เลือกหลังคายังไง ให้บ้านเราเย็น (และสวยด้วย)
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า สีเข้ม ดูดซับความร้อนมาก สะท้อนความร้อนน้อย ส่วนสีอ่อนสะท้อนความร้อนมาก ดูดซับความร้อนน้อย ธรรมชาติของสีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการเลือกสีหลังคาบ้านให้หลังคานั้นถ่ายความร้อนเข้าตัวบ้านให้น้อยที่สุด ข้อมูลที่นำมาเขียน มาจากหนังสือชื่อ “บ้านเย็นแก้โลกร้อน” เขียนโดย ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร ทาง AKANEK ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
อย่างที่คุยกันไว้ในเรื่อง (ระบบระบายอากาศใต้หลังคา) วัสดุหลังคา ดาดฟ้า หรือผนังบ้านสามารถดูดซึมและสะสมความร้อนจากแสงแดดเอาไว้ได้ ยิ่งถ้าใต้หลังคาปูฉนวนกันความร้อนบางเกินไปหรือไมได้ปูเอาไว้อีกชั้น ความร้อนที่ผ่านเข้ามาก็จะแผ่ตรงเข้าไปในตัวบ้านทั้งหมด ชั้นที่จะได้รับความร้อนนี่มากที่สุด ก็หนีไม่พ้นชั้นสูงสุดที่อยู่ถัดจากหลังคา ซึ่งถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิบนหลังคาอาจจะสูงถึง 40 หรือมากกว่า40องศาเซลเซียสได้ ซึ่งถ้าเราเปิดแอร์อยู่ ก็จะรู้สึกว่าแอร์ไม่เย็นเอาเสียเลย เราจะหยิบรีโมทมาเร่งให้แอร์เย็นขึ้น แอร์ก็จะต้องเร่งทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้อากาศภายในห้องเย็นสบาย รวมถึงปริมาณไฟฟ้าที่ใช้มากขึ้น
แน่นอนว่า เราเลี่ยงไม่ให้หลังคาบ้านโดนแดดเลยคงเป็นไปได้ยาก ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ก็คือ ไม่ปล่อยให้หลังคาหรือผิวผนังบ้านดูดซับความร้อนเอาไว้มากเกินไป ด้วยการเลือกใช้สีกระเบื้องหลังคาหรือสีผนังภายนอกอาคารที่ช่วยสะท้อนความร้อน และดูดซับความร้อนได้น้อยลง เนื่องจากวัสดุสีอ่อน พื้นผิวจะดูดกลืนรังสีความร้อนเอาไว้ได้น้อยกว่าพื้นผิวสีเข้มๆ
ซึ่งเขามีการวิจัยออกมาแล้วว่า พื้นผิวที่สีอ่อนจะดูดซึมความร้อนต่ำ ในขณะที่พื้นผิวที่สีเข้มๆ จะดูดความร้อนได้ดี (อันนี้ในหนังสือก็ไม่ได้บอกเสียด้วยว่าวัสดุที่ใช้ในการทดสอบคือวัสดุอะไร) เช่น
- ถ้าพื้นผิวเป็นสีขาว แสงแดดส่องลงมาจะสะท้อนออกไป 95% ดูดซับเอาไว้ในเนื้อวัสดุ 5%
- ถ้าพื้นผิวเป็นสีเทา แสงแดดส่องลงมา จะสะท้อนออกไป 50% ดูดซับเอาไว้ในเนื้อวัสดุ 50%
- ถ้าพื้นผิวเป็นสีดำ แสงแดดส่องลงมา จะสะท้อนออกไป 5% ดูดซับเอาไว้ในเนื้อวัสดุ 95%
หลังคาทรงสูง บ้านเดี่ยว ประชาอุทิศ
