ใครๆ ก็สามารถเป็นโรคสังคังได้ จริงหรือ?
** ภาพประกอบเกี่ยวข้องกับการรักษา และข้อมูลทางการแพทย์ ไม่ส่ออนาจารนะครับ อย่ารีพอร์ตให้ลบกระทู้ล่ะ **
สังคังคืออะไร
สังคัง หรือ โรคสังคัง (Tinea Cruris) คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณโคนขาหนีบ ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิด Trichophytor Rubrum โดยมักเกิดขึ้นในประเทศหรือพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้น สังคังสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบในผู้ชายได้มากกว่า ผู้รู้บางท่านก็กล่าวไว้ว่าสาเหตุที่ผู้ชายเป็นโรคสังคังมากกว่าเพราะว่าผู้ชายไม่ค่อยรักษาความสะอาดเท่าผู้หญิงและในบางครั้งก็ใช้ของบางอย่างร่วมกับผู้อื่น ทำให้เกิดการแพร่ของเชื้อได้ง่ายนั่นเอง
สังคังนับได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อได้ง่ายมากอีกโรคหนึ่ง โดยมากเกิดการติดต่อจากการสัมผัส หรือการใช้สิ่งของ เช่นเสื้อผ้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกัน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกัน จะสามารถลดการติดต่อและการติดเชื้อโรคสังคังที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่ง
ภาพสังคังบริเวณโคนขาหนีบ
โรคสังคังเกิดจากอะไร
โรคสังคังเกิดจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีความอับชื้นบริเวณขาหนีบ ในบางรายก็ไปรับเชื้อสังคังมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว และพบว่าจำนวนไม่น้อยเกิดจากการใช้ของใช้บางอย่างร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว กางเกงขาสั้น (หรือกางเกงชั้นใน) สามารถพบการเกิดสังคังได้มากเช่นกันกับผู้ที่ใส่กางเกงรัดมากเกินไป หรือใส่กางเกงยีนส์นานๆ เนื่องจากกางเกงยีนส์ระบายความร้อนและอากาศได้ไม่ดี ทำให้เกิดความชื้นขึ้นบริเวณขาหนีบได้ง่าย
เชื้อรา Dermatophyte
เชื้อรากลุ่ม Dermatophyte ต้นเหตุของการเกิดสังคัง
กลุ่มคนที่สามารถเกิดสังคังได้ง่ายมีหลายกลุ่ม เช่น
- กลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้ง มีเหงื่อออกตลอดเวลา เช่น กรรมกรก่อสร้าง ผู้ที่ทำงานแบกหาม เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด กระเป๋ารถเมล์ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตำรวจจราจร และยาม เป็นต้น
- นักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬากลางแจ้งและกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังมากหรือมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
- กลุ่มคนที่ชอบใส่เสื้อผ้ารัดรูป โดยเฉพาะกางเกงรัดรูป
- กลุ่มคนที่ชอบใส่กางเกงยีนส์ ก็มีโอกาสเป็นสังคังมากกว่าคนที่นิยมใส่เสื้อผ้าแบบโปร่งสบาย
- กลุ่มคนที่ชอบใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ ไม่ค่อยซักเสื้อผ้า
- กลุ่มคนที่ไม่ชอบอาบน้ำ
- กลุ่มคนที่ส่ำส่อนทางเพศ
- กลุ่มคนอ้วน (เนื่องจากเกิดความอับชื้นที่ขาหนีบได้ง่าย)
สังคังในผู้หญิง
