ตำนานพระธาตุที่สร้างบูชาพระคุณแม่ ด้วยชีวิต ด้วยเลือดและน้ำตา ของลูกทรพี
พระธาตุก่องข้าวน้อย ยโสธร
ธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กม ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร
ธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุ มีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ เป็นสวนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากันเป็นส่วนยอด รอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อย มีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5X5 เมตร นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง ก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้า จะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง ซึ่งเชือกันว่า ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ฝนจะแล้งในปีนั้น
ธาตุก่องข้าวน้อย มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของธาตุก่องข้าวน้อย กลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสาย เกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบ ทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงแต่ว่า ข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมด จึงได้สติคิดสำนึกผิด ที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพีอเป็นการอุทิศส่วนกุศล ขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต
ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่
วันหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วที่บ้านตาดทอง ในฤดูกาลของฝน ได้มีการเตรียมปักดำกล้าต้นข้าว และทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพราะปลูก มีครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นเด็กกำพร้าพ่อ ได้ออกไปปลุกข้าวเช่นเดียวกัน
วันหนึ่งเขาไถนาอยู่จนตะวันขึ้นสูงแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเป็นยิ่งนัก และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ปกติแล้วแม่จะมาส่งก่องข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้ากว่าปกติมาก
เขาจึงหยุดไถนาแล้วเข้าไปพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยให้เจ้าทุยไปกินหญ้าสายตาก็เหม่อมองไปทางบ้านของตน เฝ้ารอคอยแม่ที่จะนำข้างก่องมาส่ง ตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งตะวันขึ้นสูงแดดก็ยิ่งร้อนแรงขึ้นความหิวก็ยิ่งทวีคูณขึ้นตามไปด้วย
ทันใดนั้นเองเขาได้มองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนา พร้อมกับก่องข้าวน้อยๆ ห้อยอยู่บนเสาแหรกคาน เขาบังเกิดความไม่พอใจที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก ด้วยความหิวจนตาลาย เขาคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่ จึงต่อว่าแม่ของตนว่า
“อีแก่ ไปทำอะไรอยู่ถึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อยๆ กูจะกินอิ่มหรือ?”
ผู้เป็นแม่ตอบลูกว่า “ถึงกล่องข้าวจะเล็กแต่ก้อน้อยแค่รูปนอกข้างในแน่นนะลูกเอ๋ย ลองกินดูก่อน”
ความหิว ความเหนื่อย ความโมโห ทำให้หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังสิ่งใด เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าเอาไม้แอกแล้วเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลงแล้วก็เดินไปกินข้าว แม้กินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวยังไม่หมดก่อง จึงรู้สึกผิดชอบชั่วดี รีบวิ่งไปดูอาการของแม่และเข้าสวมกอดแม่
” อนิจจา ในตอนนี้แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว..”
ชายหนุ่มร้อยไห้โฮ สำนึกผิดที่ตนได้ฆ่าแม่เพียงด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงเข้ากราบ นมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด
สมภารสอนว่า “การฆ่าบิดามารดาของตนเองนั้นเป็นบาปหนัก เป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจีตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีหนทางเพียวหนทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง”
เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว จึงได้ขอร้องชักชวนญาติๆและชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ จึงให้ชื่อว่า “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จนตราบถึงทุกวันนี้
ทุกวันนี้มีผู้มากราบธาตุก่องข้าวน้อยฯทุกวันเพื่อมาขอขมาลาโทษเหมือนกับเป็นการไถ่บาปที่ทำให้พ่อแม่ของตนเสียใจ บางคนเมื่อมีลูกแล้วจึงได้รู้ว่าบุญคุณของพ่อแม่มากเหลือคณานับ เพิ่งรู้ว่าต้องเลี้ยงดูลูกนั้นยากหนักหนาซักเพียงใด จึงมาสำนึกที่ทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจ บ้างก็มากราบไหว้เพื่อรำลึกถึงบุญคุณแม่
ภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวกับเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่