวหนึบๆ สีขาวบริสุทธิ์ ดังรูป
ส่วนรูปข้างล่างนี้ คนจีนเรียกว่า 油 炸 粿 (yóuzháguǒ) อ่านออกเสียงว่า โหยวจ๋าโกว่ ในสำเนียงจีนกลาง หรือ อิ่วจาก้วย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ อิ่วจ่าโก้ย ในสำเนียงจีนฮกเกี้ยน คนฮกเกี้ยนในภาคใต้ของไทยมักเรียกสั้นๆ ว่า จ่าโก้ย แต่เด็กหรือผู้ใหญ่รุ่นใหม่จะเรียกผิดตามคนกรุงเทพฯ ว่า ปาท่องโก๋ เพราะเรียกตามคนเมืองหลวงแล้วรู้สึกว่าเก๋ ทันสมัย แม้ว่าจะผิด ถ้าเรียกตามบรรพบุรุษของตัวเองแล้วรู้สึกว่าเชย ล้าสมัย แม้ว่าจะถูก
油 แปลว่า น้ำมัน 炸 แปลว่าทอด 粿 แปลว่าขนม
油 炸 粿 แปลว่า ขนมทอดในน้ำมัน ตามรูป
อิ่วจาก้วย (油 炸 粿) เป็นขนมที่นิยมกินกันอย่างแพร่หลายสืบทอดกันมายาวนานในหมู่ชนชาวจีน โดยเรียกกันว่า
อิ่วจากุ้ย (油 炸 鬼) คำว่า 鬼 ออกเสียงว่า กุ้ย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ เกว่ย ในสำเนียงจีนกลางและจีนกวางตุ้ง แปลว่า ผี
油 炸 鬼 จึงแปลว่า ผีทอดในน้ำมัน ชื่อนี้มีที่มาอิงประวัติศาสตร์ โดยมีการแสดงในงิ้วการเมืองและเล่าต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า
ในสมัยราชวงศ์ซ้อง (宋朝 อ่านว่า ซ่งฉาว ในสำเนียงจีนกลาง 宋 เป็นชื่อราชวงศ์ 朝 แปลว่าราชวงศ์) มีขุนนางกังฉิน ชื่อฉิ่งก่วย (秦檜) รับสินบนในการวางแผนร่วมกับข้าศึก เรียกตัวขุนศึกตงฉินชื่อหงักฮุย (岳飛) ซึ่งเป็นแม่ทัพกำลังรบป้องกันราชอาณาจักรอยู่ในสมรภูมิชายแดน ให้ยกทัพกลับเมืองหลวง โดยอ้างว่าเป็นพระราชโองการจากฮ่องเต้ เป็นเหตุให้ข้าศึกตียึดเมืองชายแดนได้ หงักฮุยถูกประหารชีวิต เนื่องจากไม่ได้มีราชโองการให้ยกทัพกลับในขณะที่กำลังรบอยู่ (秦檜 ออกเสียงว่า ฉิ่งก่วย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า ฉินหุ้ย ในสำเนียงจีนกลาง 岳飛 ออกเสียงว่า หงักฮุย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า เย่เฟย ในสำเนียงจีนกลาง)
ประชาชนโกรธแค้นฉิ่งก่วยมาก ระบายความแค้นด้วยการทำขนมที่ใช้แป้งสาลีปั้นเป็นรูปคนคู่ติดกัน เอาลงทอดในน้ำมัน เพื่อเป็นการสาปแช่งฉิ่งก่วยและภรรยาให้ตายไปจะต้องตกนรก ลงกระทะทองแดง เหมือนขนมรูปคนคู่ที่ถูกทอดอยู่ในกระทะน้ำมัน ชื่อแรกสุดของอิ่วจาก้วย จึงเป็น 油 炸 檜 (ออกเสียงว่า อิ่วจาก่วย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ โหยวจาหุ้ย ในสำเนียงจีนกลาง) หมายถึงเอาขุนนางกังฉินที่ชื่อก่วย (檜) มาทอดในน้ำมัน
ต่อมาเมื่อฉิ่งก่วยตายเป็นผีไปแล้ว จึงเปลี่ยนเป็น 油 炸 鬼 (ออกเสียงว่า อิ่วจากุ้ย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ โหยวจาเกว่ย ในสำเนียงจีนกลาง 鬼 แปลว่า ผี) และปัจจุบันเป็น 油 炸 粿 (ออกเสียงว่า อิ่วจาก้วย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ โหยวจาโกว่ ในสำเนียงจีนกลาง 粿 แปลว่าขนม)