โรคสังคังในผู้หญิงนั้นก็เช่นเดียวกันกับสังคังในผู้ชายทุกประการ ทั้งรูปแบบของโรค อาการของโรค การรับเชื้อและการแพร่เชื้อ เพียงแต่พบได้น้อยกว่าเท่านั้น สาเหตุก็เนื่องมาจากผู้หญิงจะนิยมรักษาความสะอาดของตัวเองมากกว่า ทำงานหรือมีกิจกรรมที่มีเหงื่อน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทำงานแบกหาม ทำงานกลางแจ้ง นักกีฬา ทำงานในที่ร้อนอบอ้าวมีเหงื่อมาก ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสังคังได้เท่ากับผู้ชายเช่นกัน เรียกได้ว่าสังคังนั้นเป็นโรคที่เกิดได้แบบไม่เลือกเพศและวัย
สังคังในผู้หญิง
สังคังในผู้หญิง มีโกาสเกิดเท่ากับสังคังในผู้ชาย
สังคังในผู้ชาย
โรคสังคังในผู้ชายนั้นพบได้มากกว่าผู้หญิงมาก เนื่องจากผู้ชายส่วนมากมักมีกิจกรรมหนักๆตลอดเวลา เช่น การเล่นกีฬากลางแจ้ง การแบกหามของหนัก การท่องเที่ยวนอกสถานที่ ตลอดจนการสังสรรค์เฮฮา และยังพบว่าผู้ชายจะรักษาความสะอาดของตัวเองไม่ดีเท่าผู้หญิง จึงทำให้โอกาสการเกิดสังคังมีมากกว่าผู้หญิง อีกทั้งผู้ชายโดยเฉพาะวัยรุ่นมักนิยมใช้เสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกันอีกด้วย ทำให้เกิดการติดต่อโรคสังคังกันได้ง่าย
สังคังในนักกีฬา
นักกีฬาเป็นกลุ่มคนประเภทหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเป็นสังคังมากพอๆกับกรรมกรแบกหาม อันเนื่องมาจากต้องมีเหงื่อออกมากทั้งในการแข่งขันและการฝึกซ้อม ถ้าดูแลความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าไม่ดีพอ โอกาศเกิดโรคสังคังจะยิ่งสูงขึ้น
อาการของโรคสังคัง
อาการของสังคังที่เห็นได้ชัดคือ มีอาการคันอย่างรุนแรงบริเวณที่เป็น (โดยเฉพาะขาหนีบ) เกิดเป็นตุ่มใสๆขึ้นหรือเป็นผื่นแดงขอบนูนและมีขุยสีขาวๆเหมือนการเป็นโรคกลาก ถ้ายิ่งเกาเพื่อให้หายคันจะยิ่งลุกลามจนเกิดผิวแผลถลอกและผิวหนังลอก ซึ่งจะทำให้มีอาการคันและแสบร้อนมากยิ่งขึ้นและเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังผิวหนังข้างเคียง ในบางรายที่เป็นมากพบว่าเชื้อราโรคสังคังสามารถลามไปยังได้หลัง (บริเวณก้น) และลุกลามไปติดยังอวัยวะเพศได้ด้วย
ภาพอาการของโรคสังคัง ในรายที่เป็นมากเชื้อสังคังสามารถลุกลามไปถึงก้นได้
วิธีรักษาสังคัง
วิธีการรักษาสังคังนั้นสามารถรักษาในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง เช่น หาซื้อยาฆ่าเชื้อราหรือครีมสำหรับรักษาอาการคันในร่มผ้าเนื่องจากเชื้อรามาใช้ โดยต้องอาบน้ำชำระความสกปรกก่อนเสมอและเช็ดตัวให้แห้งก่อนทายา
ที่สำคัญที่สุดคือห้ามเกาห้ามแกะเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อสังคังลุกลามอีก แต่ถ้าใน 3-4 วันอาการคันยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์ (ห้ามอาย ถ้าอายก็คงต้องเกากันยันลูกบวช) แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการว่าควรรักษาแบบไหน ใช้ยาทาอย่างเดียว หรือต้องให้ยาทาพร้อมยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาล้างแผลด้วย ในรายที่เป็นมากแพทย์อาจจัดยากินเสริมให้ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและการลุกลามของเชื้อโรคสังคังเป็นสำคัญ