เสี่ยงคุก10ปีปรับ1ล.พกสเปรย์ป้องกันตัว
สาวๆ หลายคนที่พกสเปรย์พริกไทย หรือสเปรย์อื่นใดที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้ป้องกันตัว ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันตัวชนิดนี้ถือเป็นวัตถุอันตราย ใครมีไว้ในครอบครองถือว่า ผิดกฎหมาย มีโทษสูงสุดจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ซึ่งอัตราโทษดังกล่าวสูงกว่ามียาบ้าไว้ในครอบครอง !!
"เอิร์น" หญิงสาววัย 25 ปี พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง มีที่พักอาศัยอยู่ในย่านสุขุมวิท นิยมพกพาสเปรย์ป้องกันตัวไว้ติดกระเป๋าเป็นประจำ บอกว่า ไม่รู้มาก่อนว่า การพกพาสเปรย์ป้องกันตัวติดกระเป๋าไว้จะผิดกฎหมาย มีโทษหนักและรุนแรงกว่าการครอบครองยาเสพติดอย่างยาบ้าเสียอีก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อกฎหมายเสียใหม่ เพราะโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า อุปกรณ์ชนิดนี้มีประโยชน์
"ทุกวันนี้เสี่ยงนะ ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูง เราตกเป็นเป้าของมิจฉาชีพที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงคราวซวย มีสเปรย์ป้องกันตัวไว้ก็เพื่อป้องกันตัวเอง คนร้ายคุกคามมาจะได้หยิบมาใช้ป้องกันตัวเองได้ ที่สำคัญคือมันไม่รุนแรงจนทำให้ใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสอย่างอุปกรณ์ ชนิดอื่น แค่เพียงทำให้แสบตาและรบกวนระบบทางเดินหายใจ เพียง 5 นาทีก็หาย เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ยับยั้งคนร้ายเพื่อชะลอเวลาให้เราหนีแค่นั้น" เอิร์น ให้ข้อมูล
เช่นเดียวกับ "จ๋า" พนักงานออฟฟิศสาววัย 27 ปี มีที่พักอยู่ในย่านหัวหมาก ไม่รู้ว่าการครอบครองสเปรย์ป้องกันตัวผิดกฎหมาย ยอมรับว่า พกติดตัวเป็นประจำเพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ในแต่ละวันว่าจะตกเป็นเหยื่อของคน ร้ายเมื่อไหร่ และคิดว่าอุปกรณ์ป้องกันตัวชนิดนี้ไม่รุนแรง อย่างมีด หรือแม้กระทั่งปืน อยากให้มีการอนุญาตครอบครองหรือพกพาโดยไม่ผิดกฎหมาย
สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมผลิตภัณฑ์สเปรย์ป้องกันตัว จึงมอบหมายให้ รศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมคณะซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.ธัญธร อินศร ดร.เพชรรัตน์ ไสยสมบัติ นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง ศึกษาวิเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมในการควบคุมผลิตภัณฑ์สเปรย์ป้องกันตัว
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นักวิชาการชุดนี้ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์กรสิทธิสตรี องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานด้านความมั่นคง มาให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาเสนอผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
นายน้ำแท้ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลการใช้สเปรย์ป้องกันตัวในต่างประเทศพบว่า มีทั้งที่กำหนดให้เป็นวัตถุผิดกฎหมาย และไม่ผิดกฎหมาย บางประเทศเช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา ห้ามมีไว้ในครอบครองทั่วไป ยกเว้นเพื่อการป้องกันตัว ขณะที่ในสหรัฐ มีความหลากหลายตามนโยบายของแต่ละรัฐ อย่างที่นิวยอร์ก สเปรย์ป้องกันตัวไม่เป็นสินค้าควบคุม ซื้อขายได้ ขณะที่ในไทยสเปรย์ป้องกันตัวถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีคุณสมบัติขัดขวางระบบการทำงานของร่างกายเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันตัว หรือทำร้ายผู้อื่น ซึ่งตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ห้ามผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครอง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับหนังสือจากประชาชนเสนอให้แก้ไขผ่อนปรนกฎหมายในการควบ คุมสเปรย์ป้องกันตัว โดยให้เหตุผลว่า เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวช่วยให้ผู้หญิงพกพาเพื่อป้องกันสวัสดิภาพของตัวเองได้ เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาอาชญากรรมและภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบกับอุปกรณ์ชนิดนี้ปัจจุบันมีการจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย มีการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันตัวให้ผู้หญิงพกพา มีการโฆษณาในสื่อมวลชนอย่างแพร่หลาย ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ เช่นตำรวจ และผู้คุมเรือนจำ ก็มีอยู่ในครอบครอง จนเกิดความลักลั่นในการปฏิบัติ ทั้งที่มีกฎหมายห้าม แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย
สอดคล้องกับ พ.ต.ท.โชติวิเชียร วิเชียรโชติ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยผู้หญิง ยอมรับว่า แต่ละปีมีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของคนร้าย ทั้งเรื่องทรัพย์สิน และคุกคามทางเพศไม่น้อยกว่า 2-3 หมื่นราย ส่งผลให้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันตัวเอง โดยเลือกใช้สเปรย์ป้องกันตัว เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยต่อตัวเองมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ซึ่งโทษดังกล่าวมากกว่าการครอบครองยาบ้า
"ผู้หญิงเขาเห็นว่าสเปรย์ป้องกันตัวน่าจะปลอดภัยที่สุด เหมาะกับพวกเขา เพราะหากไปใช้มีดหรือปืนก็เกรงว่าคนร้ายจะแย่งชิงแล้วกลายเป็นอาวุธให้คน ร้ายใช้ทำร้ายตัวเองได้ง่าย ที่สำคัญคือปัจจุบันหาง่าย ราคาไม่แพงมาก พกพาสะดวก" พ.ต.ท.โชติวิเชียร กล่าว
พ.ต.ท.โชติวิเชียร แสดงความเห็นด้วยว่า สภาพปัญหาอาชญากรรมในปัจจุบัน จำเป็นที่ผู้หญิงต้องมีการเตรียมการในการป้องกันตัวเอง โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าสเปรย์ป้องกันตัวเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่เหมาะกับ ผู้หญิง แต่เมื่อกลับมาดูข้อกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันแล้วเห็นว่าไม่สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบัน จึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยอาจปรับลดสเปรย์ป้องกันตัวจากวัตถุอันตรายประเภท 4 ให้เหลือเพียงแค่วัตถุควบคุม เพราะอุปกรณ์ชนิดนี้ไม่มีอันตรายรุนแรงเพียงทำให้แสบตา ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจชั่วขณะ ไม่สามารถทำให้ใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรงได้
"ข้อกังวลว่าหากปล่อยให้มีการครอบครองสเปรย์ป้องกันตัวได้อาจกลายเป็นช่อง ทางให้คนร้ายใช้เป็นอาวุธได้นั้น ผมเชื่อว่าคนร้ายเขาไม่สนใจเรื่องอาวุธหรือกฎหมายหรอก เขาพร้อมจะก่อเหตุทุกเมื่อที่มีโอกาส อาวุธใดๆ เขาก็ใช้ได้ ขนาดปืนที่นำมาใช้เขาก็ไม่ใช้ปืนเถื่อน ที่สำคัญสเปรย์ป้องกันตัวประสิทธิภาพก่อเหตุน้อยคนร้ายเขาไม่นิยมใช้หรอก เพราะเขาใช้มีด หรือปืนจะเอื้ออำนวยต่อการก่อเหตุได้มากกว่า" พ.ต.ท.โชติวิเชียร แสดงความเห็น
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ จะถูกนักวิชาการชุดนี้ประมวลและเสนอต่อผู้มีอำนาจในสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป หลังจากนี้จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกหลายครั้ง แต่ในห้วงเวลาการศึกษาและยังไม่มีการแก้กฎหมาย บุคคลที่มีสเปรย์ป้องกันตัวไว้ในครอบครองพึงระวัง เพราะหากถูกจับกุม จะมีโทษหนักถึงจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
อันตรายจาก...สเปรย์พริกไทย
"สเปรย์พริกไทย" รู้จักในชื่อ OC spray ซึ่งมาจาก “Oleoresin Capsicum” (น้ำมันจำพวกพริก) เป็นสารทำให้ระคายเคือง น้ำตาไหล เจ็บปวด หรือตาบอดชั่วคราว ใช้เพื่อควบคุมการจลาจลฝูงชน และการป้องกันตัวเอง ซึ่งการออกฤทธิ์ของสเปรย์พริกไทย ทำให้เกิดการอักเสบทันที ตาจะปิดลง น้ำหูน้ำตาไหล หายใจลำบาก และไอ ระยะเวลาของผลที่ได้เกิดขึ้นกับความเข้มข้นของสเปรย์ แต่จะกินเวลาเฉลี่ย 30 นาที ถึง 45 นาที ในรายที่แพ้จะกินเวลานานเป็นชั่วโมง
สเปรย์พริกไทย เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ได้รับความนิยมเพื่อการป้องกันตัวของผู้หญิงมาเป็น เวลานาน เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวที่หยุดคนร้ายและมีระยะเวลาเพียงพอในการหนี เอาตัวรอด ส่วนคนร้ายที่จะนำสเปรย์พริกไทย มาใช้จู่โจมผู้อื่นนั้นยาก เนื่องจากผู้ฉีดจะต้องหนีไปอีกทาง หากจะวิ่งไล่ฉีดผู้อื่น คนร้ายก็จะโดนสเปรย์พริกไทยไปด้วย !!