หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ประชาธิปไตย

Share แชร์เนื้อหาโดย Spirit of Queen

                                     ประชาธิปไตย 

ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนโดยตรงหรือผ่านผู้แทนที่ตนเลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ ประชาธิปไตยยังเป็นอุดมคติที่ว่าพลเมืองทุกคนในชาติร่วมกันพิจารณากฎหมายและการปฏิบัติของรัฐ และกำหนดให้พลเมืองทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความยินยอมและเจตนาของตน

ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบางนครรัฐกรีกโบราณช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเอเธนส์หลังการก่อการกำเริบเมื่อ 508 ปีก่อนคริสตกาล ประชาธิปไตยแบบนี้เรียกว่า ประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งพลเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการทางการเมืองโดยตรง แต่ประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยสาธารณะออกเสียงในการเลือกตั้งและเลือกนักการเมืองเป็นผู้แทนตนในรัฐสภา จากนั้น สมาชิกสภาจเป็นผู้ตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยทางตรงยังมีอยู่ในระดับท้องถิ่นหลายประเทศ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกเทศบาล อย่างไรก็ดี ในระดับชาติ ความเป็นประชาธิปไตยทางตรงมีเพียงการลงประชามติ การริเริ่มออกกฎหมายและการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง

แม้ในปัจจุบัน ประชาธิปไตยจะยังไม่มีนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่ความเสมอภาคและอิสรภาพได้ถูกระบุว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยนับแต่โบราณกาล หลักการดังกล่าวถูกสะท้อนออกมาผ่านความเสมอภาคทางกฎหมายของพลเมืองทุกคน และมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ทุกเสียงมีน้ำหนักเท่ากันทั้งสิ้น และไม่มีการจำกัดอย่างไร้เหตุผลใช้บังคับกับทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นผู้แทน ส่วนอิสรภาพได้มาจากสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งโดยทั่วไปได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ

ประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในกรีซโบราณ แต่วิธีปฏิบัติแบบประชาธิปไตยปรากฏในสังคมอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งเมโสโปเตเมีย ฟินีเซียและอินเดีย วัฒนธรรมอื่นหลังกรีซได้มีส่วนสำคัญต่อวิวัฒนาการของประชาธิปไตย เช่น โรมันโบราณ ยุโรป และอเมริกาเหนือและใต้ มโนทัศน์ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนเกิดขึ้นส่วนใหญ่จากแนวคิดและสถาบันซึ่งได้ถูกพัฒนาระหว่างยุคกลางของยุโรปและยุคภูมิธรรมในการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส

ประชาธิปไตยได้ถูกเรียกว่า "ระบอบการปกครองสุดท้าย" และได้แพร่หลายอย่างมากไปทั่วโลก สิทธิในการออกเสียงลงมติในหลายประเทศได้ขยายวงกว้างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจากกลุ่มค่อนข้างแคบ (เช่น ชายมั่งมีในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ) โดยนิวซีแลนด์เป็นชาติแรกที่ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปแก่พลเมืองทุกคนใน ค.ศ. 1893 ประชาธิปไตยมักถูกเข้าใจสับสนกับระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ในบางนิยาม "สาธารณรัฐ" เป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง แต่นิยามอื่นทำให้ "สาธารณรัฐ" เป็นคำที่มีความหมายต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแม้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน การอพยพเข้าเมือง และการกีดกันกลุ่มประชากรบางชาติพันธุ์ เป็นต้น

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล

 

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ทั่วโลกได้ตื่นตัวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แผนที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นรัฐที่มองว่าตนปกครองระบอบประชาธิปไตย แผนที่เมื่อ ค.ศ. 2012
  รัฐที่มองว่าตนปกครองระบอบประชาธิปไตย
  รัฐที่มิได้มองว่าตนปกครองระบอบประชาธิปไตย: วาติกัน ซาอุดิอาระเบีย ฟิจิและบรูไน

ยุคโบราณ

คำว่า ประชาธิปไตย ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาช่วงยุคกรีซโบราณ นักปราชญ์เพลโต เปรียบเทียบประชาธิปไตย ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง" ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตยและเศรษฐยาธิปไตย ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยแบบเอเธนส์จะถือว่าเป็นการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยทางตรง แต่เดิมแล้วประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มีลักษณะเด่นอยู่สองประการ คือ ได้มีการคัดเลือกพลเมืองธรรมดาจำนวนมากเข้าสู่ระบบรัฐการและศาล และมีการชุมนุมกันของพลเมืองทุกชนชั้น

พลเมืองทุกคนจะได้รับสิทธิให้อภิปรายและลงมติในสภา ซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายของนครรัฐ หากทว่า ความเป็นพลเมืองชาวเอเธนส์นั้นรวมเฉพาะแต่ชายทุกคนซึ่งเกิดจากบิดาที่เป็นพลเมืองเท่านั้น และผู้ที่กำลัง "รับราชการทหาร" ระหว่างอายุ 18-20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่รวมไปถึงผู้หญิง ทาส คนต่างชาติ  และชายผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ จากจำนวนผู้อยู่อาศัยกว่า 250,000 คน มีผู้ได้รับสถานะพลเมืองเพียง 30,000 คน และมีเพียง 5,000 คนเท่านั้นที่มักจะไปปรากฏตัวในสมัชชาประชาชน เจ้าพนักงานและผู้พิพากษาของรัฐบาลจำนวนมากเป็นการกำหนดเลือก มีเพียงเหล่านายพลและเจ้าพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง

เกาะอาร์วัด (ปัจจุบันคือ ประเทศซีเรีย) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อคริสต์สหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยชาวฟินิเซียน ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของระบอบประชาธิปไตยที่พบในโลก ซึ่งที่นั่น ประชาชนจะถืออำนาจอธิปไตยของตน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้ คือ ประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกอาจมาจากนครรัฐสุเมเรียน ส่วนทางด้านเวสาลี ซึ่งปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในรัฐบาลแรกของโลกที่มีองค์ประกอบที่สามารถพิจารณาได้ว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นแห่งแรกของโลก (แต่ก็มีบางคนที่ออกมาโต้แย้งว่าการปกครองของเวสาลีนั้นไม่เป็นราชาธิปไตยก็จริง แต่น่าจะมีลักษณะเป็นคณาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตย) และยังปรากฏว่ามีการปกครองที่คล้ายคลึงกับประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตยเกิดขึ้นชั่วคราวโดยชาวเมเดส ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล แต่ถึงคราวสิ้นสุดเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าดาไรอัสมหาราชแห่งราชวงศ์อาร์เคเมนิด ผู้ทรงประกาศว่า ระบอบราชาธิปไตยที่ดีนั้นย่อมเหนือกว่าระบอบคณาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ

