ทราบไหม พระธาตุของพระถังซำจั๋ง อยู่ที่ไหนบ้าง
หลังจากละสังขารแล้ว ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พระธาตุของพระถังซำจั๋งถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่ใด แต่เชื่อกันสถิตอยู่ ณ เจดีย์ 5 ชั้นแห่งวัดซิงเจี้ยว ในนครซีอาน แต่ก็ไม่มีการพิสูจน์แต่อย่างใด ทว่า อย่างน้อยบริเวณพระเจดีย์ คือสถานที่ฝังสังขารพระถังซำจั๋ง ซึ่งท่านกำชับไว้ให้ฝังเยี่ยงคนอนาถา ใช้เสื่อสาดห่อไว้เหมือนศพคนยาก แม้บรรดาศิษย์และฮ่องเต้จะทัดทาน แต่ก็ไม่อาจขัดขืน ร่างสังขารของท่านจึงได้รับการฝัง แทนที่จะปลงด้วยไฟเหมือนสังขารพระเถระโดยทั่วไป นับเป็นการแสดงถึงความสันโดษอย่างอุกฤษณ์ของท่าน แม้ว่าท่านจะได้รับการยกย่องอย่างสูงจากทั้งราชันทั้งหลายในชมพูทวีปและในแผ่นดินจีน แต่ก็ไม่ใยดีในโลกธรรมแม้แต่น้อย
หลังจากาลเวลาผ่านมานานถึง 1,278 ปี กระทั่งถึงยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1942 ทะคะโมริ ทะคะซึเกะ นายทหารชาวญี่ปุ่นที่ประจำการในนครหนานจิง ได้ทำการควบคุมการก่อสร้างศาลเจ้าชินโต ที่ด้านนอกประตูเมืองด้านทิศใต้ของหนานจิง ขณะที่คนงานขุดรากฐานค้นพบกรุของพระเจดีย์โบราณ ภายในมีหีบศิลา ในหีบศิลามีหีบ 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นสำริด ชั้นในเป็นเงินบรรจุสิ่งมีค่ามากมาย ทั้งพระพุทธรูปทองคำหนึ่งองค์ เครื่องอุปโภคทำจากสำริดและเครื่องเคลือบ เหรียญอีแปะนับร้อยเหรียญ และธัญพืช
นอกจากนี้ ภายในยังมีหีบทองแดงเล็กๆ บรรจุอัฐิสีเทาเข้มมีรูปร่างคล้ายทรงสี่เหลี่ยม จากอักษรสที่จารึกไว้บนฝาหีบศิลาเขียนไว้ในศตวรรษที่ 11 และ 15 ระบุว่า เป็นชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะของพระถังซำจั๋ง
กองทัพญี่ปุ่นทำการแบ่งพระธาตุของพระถังซำจั๋งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกประดิษฐานที่นครหนานจิง อีกส่วนส่งไปญี่ปุ่นประดิษฐานที่วัดยะคุชิจิ อีกส่วนส่งไปเทียนจินประดิษฐานที่วัดต้าฉือเอิน ต่อมาดาไลลามะได้อาราธนาพระธาตุจากวัดต้าฉือเอินไปที่อินเดียพร้อมกับท่าน แล้วมอบให้กับเมืองนาลันทา สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา ที่พระถังซำจั๋งเคยรอนแรมมาศึกษาพระธรรม
ปัจจุบัน พระธาตุของพระถังซำจั๋งได้ถูกแบ่งไปประดิษฐานทั่วแผ่นดิน
ในญี่ปุ่นมี 5 แห่ง อินเดีย 1 แห่ง ไต้หวัน 2 แห่ง และในจีนมีอย่างน้อย 5 แห่ง รวมถึงแห่งดั้งเดิมคือที่วัดซิงเจี้ยว ในนครซีอาน ซึ่งไม่นานมานี้มีการเปิดเจดีย์ พบอัฐิสังขารของท่านแปรเป็นพระธาตุอย่างน่าอัศจรรย์
ภาพ พระธาตุกะโหลกพระถังซำจั๋ง นำออกมาให้สาธุชนสักการะที่วัดหลิงกู่ นครหนานจิง ภาพของสำนักข่าวซินหัว