กู้ซื้อบ้านทำไมต้องให้ทำประกัน
เพราะเป็นกระทู้ยอดฮิตที่ปรากฎอยู่ทุกเว็บบอร์ดไม่เคยขาด วันนี้เลยกลายเป็น Issue ที่ต้องหยิบยกขึ้นมาอธิบายว่าทำไมเวลากู้ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ จะต้องมีเงื่อนไขให้ผู้กู้ทำประกันด้วย แถมเบี้ยประกันก็ไม่ใช่น้อยๆ เช่น กู้ไม่ถึง 2 ล้านบาทแต่เบี้ยประกันสูงเฉียดแสน ต้องทำทุกคนไหม ไม่ทำได้หรือเปล่า เพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตมีแล้วหลายใบ ถ้าไม่ทำจะกู้ไม่ผ่านใช่ไหม เบี้ยประกันทำไมแพงจัง
ก่อนตอบข้อสงสัย จากคำถามเหล่านั้นขออธิบายทำความเข้าใจกันก่อน ประกันที่ว่านั้นเรียกว่า “ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (MRTA) เป็นประกันที่ผูกติดกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ง่ายๆ คือผู้กู้เสียชีวิตบริษัทประกันจะเป็นผู้ชำระหนี้ที่เหลือแทน ไม่เป็นภาระแก่คนข้างหลัง
ประกันแบบนี้แตกต่างจากประกันแบบอื่น ตรงที่ทุนประกันคุ้มครองจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อ นั่นคือทุนประกันคุ้มครองหมดในเวลาเดียวกับผ่อนบ้านหมดพอดี ทั่วไปจึงกำหนดให้ทำประกันเท่ากับระยะเวลากู้ เช่น กู้ 10 ปีก็ทำประกัน 10 ปี กู้ 20 ปีก็ทำประกัน 20 ปี แบบนี้เรียกว่า “คุ้มครองตามวงเงิน” ส่วนใหญ่มักทำกันแบบนี้ ซึ่งหากถึงเวลาผ่อนบ้านหมด แต่ทุนประกันคุ้มครองยังมีเหลือก็จะคืนให้กับผู้กู้
แต่ก็มีอีกลักษณะ หนึ่งคือ “คุ้มครองคงที่” นั่นคือทุนประกันคุ้มครองไม่ได้ลดตามภาระหนี้ กำหนดไว้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่ว่าจะผ่อนไปกี่ปีทุนประกันคุ้มครองก็เท่าเดิม แต่แบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะเบี้ยประกันจะสูงกว่า
ไม่ทำได้ไหม แบงก์หรือสถาบันการเงินไม่สามารถบังคับให้ผู้กู้ทำประกันได้ อันนี้แบงก์ชาติประกาศไว้ชัดเจน ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าถ้าไม่ทำประกันแล้วจะกู้ไม่ผ่าน แต่ส่วนใหญ่แบงก์มักเสนอเงื่อนไขจูงใจให้ทำ เช่น ถ้าทำประกันจะได้ (กู้) อัตราดอกเบี้ยถูกกว่า หรือเบี้ยประกันสามารถผ่อนได้โดยรวมอยู่กับวงเงินกู้ซื้อบ้าน และที่สำคัญการทำประกันก็เป็นประโยชน์ เป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงอย่างหนึ่ง
อย่าง ไรก็ตามอัตราเบี้ยประกันสำหรับผู้กู้แต่ละรายอาจแตกต่างกันตามเงื่อนไขและ คุณสมบัติของผู้กู้นั้นๆ หลักการก็คือความเสี่ยงสูง เบี้ยประกันสูง เช่น ผู้กู้เป็นผู้ชายความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เบี้ยประกันอาจสูงกว่า หรือคนมีโรคประจำตัว, อายุมาก เป็นต้น
คำถามที่หลายคนอาจไม่ทันคิดใน กรณีที่เป็นการรู้ร่วม หากผู้กู้คนหนึ่งเสียชีวิตบริษัทประกันจะชดเชยอย่างไร คำตอบก็คือชดเชยให้ครึ่งหนึ่ง สมมติเหลือหนี้ 1 ล้านก็จะจ่ายให้แค่ 5 แสน ที่เหลือผู้กู้อีกคนก็ต้องรับภาระผ่อนต่อไป