นอกจากนั้น ยังได้มีการกล่าวอ้างถึงสถาบันทางประชาธิปไตยในยุคเริ่มแรก โดยถือว่าเป็น "สาธารณรัฐ" อิสระในประเทศอินเดีย อย่างเช่น พระสงฆ์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่หลักฐานที่พบนั้นเลื่อนลอยและไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแน่ชัด นอกจากนั้น ไดโอโดรุส ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวกรีกในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กล่าวถึงรัฐอิสระซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอินเดีย แต่ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสมัยใหม่กล่าวว่า คำว่า ประชาธิปไตย ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลได้ถูกลดความน่าเชื่อถือลง และอาจหมายถึงรัฐอิสระซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองของประชาชนเลยแม้แต่น้อย

 

ถึงแม้ว่าในยุคของสาธารณรัฐโรมัน จะได้มีการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น การออกกฎหมาย ทว่าก็มิได้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ชาวโรมันมีการเลือกผู้แทนตนเข้าสู่สภาก็จริง แต่ไม่รวมถึงสตรี ทาสและคนต่างด้าวจำนวนมหาศาล และยังมอบน้ำหนักให้กับเหล่าเศรษฐีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งการจะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาซีเนทมักจะมาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียงและร่ำรวยจำนวนน้อยเท่านั้น

ยุคกลาง

ระหว่างช่วงยุคกลาง ได้มีรูปแบบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือสมัชชา ถึงแม้ว่าบ่อยครั้ง จะเปิดโอกาสให้กับประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อย่างเช่น เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ในนครรัฐเวนิซ ช่วงอิตาลียุคกลาง รัฐในไทรอลเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ รวมไปถึงนครพ่อค้าอิสระซะไก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในญี่ปุ่น เนื่องจากการปกครองรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นประชาชนมีส่วนร่วมเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จึงมักจะถูกจัดว่าเป็นคณาธิปไตยมากกว่า และดินแดนยุโรปในสมัยนั้นยังคงปกครองภายใต้นักบวชและขุนนางในยุคศักดินาเป็นส่วนมาก

รูปแบบการปกครองซึ่งมีความใกล้เคียงกับลักษณะระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก คือ ระบบของกลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คในยูเครนระหว่างคริสต์ศัตวรรษที่ 16-17: คอสแซ็คเฮ็ตมันนาเตและซาโปริเซียน ซิค โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากตำบลต่าง ๆ ของเคานตีเลือกตำแหน่งสูงสุด ซึ่งเรียกว่า "เฮ็ตมัน" (Hetman) แต่ด้วยความที่กลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คเป็นรัฐทางการทหารอย่างเต็มตัว สิทธิของผู้ร่วมในการเลือก "เฮ็ตมัน" จึงมักจะจำกัดอยู่แต่เพียงผู้ที่รับราชการในกองทหารคอสแซ็คเท่านั้น และต่อมาก็ยิ่งจำกัดเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นแต่เฉพาะนายทหารระดับสูง

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
มหากฎบัตรของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1215

ส่วนทางด้านรัฐสภาแห่งอังกฤษ มีรากฐานของการจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์มาจากมหากฎบัตร ซึ่งสมาชิกรัฐสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่ รัฐสภาของเดอ มงต์ฟอร์ต ในปี ค.ศ. 1265 แต่อันที่จริงแล้ว มีเพียงประชาชนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยรัฐสภาได้รับการคัดเลือกจากประชาชนคิดเป็นน้อยกว่า 3% ในปี ค.ศ. 1780 และยังได้เกิดปัญหากับรูปแบบการปกครองดังกล่าว ที่เรียกว่า "เขตเลือกตั้งเน่า" (rotten boroughs) โดยอำนาจในการจัดตั้งรัฐสภานั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของกษัตริย์ หลังจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ในปี ค.ศ. 1688 และการบังคับใช้พระราชบัญญัติสิทธิ ในปี ค.ศ. 1689 ซึ่งได้มีการประมวลหลักสิทธิและเพิ่มพูนอิทธิพลของรัฐสภา หลังจากนั้นสิทธิในการเลือกสมาชิกรัฐสภาก็เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งกษัตริย์ทรงเป็นเพียงประมุขแต่ในนามเท่านั้น

รูปแบบประชาธิปไตยยังได้ปรากฏในการปกครองระบบชนเผ่า อย่างเช่น สหพันธ์ไอโรโควอิส (Iroquois Confederacy) อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นสมาชิกเพศชายของชนเผ่าเท่านั้นจึงจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ และบางคนยังถูกยกเว้นอีกด้วย มีเพียงสตรีที่อาวุโสที่สุดในชนเผ่าเดียวกันเท่านั้นที่สามารถเลือกและถอดถอนหัวหน้าชนเผ่าได้ ซึ่งเป็นการกีดกันประชากรจำนวนมาก รายละเอียดที่น่าสนใจได้กล่าวว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งนั้นใช้ความคิดเห็นอันเป็นเอกฉันท์ของเหล่าผู้นำ มิใช่การสนับสนุนของเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกชนเผ่า

ในสังคมระดับกลุ่ม อย่างเช่น บุชแมน ซึ่งมักจะประกอบด้วยคนจำนวน 20-50 คนในแต่ละกลุ่ม ไม่ค่อยจะมีหัวหน้าเท่าใดหนักและทำการตัดสินใจต่าง ๆ โดยอาศัยความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่มากกว่า ในเมลานีเซีย แต่เดิมประชาคมหมู่บ้านกสิกรรมมีความเท่าเทียมกัน และมีการปกครองแบบเอกาธิปไตยที่แข็งกร้าวจำนวนน้อย ถึงแม้ว่าอาจมีคนใดคนหนึ่งที่มีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งอิทธิพลดังกล่าวมีผลต่อการแสดงทักษะความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง และความประสงค์ของประชาคม ทุกคนถูกคาดหวังที่จะแบ่งปันหน้าที่ในประชาคม และให้สิทธิร่วมการตัดสินใจของประชาคม อย่างไรก็ตาม แรงกดดันอย่างหนักของสังคมกระตุ้นให้เกิดความลงรอยกันและลดการตัดสินใจเพียงลำพัง