แต่หลายคนมักจะเห็นว่าหลังคาสีอ่อนนั้นไม่สวย หลังคาสีเข้มสวยกว่า หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้หลังคาสีเข้มจริงๆ ก็อาจจะเคลือบทับผิวหน้าวัสดุด้วยสารพิเศษที่สามารถป้องกันหรือสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ เช่น เซรามิคโค๊ตติ้ง (Ceramic Coating) ซึ่งหลายยี่ห้อก็ทำกันอยู่ แต่ข้อเสียของสารพิเศษพวกนี้ก็คือ ด้วยความที่สารพวกนี้ถ้าเคลือบไปบนพื้นผิวแล้วจะเกิดความมันวาว ช่วยให้รังสีความร้อนถูกสะท้อนออกไปได้ง่ายกว่า แต่ความมันวาวของมันจะรบกวนสายตาจากแสงสะท้อนไปยังผู้คนโดยรอบได้ และสารเคลือบพิเศษพวกนี้ ถ้ามีคราบสกปรกมาทับ ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงก็จะลดลงหรือหมดไป เพราะฉะนั้นก็จะต้องหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้พื้นผิวมีความมันวาวอยู่เสมอ ราคาค่อนข้างสูง
หลังคาแบบเรียบๆ ทาวน์เฮ้าส์ วัชรพล
ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือ เตรียมการป้องกันตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง เช่น ใช้ระบบโครงหลังคาที่มีการระบาย ถ่ายเทอากาศได้ดีอย่างที่เกริ่นไว้ในบทความที่แล้ว แล้วเสริมประสิทธิภาพการสะท้อนเอาความร้อนออกไปด้วยการเสริมแผ่นสะท้อนความร้อนใต้หลังคาอีกชั้น เปลี่ยนฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาให้หนาขึ้น มีประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนให้มากขึ้นจะประหยัดกว่า
ส่วนเรื่องวัสดุมุงหลังคาก็ต้องยอมรับว่า ในบ้านเรานิยมใช้กระเบื้องมุงหลังคากันเสียส่วนใหญ่ แล้วเจ้ากระเบื้องหลังคายี่ห้อต่างๆ ในบ้านเรา หลักๆ แล้วก็ทำมาจากซีเมนต์ ใยหิน คอนกรีต และส่วนผสมอื่นๆ ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเจ้าวัสดุพวกนี้ดูดซับความร้อนเก่ง เก่งแค่ไหนก็ลองนึกถึงพื้นคอนกรีตที่ตากแดดนานๆ ว่ามันร้อนแค่ไหน พอถูกทำให้กลายเป็นกระเบื้องหลังคา ต้องรับแดดจัดๆ ทั้งวัน จะร้อนขนาดไหนน่าจะนึกภาพออก สะท้อนความร้อนได้น้อย แถมยังต้องใช้เวลานาน กว่าที่กระเบื้องจะคายความร้อนออกมาจนหมด ส่วนใหญ่แล้วกว่าที่กระเบื้องจะคายตัวเย็นลงก็เป็นเวลาค่ำๆ ไปแล้ว
ผนังบ้าน พยายามเลือกสีในโทนอ่อน เพื่อลดการดูดซับความร้อนไว้ในผนังเอาไว้ โชคดีอย่างหนึ่งที่ว่า บ้านในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วสีตัวอาคารบ้านเรือนมักจะใช้โทนสีอ่อน พวก ขาว ครีม หรือสีเปลือกไข่ไก่กันอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ค่อยจะมีปัญหาในการเลือกสีเท่าไหร่ ถ้าชอบสีเข้มหรือจำเป็นต้องเป็นสีเข้มจริงๆ ให้ใส่ฉนวนกันความร้อนเข้าไปที่ผนังอีกชั้นเพื่อป็นการสกัดกั้นความร้อนที่ผ่านตัวผนังเข้าไป ให้ผ่านเข้าไปในตัวบ้านได้น้อยที่สุดค่ะ
สีของอาคารก็มีผลต่อความเย็นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงวัสดุ และสีที่ใช้ด้วยครับ
คอนโดสุขุมวิท