พระองค์เจ้าทักษิณชา (พระนางผู้เผชิญเรื่องราวอันน่าเศร้า)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระนางทรงมีพระประสูติกาลพระราชบุตรเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล แต่เหมือนสวรรค์เล่นตลก เจ้าฟ้าพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปอย่างกระทันหันภายในเวลาอันสั้น พระนางทรงเสียพระทัยยิ่งนัก จนสูญเสียพระจริตในเวลาต่อมา และมิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้ต่อไป จึงมิได้รับการสถาปนาพระอิสสริยยศอย่างใดอย่างหนึ่ง ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยตลอดชีพตราบจนสิ้นพระชนม์ “หากการณ์ไม่เป็นเช่นนี้ พระองค์คงสถิตอยู่ในตำแหน่งพระมเหสี และ ตำแหน่งพระมารดาองค์รัชทายาท ”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 / เจ้าจอมมารดาจันทร์
พระนางทรงประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 เป็นพระราชธิดาลำดับที่หก ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์
พระองค์เจ้ามัณยาภาธร / พระองค์เจ้าศุขสวัสดี / พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค
ทรงมีพระขนิษฐา และพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร , พระองค์เจ้าศุขสวัสดี และ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ / พระองค์เจ้าทักษิณชา / พระองค์เจ้าโสมาวดี
ทรงเป็นราชธิดาที่พระราชบิดาทรงมีพระเมตตาสนิทเสน่หาเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงอบรมเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง มักตามพระทัยและมิเข้มงวดดังรัชกาลก่อน ๆ พระองค์จึงได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า “นราธิราชบุตรี” ซึ่งมีพระราชธิดาเพียงสามพระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนาม โดยพระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกัน โดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ , พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 /
พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี เป็น “พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรก ” ด้วยทรงสนิทสนมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และเป็นมเหสีที่พระราชสวามีทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ทั้งยังสร้างความโสมนัสเมื่อทรงพระครรภ์ เพราะพระราชบุตรที่จะประสูติในภายหน้าจะเป็น “เจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล”
จนเมื่อประสูติพระราชบุตรเป็นพระราชโอรส แต่หลังจากนั้นเพียงแปดชั่วโมง “ ความโสมนัสกลับเป็นทุกข์โทมนัสอันใหญ่หลวง” เพราะเจ้าฟ้าพระราชกุมารสิ้นพระชนม์ลง พระนางมิอาจปลงพระทัยเชื่อว่าพระราชกุมารที่ดูแข็งแรงเมื่อแรกประสูติจะสิ้นพระชนม์ในเวลาอันสั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนพระทัยแก่พระนางอย่างมาก พระนางประชวรและไม่รับรู้สรรพสิ่งรอบข้าง ด้วยมีจิตที่ฝังแน่นแต่เรื่องราวของพระราชโอรส และทรงอยู่ในโลกส่วนตัวจน “สูญเสียพระจริต” มิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้อีกต่อไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักพิเศษให้พระนางพักผ่อน แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น ……..
……..“หากการณ์ไม่เป็นเช่นนี้ พระนางคงสถิตอยู่ในตำแหน่งพระมเหสี และ ตำแหน่งพระมารดาองค์รัชทายาท ”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
ภายหลังจึงเสด็จไปประทับร่วมกับ พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ณ วังตำบลสามเสน จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 สิริพระชนมายุได้ 53 พรรษา
การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2449