คริสต์ศตวรรษที่ 18-19

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
จำนวนของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1800-2003 ซึ่งได้คะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 8 โดยชุดข้อมูลรัฐ ซึ่งเป็นเกณฑ์การวัดความเป็นประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความของคำว่าประชาธิปไตย แต่ว่าเหล่าผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดรากฐานของแนวปฏิบัติของอเมริกันเกี่ยวกับอิสรภาพตามธรรมชาติและความเท่าเทียม รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1788 เป็นต้นมา ได้กำหนดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ในช่วงแรก ได้ครอบคลุมเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคอาณานิคมก่อนหน้าปี ค.ศ. 1776 และบางช่วงเวลาหลังจากนั้น มีเพียงเหล่าบุรุษเจ้าของที่ดินผิวขาวเท่านั้นที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในขณะที่ทาสผิวดำ อิสรชนผิวดำและสตรียังไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกตั้ง ในวิทยานิพนธ์เทอร์เนอร์ ประชาธิปไตยได้กลายเป็นวิถีชีวิต และความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ทาสได้เป็นสถาบันทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิบเอ็ดรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งองค์กรจำนวนมากถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนผิวดำจากสหรัฐอเมริกาไปยังสถานที่อื่นซึ่งพวกเขาจะได้รับอิสรภาพและความเท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820-1830 สมาคมการอพยพอเมริกัน ได้ส่งคนผิวดำจำนวนมากไปยังไลบีเรีย

เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1840 การจำกัดทรัพย์สินทั้งหมดก็ยุติลง และพลเมืองชายผิวขาวเกือบทุกคนก็สามารถเลือกตั้งได้แล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ใช้สิทธิ์ไปเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับชาติอยู่ระหว่าง 60-80% หลังจากนั้น ระบบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สันเป็นประชาธิปไตยแบบแจ็กสันอย่างช้า ๆ เมื่อปี ค.ศ. 1860 จำนวนทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคน และเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1860 ระหว่างการสร้างสหรัฐอเมริกาใหม่ ภายหลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน ทาสชายที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระก็กลายเป็นพลเมืองและมีสิทธิในการเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่กว่าที่พวกเขาจะได้รับการสิทธิอย่างมั่นคงก็ต้องรอจนถึง ค.ศ. 1965

ในปี ค.ศ. 1789 ภายหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้มีการประกาศใช้คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และถึงแม้ว่าจะมีผลในเวลาอันสั้น แต่การเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสของบุรุษทุกคน เมื่อปี ค.ศ. 1792ก็นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย การใช้สิทธิเลือกตั้งโดยคนทั้งชาติได้นำไปสู่การก่อตั้งฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1848 ซึ่งเป็นยุคตื่นตัวหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1848

ประชาธิปไตยเสรียังคงมีอายุสั้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และหลายประเทศมักจะกล่าวอ้างว่าตนได้ให้สิทธิการเลือกตั้งกับพลเมืองทั้งหมดแล้ว ในอาณานิคมออสเตรเลียได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในขณะที่ออสเตรเลียใต้เป็นรัฐบาลแห่งแรกของโลกที่ให้สิทธิการเลือกตั้งโดยสตรีทั้งชาติในปี ค.ศ. 1861 ส่วนในนิวซีแลนด์ ได้ให้สิทธิการเลือกตั้งกับชาวมาวรีพื้นเมืองในปี ค.ศ. 1867 ชายผิวขาวในปี ค.ศ. 1876 และผู้หญิงในปี ค.ศ. 1893 ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่ให้ให้สิทธิการเลือกตั้งกับพลเมืองทั้งหมด แม้ว่าสตรีจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้สมัครรับเลือกตั้งได้จนกระทั่งปี ค.ศ. 1919 ก็ตาม

คริสต์ศตวรรษที่ 20

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
กราฟแสดงให้เห็นถึงการประเมินจำนวนประเทศที่จัดแบ่งเรียงตามประเทศต่าง ๆ ของ ฟรีดอมเฮาส์ นับตั้งแต่การสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 1973-2013:
  มีเสรีภาพเต็มที่
  มีเสรีภาพบางส่วน
  ไม่มีเสรีภาพ

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยจำนวนมาก จนทำให้เกิด "กระแสประชาธิปไตย" ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งมักเป็นผลมาจากสงคราม การปฏิวัติ การปลดปล่อยอาณานิคม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและศาสนา

ภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมัน ทำให้เกิดรัฐชาติจำนวนมากในทวีปยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ระบอบประชาธิปไตยได้มีการเจริญขึ้น แต่ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ได้ทำให้ความเจริญดังกล่าวหยุดชะงักลง และประเทศในแถบยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชีย ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นฟาสซิสต์ ในนาซีเยอรมนี อิตาลี สเปนและโปรตุเกส รวมไปถึงรัฐเผด็จการในแถบคาบสมุทรบอลติก คาบสมุทรบอลข่าน บราซิล คิวบา สาธารณรัฐจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น

ทว่าภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เกิดผลกระทบในด้านตรงกันข้ามในทวีปยุโรปตะวันตก ความสำเร็จในการสร้างระบอบประชาธิปไตยในเขตยึดครองเยอรมนีของสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี และญี่ปุ่นสมัยยึดครอง ซึ่งได้เป็นต้นแบบของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก รวมไปถึงเขตยึดครองของโซเวียตในเยอรมนี ซึ่งถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ตามค่ายตะวันออก หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองยังส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยอาณานิคม และประเทศเอกราชใหม่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอินเดียได้กลายมาเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาติตะวันตกที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ได้มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม และดำเนินการตามรูปแบบรัฐสวัสดิการ สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องกันระหว่างราษฎรกับพรรคการเมือง ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 เศรษฐกิจทั้งในกลุ่มประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ในภายหลังเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้ลดลง เมื่อถึงปี ค.ศ. 1960 รัฐชาติส่วนใหญ่ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะยังคงมีการจัดการเลือกตั้งแบบตบตา และการปกครองในรูปแบบอื่น ๆ อยู่

กระแสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของรูปแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยในหลายรัฐชาติ เริ่มจากสเปน โปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1974 รวมไปถึงอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงมาจากระบอบเผด็จการทหาร มาเป็นรัฐบาลพลเรือน ตามด้วยประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ระหว่างช่วงต้นถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 และเนื่องจากความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต รวมไปถึงความขัดแย้งภายใน ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย และนำไปสู่จุดสิ้นสุดของสงครามเย็น ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในค่ายตะวันออกเดิม

นอกเหนือจากนั้น กระแสของระบอบประชาธิปไตยได้แพร่ขยายไปถึงบางส่วนของทวีปแอฟริกา ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาใต้ ความพยายามบางประการในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองยังพบเห็นอยู่ในอินโดนีเซีย ยูโกสลาเวีย จอร์เจีย ยูเครน เลบานอนและคีร์กีซสถาน

จนถึงปัจจุบันนี้ ทั่วโลกได้มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจำนวน 123 ประเทศ (ค.ศ. 2007) และกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆซึ่งได้มีการคาดเดากันว่า กระแสดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ที่ซึ่งประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยจะกลายเป็นมาตรฐานสากลสำหรับสังคมมนุษยชาติ สมมุติฐานดังกล่าวเป็นหัวใจหลักของทฤษฎี "จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" โดยฟรานซิส ฟุกุยะมะ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บรรดาผู้ที่เกรงกลัวว่าจะมีวิวัฒนาการของประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างมากไปยังยุคหลังประชาธิปไตย และผู้ที่ชี้ให้เห็นถึงประชาธิปไตยเสรี

ลักษณะสำคัญ

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญของประชาธิปไตย แต่ประเทศที่มีการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องปกครองแบบประชาธิปไตย

แม้ในปัจจุบัน ยังไม่มีการนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่มีสองหลักการสำคัญที่นิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"

หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ "การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต" และจากหลักการพื้นฐานดังกล่าว จึงสามารถประมวลลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดังนี้

  1. ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐ
  2. ประชาชนทุกคนในรัฐมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
  3. การดำเนินการของรัฐจำเป็นต้องถือตามมติเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน แต่เสียงส่วนน้อยในรัฐจะต้องได้รับการคุ้มครองความเป็นธรรมตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
  4. การปกครองแบบประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ

อย่างไรก็ตาม หากประชาธิปไตยมิได้รับการควบคุมอย่างรอบคอบโดยกฎหมายเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายอำนาจทางการเมืองด้วยการถ่วงดุลอำนาจ อย่างเช่น การแบ่งแยกอำนาจการปกครอง แล้ว อาจส่งผลให้ฝ่ายบริหารอำนาจสามารถสะสมอำนาจจนอาจเป็นอันตรายแก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ลักษณะเด่นของการปกครองในระบอบนี้คือ "การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์" แต่ถ้าหากรัฐบาลปราศจากความรับผิดชอบแล้ว เสียงข้างมากก็อาจไม่แยแสสิทธิของเสียงข้างน้อย ชนิดที่เรียกว่าเป็น "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" เลยทีเดียว ดังนั้น กระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงได้แก่การเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นไปโดยยุติธรรมทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ประกอบกับการคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชน อันจะยังให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตัดสินใจใช้สิทธิ์ใช้เสียงเพื่อประโยชน์ของตนได้

แม้มโนทัศน์ในเรื่อง "อำนาจอธิปไตยของปวงชน" (popular sovereignty) จะสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศที่นำหลักการประชาธิปไตยไปใช้ก็ตาม แต่แนวคิดดังกล่าวก็มิใช่หลักปรัชญาสำคัญระดับสากลอันส่งผลให้เกิดการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ เพราะในบางประเทศมองว่าประชาธิปไตยมีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคกันในการมีสิทธิ โดยคนจำนวนมากเห็นว่าประชาธิปไตยที่ดีได้แก่ "เสรีประชาธิปไตย" และอาจมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น การพหุนิยมทางการเมือง หลักนิติธรรม (rule of law) และสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ (right of petition) เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดมีวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (due process of law) เสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน และบทบาทของภาคประชาสังคม (civil society) เป็นอาทิ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหมายเอาการแบ่งแย่งอำนาจการปกครองเป็นคุณลักษณะของประชาธิปไตย และในประเทศอื่น เช่น สหราชอาณาจักร นั้นหมายเอาการบริหารอำนาจอธิปไตยโดยกระบวนการของรัฐสภาและองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ ในบางกรณียังมีการใช้คำ "ประชาธิปไตย" สื่อถึงประชาธิปไตยทางตรง ด้วย เหนืออื่นใด แม้คำว่า "ประชาธิปไตย" จะนิยมใช้ในบริบาทของรัฐทางการเมืองเป็นหลัก แต่ว่ามโนทัศน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังสามารถใช้แก่ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอว่า คุณลักษณะพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการมีส่วนร่วมอย่างเสรีและอย่างเต็มที่ในชีวิตสังคมของตน ด้วยการเน้นความเข้าใจของสัญญาประชาคมและเจตจำนงร่วมของประชาชน ประชาธิปไตยจึงอาจแสดงคุณลักษณะพิเศษเป็นคติรวมหมู่ทางการเมือง (political collectivism) แบบหนึ่ง เพราะคติรวมหมู่ทางการเมืองนิยามว่าเป็นระบอบการปกครองซึ่งพลเมืองผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิในการพูดเท่าเทียมกันในการตัดสินใจซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตของตน

รูปแบบ

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
การจัดรูปแบบทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ตามการสำรวจเสรีภาพทั่วโลก ของฟรีดอมเฮาส์ ใน ค.ศ. 2011:
  มีเสรีภาพเต็มที่
  มีเสรีภาพบางส่วน
  ไม่มีเสรีภาพ
จากการสำรวจดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจนำไปสู่เสรีภาพทางการเมือง มิใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
ประเทศที่แสดงด้วยสีน้ำเงิน หมายถึง ถูกเรียกว่าเป็น "ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง" ในการสำรวจเสรีภาพในโลก ใน ค.ศ. 2010 ของฟรีดอมเฮาส์

