เรื่องจริงบทเรียนของเด็กสาวอ่อนโลก ตกเป็นเหยื่อ cyber sex
แม้ธุรกิจไซเบอร์เซกส์ cyber sex ทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ จะเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปทั่วโลก ทำกำไรมหาศาลแก่ผู้ประกอบการ แต่สำหรับธุรกิจค้ากามมนุษย์ในรูปแบบนี้ เพิ่งจะและกำลังเป็นที่นิยมในแดนตากาล็อก ประเทศฟิลิปปินส์
แมรีเคลเป็นเด็กแรกสาววัย 15 ปี เธอเป็นเด็กขี้อาย หน้าตาดี และใบหน้าดูอ่อนกว่าอายุจริงของตัวเอง วัยเพียงเท่านี้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นรอยด่างพร้อยจากน้ำมือของผู้ใหญ่หลายคน
เธอเล่าว่า เมื่อสองปีก่อน ป้าบอกให้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยและพี่เลี้ยงเด็กในเมือง Olongapo พอไปถึง ป้าบอกให้เธอแต่งตัวสวยๆ แล้วสั่งให้ไปนั่งแหมะที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับแสดงให้แมรีเคลดูว่าต้องทำอย่างไร เด็กน้อยไม่มีทางเลือก ได้แต่ทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ และนี่จึงทำให้เธอกลายเป็นเด็กสาวที่ในฟิลิปปินส์เรียกว่า เด็กสาวแชทในโลกไซเบอร์เซกส์
คิมเป็นเด็กแรกสาวอีกคน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของแมรีเคล และถูกล่อลวงมาสู่วงจรอุบาทว์ คิมเล่าถึงการทำงานว่า “พวกลูกค้าต้องการให้พวกเราโชว์เรือนร่างให้ดู พวกเราจะถอดเสื้อผ้าออก ถ้าพวกเขาชอบใจการแสดงของเรา พวกเขาก็จะเรียกร้องให้โชว์ส่วนอื่นๆ ด้วย”
ไซเบอร์เซกส์เติบโตอย่างหยุดไม่อยู่ในประเทศที่มีความยากจน และประชากรอย่างน้อยพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งแสดงถึงความพร้อมทางด้านอุปทาน เจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานสำรวจแห่งชาติของฟิลิปปินส์ไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่นอนได้ว่า มีเด็กหญิงและเด็กสาวต้องทำงานในธุรกิจไซเบอร์เซกส์จำนวนเท่าไหร่ พวกเขาประมาณการว่า มีหลายพันคนที่ทำงานลักษณะนี้ โดยพวกเขาจะถูกกักขังไว้ในห้องลับและอพาร์ตเมนท์ขนาดเล็กหลายแห่ง ซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง
ไซเบอร์เซกส์ถูกจัดว่าเป็นสื่อลามกอนาจาร และผิดกฎหมายในฟิลิปปินส์ สิ่งที่ทางการวิตกกังวลมากที่สุด คือจำนวนของแด็กสาวที่ถูกล่อลวงและถูกขายเพื่อมาทำงานนี้ อย่างแมรีเคลและคิม ทั้งคู่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย
เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าตำรวจด้านสตรีของฟิลิปปินส์ บุกตึกที่ใช้เป็นที่ทำงานของเด็กหญิงเหล่านี้ในเมือง Olongapo ได้พบกับเด็กหญิงเปลือยกายล่อนจ้อนจำนวน 6 คน และเด็กที่อายุต่ำสุดมีอายุเพียง 13 ปี หากสังเกตจากด้านนอก บ้านหลังที่เจ้าของธุรกิจใช้เป็นที่กบดานให้แก่เด็กสาว ไม่ต่างจากบ้านหลังอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน มีรถราสัญจรไปมาคับคั่ง และมีร้านค้าร้านหนึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนน ผู้คนก็สัญจรกันไปมาทุกวันเป็นปกติ
เจ้าของห้องที่อยู่ถัดไป ปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นว่ามีการทำธุรกิจไซเบอร์เซกส์ผิดกฎหมาย และยังบอกอีกว่า เธอไม่ได้รู้จักหน้าคาดตาเด็กสาวทั้ง 6 คนมาก่อน ไม่ว่าเพื่อนบ้านจะไม่รู้ไม่เห็น หรือปิดปากเงียบก็ตาม
ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
อีกอย่างห้องลับของไซเบอร์เซกส์ซ่อนตัวอยู่ห่างไกล และยากมากที่ตำรวจจะพบแหล่งกบดาน
เจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นที่กบดานดังกล่าว เนื่องจากมีเด็กสาวที่หนีรอดออกมาจากตรงนั้นได้ แล้วนำหลักฐานคือภาพถ่ายวีดีโอ ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ กำลังแชทออนไลน์กับลูกค้า โดยได้บันทึกเอาไว้ในโทรศัพท์มือถือ เมื่อหนีออกไปได้ จึงนำหลักฐานนี้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แม้จะบุกไปถึงที่เกิดเหตุ แต่ตำรวจก็ไม่สามารถจับกุมตัวผู้เป็นตัวการของธุรกิจนี้ได้
หัวหน้าหน่วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ระบุว่า พวกเขาจะใช้เซิร์ฟเวอร์และเว็บไซต์ซึ่งทำการจดทะเบียนนอกประเทศฟิลิปปินส์ และแม้จะจับกุมตัวผู้ทำธุรกิจนี้ได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้กระบวนการตัดสินไปถึงที่สุดในชั้นศาล
เนื่องจากคดีนี้ทุกคดีจะมาแช่อยู่ที่สำนักงานสอบสวน และไม่เคยมีคดีไหนหลุดไปจนถึงการพิพากษาในชั้นศาล
และพวกทำธุรกิจก็จะอ้างว่า ไซเบอร์เซกส์ เปรียบไปก็ไม่ต่างจาก การทำงานศูนย์บริการข้อมูลหรือที่รู้จักกันว่าคอลเซนเตอร์ โดยผู้ประกอบการจะจัดจ้างเจ้าหน้าที่จากภายนอกมาดำเนินการ ซึ่งเหตุผลนี้คือข้ออ้างข้างๆ คูๆ ของผู้กระทำผิด
ภาพซ้าย คิมและแมรีเคล ภาพขวา บ้านที่ใช้เป็นที่กบดาน
ปัจจุบันนี้ทั้งคิมและแมรีเคล ต่างหลุดพ้นออกมาได้จากวงจรอุบาทว์นี้แล้ว และอยู่ในการดูแลของ Preda หน่วยงานซึ่งดำเนินการโดยนักบวชชาวไอริช ทุกวันนี้ ภาพประสบการณ์และความทรงจำในการทำงานไซเบอร์เซกส์แชท ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของเธอทั้งสองคน
“ฉันรู้สึกอับอายทุกครั้งที่เห็นพวกมันหน้าจอคอมพิวเตอร์ ฉันเกลียดพวกมัน เพราะฉันรู้ว่าฉันเป็นเด็ก” แมรีเคลกล่าว
ส่วนคิมไม่พูดพล่าม “ฉันเกลียดพวกมัน อยากให้พวกมันตายแล้วตกนรกหมกไหม้”
หมายเหตุ ชื่อของ แมรีเคลและคิม เป็นชื่อสมมติ
ภาพ จากเว็บไซต์ www.bbc.co.uk
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=701076