ประชาธิปไตยสามารถจำแนกได้ออกเป็นหลายประเภท โดยบางประเภทให้เสรีภาพและความมีสิทธิ์มีเสียงแก่พลเมืองมากกว่ารูปแบบอื่น

ประชาธิปไตยทางตรง

ประชาธิปไตยทางตรง เป็นรูปแบบการปกครองโดยที่พลเมืองสามารถมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจใด ๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางหรือผู้ทำหน้าที่แทนตน ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทางตรงได้โต้แย้งว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันนั้น ควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าระเบียบการพื้นฐานอย่างการเลือกตั้งเท่านั้น

ประชาธิปไตยทางตรงนับจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเพียงรูปแบบที่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก เนื่องจากรูปแบบการปกครองดังกล่าวสามารถใช้ได้กับชุมชนที่มีกลุ่มคนขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นนครรัฐ อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยทางตรงสามารถพบเห็นได้ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกว่าห้าล้านคนสามารถลงประชามติ ประมาณสองถึงสี่ครั้งต่อปี การปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรงยังสามารถใช้ได้กับการปกครองที่มีขอบเขตเป็นจังหวัด ในระดับประเทศ ส่วนที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงมีการลงประชามติ การริเริ่มออกกฎหมายและการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง

ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน

ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน เกี่ยวข้องกับการเลือกเจ้าหน้าที่รัฐบาลโดยผู้ที่ประชาชนเลือกไปทำหน้าที่แทนตน หากประมุขแห่งรัฐถูกเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยเช่นกัน ประเทศนั้นจะเรียกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตย กลไกลที่พบมากที่สุดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ลงสมัครด้วยเสียงข้างมากหรือคะแนนเสียงเหนือกว่า

ผู้แทนอาจได้รับเลือกตั้งหรือเป็นผู้แทนทางทูตโดยเขตหรือเขตเลือกตั้งเฉพาะ หรือเป็นผู้แทนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดโดยสัดส่วนในระบบสัดส่วน หรืออาจใช้สองรูปแบบผสมกัน คุณลักษณะของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน คือ ขณะที่ประชาชนเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ผู้แทนเหล่านี้ก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจขอด้วยตนเอง และเลือกวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ได้เอง

ระบบรัฐสภา

ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ซึ่งรัฐบาลได้รับแต่งตั้งจากผู้แทน ขัดกับ "การปกครองแบบประธานาธิบดี" อันมีประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล ภายใต้ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา รัฐบาลบริหารประเทศโดยมอบหน้าที่ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหาร ตลอดจนถูกวิจารณ์ ตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างต่อเนื่องโดยสภานิติบัญญัติซึ่งได้รับเลือกจากประชาชน ระบบรัฐสภามีสิทธิถอดถอนนายรัฐมนตรีได้เมื่อถึงเวลาที่สภาเห็นว่าผู้นั้นทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของฝ่ายนิติบัญญัติ การถอดถอนนี้เรียกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติตัดสินใจว่าจะถอดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งหรือไม่โดยการสนับสนุนเสียงข้างมากต่อการถอดถอนผู้นั้น ในบางประเทศ นายกรัฐมนตรียังสามารถยุบสภาและเรียกการเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อใดก็ตามที่ผู้นั้นเลือก และตามแบบนายกรัฐมนตรีจะจัดการเลือกตั้งเมื่อผู้นั้นทราบดีว่าตนได้รับการสนับสนุนดีจากสาธารณะที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา ในประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอื่น แทบไม่เคยจัดการเลือกตั้งพิเศษ แต่นิยมรัฐบาลเสียงข้างน้อยกะทั่งการเลือกตั้งปกติครั้งถัดไป

ระบบรัฐสภามีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขรัฐบาลและประมุขฝ่ายบริหาร จะมีพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีเป็นประมุขก็ได้ แต่ไม่มีอำนาจบริหาร

ระบบประธานาธิบดี

ระบบนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารไม่สามารถยุบสภา ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ระบบกึ่งประธานาธิบดี

ระบบกึ่งประธานาธิบดีเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนซึ่งรัฐบาลมีทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี ประชาธิปไตยแบบนี้ยิ่งพบน้อยกว่าระบบประธานาธิบดีเสียอีก ระบบนี้มีทั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่มีกำหนดวาระ และประธานาธิบดีซึ่งมีกำหนดวาระ ขึ้นอยู่กับประเทศ การแบ่งแยกอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีนั้นแตกต่างกันไป ในกรณีหนึ่ง ประธานาธิบดีถืออำนาจมากกวานายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและประธานาธิบดี ส่วนอีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีสามารถถืออำนาจมากกว่าประธานาธิบดี ประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีแบ่งอำนาจกัน ขณะที่ประธานาธิบดีถืออำนาจแยกจากฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยตนเอง ควบคุมนโยบายการทางประเทศ และเป็นประมุขแห่งรัฐ ("หน้าตาของประชาชน") นายกรัฐมนตรีถูกคาดหวังว่า วางนโยบายของพรรคซึ่งชนะการเลือกตั้งสู่ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลประเภทนี้ยังสร้างปัญหาว่าใครถือความรับผิดชอบใด

ทฤษฎี

เพลโตและอริสโตเติล

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
ภาพวาดเพลโตและอริสโตเติล สองปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ยุคกรีกโบราณ

สำหรับทั้งเพลโตและอริสโตเติลแล้ว นักปราชญ์ทั้งสองนี้ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพลโตได้แสดงความเห็นถึงผู้นำของรัฐในอุดมคติในหนังสืออุตมรัฐ ว่า "ผู้นำของรัฐ ควรจะเป็นผู้นำกลุ่มน้อยที่ทรงภูมิความรู้และเปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศตนเองให้กับรัฐ เมื่อรัฐมีผู้นำที่มีคุณภาพเช่นนี้ รัฐนั้นก็เจริญก้าวหน้า มีระบบการบริหารที่ดี ประชาชนจะมีชีวิตที่เป็นสุข" โดยเขาเห็นว่านักปราชญ์และนักปกครองเป็นผู้นำที่ดี โดยถือว่าการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เนื่องจากเพลโตขมขื่นจากการตัดสินของกลุ่มคนที่ให้ประหารโสกราตีส

ส่วนทางด้านอริสโตเติลได้เปรียบเทียบแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็นสามรูปแบบ ได้แก่ การปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียว (สมบูรณาญาสิทธิราช/ทรราช) การปกครองโดยคณะบุคคลส่วนน้อย (อภิชนาธิปไตย/คณาธิปไตย) และการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ (โพลิตี/ประชาธิปไตย) ซึ่งรูปแบบที่กล่าวมานั้น อริสโตเติลได้จัดแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็นรูปแบบที่ดีและเลวตามลำดับ และเขาได้พิจารณาว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับการปกครองโดยชนชั้นกลาง

เขาเชื่อว่ารากฐานของระบอบประชาธิปไตยนั้นมาจากเสรีภาพ ซึ่งมีเพียงการปกครองแบบดังกล่าวเท่านั้นที่พลเมืองสามารถแบ่งปันเสรีภาพร่วมกันได้ ซึ่งเขาก็ได้โต้แย้งว่านี่เป็นวัตถุประสงค์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยทิศทางหลักของเสรีภาพ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำและภาวะผู้ตามที่ดี เนื่องจากทุกคนมีความเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเหลื่อมล้ำทางฐานะ ความสามารถ ชาติกำเนิด และสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้

"เดี๋ยวนี้หลักการมูลฐานพื้ฐานของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย คือ เสรีภาพ นั่นคือ สิ่งที่ถูกยืนยันตามปกติ โดยบอกเป็นนัยว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้นที่มนุษย์จะเป็นส่วนในเสรีภาพ เพราะพวกเขายืนยันเสรีภาพนี้ว่าเป็นเป้าหมายของทุกประชาธิปไตย แต่ปัจจัยหนึ่งของเสรีภาพ คือ การปกครองและการถูกปกครองในขณะเดียวกัน เพราะหลักความยุติธรรมที่ได้รับความนิยมคือ ความเท่าเทียมกันตามจำนวน มิใช่ความมั่งมี และหากนี่เป็นหลักความยุติธรรมที่แพร่หลาย มหาชนจำต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและการตัดสินใจของเสียงข้างมากนันต้องเป็นที่สุดและต้องกอปรด้วยความยุตธรรม เพราะพวกเขาว่า พลเมืองแต่ละคนควรมีส่วนแบ่งเท่าเทียมกัน เพื่อที่มันจะส่งลให้ในประชาธิปไตย คนจนทรงอำนาจกว่าคนรวย เพราะมีคนจนมากว่าและอะไรก็ตามที่เสียงข้างมากตัดสินนั้นต้องอยู่สูงสุด จากนั้น นี่เป็นเครื่องหมายหนึ่งของเสรีภาพซึ่งนักประชาธิปไตยตัดสินว่าเป็นหลักของัฐธรรมนูญ หนึ่ง คือ ความเป็นอิสระของมนุษย์ที่จะดำเนินชีวิตตามใจชอบ เพราะเขาว่าเป็นการทำหน้าที่ของเสรีภาพ เพราะการดำเนินชีวิตอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งไม่ชอบนั้นเป็นชีวิตของชายที่ตกเป็นทาส นี่เป็นหลักประชาธิปไตยข้อสอง และจากข้อนี้ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าจะต้องไม่ถูกปกครองโดยบุคคลใด ๆ ก็ตาม หรือการปกครองและถูกปกครองในเวลาเดียวกันนั้นไม่เป็นผล และนี่จะเป็นวิถีที่หลักข้อสองสนับสนุนเสรีภาพสมภาค"

ทฤษฎีรูปแบบอื่น

สำหรับนักทฤษฎีการเมืองแล้ว ได้มีการเสนอรูปแบบของประชาธิปไตยอีกเป็นจำนวนมาก อันประกอบด้วย:

สาธารณรัฐ

ในอีกแง่มุมหนึ่ง คำว่า ประชาธิปไตย หมายถึง รัฐบาลที่ได้รับเลือกเข้ามาจากประชาชน โดยอาจเป็นประชาธิปไตยทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ ส่วนคำว่า สาธารณรัฐ สามารถตีความได้หลายความหมาย แต่ในปัจจุบันนี้ คำว่า สาธารณรัฐ หมายถึง ประชาธิปไตยทางอ้อมซึ่งสามารถเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐได้โดยตรง โดยมีระยะเวลาบริหารประเทศที่จำกัด ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐที่ปกครองโดยราชวงศ์ซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยสายเลือด แม้ว่ารัฐเหล่านี้จะมีส่วนของประชาธิปไตยทางอ้อม ซึ่งมีการเลือกหรือแต่งตั้งหัวหน้ารัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี

เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้การยกย่องประชาธิปไตยน้อยครั้ง แต่วิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยบ่อยครั้ง เนื่องจากแนวคิดประชาธิปไตยในสมัยนั้น หมายความถึง ประชาธิปไตยทางตรง เจมส์ เมดิสัน ได้โต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน สหพันธรัฐนิยมหมายเลข 10 ว่าสิ่งใดที่เป็นความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยแตกต่างจากสาธารณรัฐ นั่นคือ ประชาธิปไตยจะค่อย ๆ อ่อนแอลงเมื่อมีพลเมืองมากขึ้น และจะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นจากการแบ่งฝักฝ่าย ตรงกันข้ามกับสาธารณรัฐ ซึ่งจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีพลเมืองมากขึ้นและต่อกรกับฝักฝ่ายอื่น ๆ โดยใช้โครงสร้างสาธารณรัฐ

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและสภาสูง

นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติอเมริกาแล้ว คำถามต่อมา คือ ประชาธิปไตยจะมีวิธีการอย่างไรในการควบคุมเสียงส่วนใหญ่ให้อยู่ในขอบเขต อันได้นำไปสู่แนวคิดของสภาสูง โดยสมาชิกอาจเลือกสมาชิกสภาสูงเข้ามาผู้มีความรู้ความสามารถ หรือเป็นขุนนางมาตลอดชีวิต หรือควรจะมีการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในบางประเทศนั้น ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงฐานะทางการเมืองของกษัตริย์ให้เหลือเพียงสัญลักษณ์หรือศูนย์รวมจิตใจเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว สถาบันกษัตริย์มักจะถูกล้มล้างลง พร้อม ๆ กับเหล่าชนชั้นสูง และบางประเทศซึ่งขุนนางชั้นสูงได้สูญเสียอำนาจลงไป หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบการเลือกตั้งแทน

แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย

 
ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย
แผนภาพของชุดข้อมูลโพลิตี 4 ซึ่งเป็นการรายงานการจัดลำดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศทั่วโลกในปี ค.ศ. 2003: โดยประเทศซึ่งมีสีจาง หมายความว่า มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่มาก ขณะที่ประเทศซึ่งมีสีเข้ม (ซาอุดิอาระเบียและกาตาร์) มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด (ได้คะแนน -10 จาก 10)

แนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้รับการต่อต้านจากบางรัฐ การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยในรัฐอันมิใช่ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งการปฏิวัติประชาธิปไตย โดยการปกครองในระบอบราชาธิปไตย ได้ต่อต้านแนวคิดประชาธิปไตย และพยายามป้องกันการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ถึงแม้ว่าจะมีการประนีประนอม โดยการจัดรูปแบบของรัฐบาลร่วมกัน

ในปัจจุบันนี้ แนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยได้ปรากฏในรัฐคอมมิวนิสต์ สมบูรณาญาสิทธิราชและรัฐบาลอิสลาม ซึ่งแต่ละแนวคิดต่างก็มีเหตุผลของตนในการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปประชาธิปไตยภายในประเทศของตน

การวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตย

นักเศรษฐศาสตร์นับตั้งแต่มิลตัน ฟรีดแมน ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยเป็นการกล่าวอ้างถึงผู้ลงคะแนนเสียงโดยปราศจากเหตุผล เขายกเหตุผลว่า ผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงนั้นไม่ได้รับทราบถึงประเด็นทางการเมืองในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และมีอคติอย่างรุนแรงเกี่ยวกับประเด็นส่วนน้อยที่ประชาชนสามารถทราบได้ ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกของสหภาพแรงงานมักจะได้รับทราบถึงนโยบายด้านแรงงาน ซึ่งสมาชิกของสหภาพแรงงานก็จะพยายามให้มีการผ่านกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์กับสหภาพแรงงานเอง แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงประชากรทั้งหมด ผลที่เกิดขึ้น คือ นักการเมืองไม่อาจเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเลย

นักเศรษฐศาสตร์จากเมืองชิคาโก โดนัลด์ วิทท์แมน ได้เขียนผลงานหลายเรื่องในความพยายามที่จะตอบโต้กับมุมมองทั่วไปกับเพื่อนร่วมงานของเขา โดยเขาได้โต้แย้งว่า ประสิทธิภาพของประชาธิปไตยนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ลงคะแนนเสียงที่มีเหตุมีผล การเลือกตั้งเสรี และมีมูลค่าธุรกิจการเมืองอยู่ในระดับต่ำ นักเศรษฐศาสตร์ ไบรอัน แคปแลน ได้โต้แย้งว่า ในขณะที่วิทท์แมนได้ให้ความคิดเห็นอย่างรุนแรงสองข้อสุดท้ายนั้น เขาไม่อาจข้ามพ้นชัยชนะของผู้ลงคะแนนเสียงที่ไม่มีเหตุผลได้ ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยมิใช่การขาดแคลนข้อมูลเพียงเท่านั้น แต่เหล่าผู้ลงคะแนนเสียงตีความอย่างไม่ถูกต้อง และตัดสินข้อมูลที่พวกเขาไม่เคยรู้

นอกจากนี้ ยังมีคนบางกลุ่มที่โต้แย้งว่า ผู้ลงคะแนนเสียงอาจไม่ได้รับการศึกษามากเพียงพอที่จะใช้สิทธิ์ทางการเมืองของตน พลเมืองที่มีสติปัญญาน้อยอาจไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยในปัจจุบันนี้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวได้รับการพิจารณาเพิ่มขึ้นโดยผู้สนับสนุนประชาธิปไตย อันเป็นความพยายามที่จะรักษาหรือฟื้นฟูการปกครองโดยลำดับชั้นตามประเพณีดั้งเดิม ในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบเอกาธิปไตย และได้มีการขยายแนวคิดนี้ออกไปอีก หนึ่งในความไม่ลงรอยกันระหว่างทั้งสองฝ่าย คือ ประชาธิปไตยอาจจะเป็นการให้ท้ายกับประโยชน์ของพลเมืองระดับพิเศษ ดังที่พลเมืองสามัญได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในภาคการเมืองของประเทศ และจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ผ่านทางกระบวนการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงและการใช้สื่อ ผลของนโยบายรัฐบาลอาจจะได้รับอิทธิพลจากความคิดเห็นของผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า และด้วยเหตุนั้น ประชาธิปไตยจึงเสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนโยบายนั้นมีความสลับซับซ้อน หรือการประกาศให้มวลชนได้รับทราบอย่างไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีการให้การรับรองใด ๆ ว่าผู้ที่ทำการรณรงค์เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาชีพ หรือมีส่วนในวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยไม่พิจารณาถึงว่าบุคคลนั้นได้รับการศึกษามาอย่างเพียงพอหรือไม่

นอกเหนือจากนั้น นักรัฐศาสตร์บางคนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนาของประชาธิปไตยว่าเป็น "ความดีอันมิอาจโต้แย้ง" โดยถ้าหากว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำจำกัดความของประชาธิปไตยว่าเป็นการปกครองโดยให้ความสำคัญกับความต้องการของเสียงข้างมาก ก็อาจจะเกิดผลกระทบในทางลบจากการปกครองรูปแบบดังกล่าวได้ ยกตัวอย่างเช่น เฟียร์ลเบคได้ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นกลางอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอาจตัดสินใจกระจายความมั่งคั่งให้กับผู้ที่ตนเห็นว่าจะสามารถลงทุนหรือเพิ่มมูลค่าของความมั่งคั่งนั้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในประเทศ หรือแม้กระทั่งการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เฟียร์ลเบคยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า ผลของการกระทำดังกล่าวนั่นไม่ใช่เป็นเพราะความล้มเหลวของกระบวนการประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะ ประชาธิปไตยตอบรับความปรารถนาของกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมากที่เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงเสียงของกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบทางเศรษฐกิจภายในประเทศของตน[ ข้อวิจารณ์ดังกล่าวสรุปให้เห็นว่า เสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ผลประโยชน์อันดีที่สุดของพลเมืองทั้งหมดภายในประเทศ หรือไม่เป็นประโยชน์ในอนาคตของประเทศแต่อย่างใด

การขาดความมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน

นักทฤษฎีบางคนกล่าวว่า ประชาชนในปัจจุบันนี้ได้เห็นเพียงแต่ภาพลวงตาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถจับต้องการทำงานของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง ประชาชนเหล่านั้นได้แต่หวังว่าผู้แทนที่ตนเลือกเข้าไปนั้นจะทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ และการจัดตั้งรัฐบาลในบางครั้งก็ได้รับเลือกเข้ามาจากเสียงข้างน้อย

รวมไปถึง แนวคิดการเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่แทนตนในการทำงานของรัฐ ซึ่งไม่ได้มีตัวเลือกที่มากนัก และพบว่าผู้ลงคะแนนเสียงมีอิทธิพลน้อยมาก และอาจจะละเลยประเด็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ได้ประโยชน์ต่อตนเอง แต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

การปกครองโดยฝูงชน

เพลโตได้เขียนแนวคิดของเขาในหนังสืออุตมรัฐ ซึ่งนำเสนอมุมมองด้านลบของประชาธิปไตย ผ่านทางการบรรยายของโสกราตีส: "ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบของรัฐอันมีเสน่ห์ เต็มไปด้วยความแตกต่างและความไม่มีระเบียบ และจัดให้สิ่งที่เท่าเทียมกันและสิ่งที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นอย่างเดียวกัน" เพลโตได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครอง 5 อย่างในงานเขียนของเขาเรียงลำดับจากดีที่สุดไปยังเลวที่สุด เพลโตได้โต้แย้งว่าคัลลิโปลิส ซึ่งนำโดยนักปราชญ์ชนชั้นสูงนั้นเป็นรูปแบบของรัฐบาลอันมีความยุติธรรม ส่วนรูปแบบการปกครองแบบอื่นนั้นมุ่งเน้นไปยังคุณธรรมชั้นต่ำกว่า เริ่มจาก เกียรติยาธิปไตย ซึ่งเชิดชูคุณค่าของเกียรติยศ ตามด้วย คณาธิปไตย ซึ่งเชิดชูคุณค่าของความมั่งคั่ง และตามด้วยประชาธิปไตย

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหล่าผู้มีอำนาจหรือพ่อค้าไม่สามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างเต็มที่ และประชาชนรับเอาอำนาจไปทั้งหมด โดยการเลือกตั้งใครบางคนขึ้นมาตามความปรารถนาของตน โดยพิธีการอันสุรุ่ยสุร่าย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบเสรีภาพให้กับประชาชนมากเกินไป และกลายเป็นความเลวทรามของการปกครองในระบอบทรราชหรือการปกครองโดยฝูงชน

เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกามีเจตนาที่จะบรรจุข้อวิจารณ์นี้รวมกับแนวคิดสาธารณรัฐนิยม ซึ่งรัฐธรรมนูญจะสามารถจำกัดอำนาจที่คนส่วนใหญ่จะสามารถบรรลุได้

ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม

ตามวัฒนธรรมเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลัทธิขงจื๊อและแนวความคิดของศาสนาอิสลาม เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นผลมาจากความไม่เชื่อใจและความไม่เคารพในรัฐบาลหรือศาสนา ความไม่เชื่อใจและความไม่เคารพนั้นได้กระจายไปยังสังคมทุกภาคส่วน และกลุ่มคนทุกวัย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนั้นคาดว่าจะนำไปสู่การหย่าร้าง อาชญากรรมวัยรุ่น ความป่าเถื่อนและความเป็นอันธพาล รวมไปถึงการศึกษาที่ไม่เพียงพอในสังคมตะวันตก

แนวคิดอิสลามได้โต้แย้งว่า ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมนั้นเกิดขึ้นมาจากความไม่เคารพในตัวผู้นำ ผู้ซึ่งตั้งมาตรฐานทางศีลธรรมไว้สูง และเมื่อมีการเปิดเสรีภาพทางการเมืองนั้นนำไปสู่ความเป็นปัจเจกชนจนเลยเถิดไป โดยแนวคิดอิสลามได้ยกย่องว่า มีเพียงสาธารณรัฐอิสลามเท่านั้นที่จะต้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าได้

การส่งเสริมความเป็นปัจเจกชนยังได้ทำให้มนุษย์ออกห่างจากศีลธรรมมากขึ้นทุกที นับเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะตั้งตนเป็นพระเจ้า และพยายามปกครองตนเองทั้ง ๆ ที่เป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่เหมาะสมกับมนุษย์เลย ซึ่งปัญหานี้ได้เชื่อมโยงกับแนวความคิดการปกครองโดยฝูงชน

ความขาดเสถียรภาพทางการเมือง

ในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลมักจะมาจากการเลือกตั้งและจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศจากรัฐบาลก่อนหน้าเสมอ ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองจะยังคงถือครองอำนาจอยู่ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การประท้วงของฝูงชน และการนำเสนอของสื่อบ่อยครั้งมักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยไม่คาดฝันเสมอ บ่อยครั้งที่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจและคนเข้าเมือง ซึ่งมักจะเป็นการขัดขวางการลงทุนและชะลออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลดังกล่าว คนจำนวนมากจึงเสนอว่าแนวคิดประชาธิปไตยไม่เหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการกำจัดความยากจนถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด

รวมไปถึงแนวความคิดที่ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปล่อยให้ประชาชนสามารถถอดถอนผู้ปกครองออกจากอำนาจได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายทั้งสิ้น

วาระของรัฐบาลสั้น

ประชาธิปไตยยังได้ถูกวิพากษ์วิจารณว่า มีการจัดการเลือกตั้งอยู่บ่อยครั้งเนื่องจากความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลผสม รัฐบาลผสมมักจะถูกจัดตั้งขึ้นในหลายประเทศ หลังจากมีการจัดการเลือกตั้งแล้ว และพื้นฐานของการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรนั้นเพื่อเป็นการประคับประคองอำนาจเสียงข้างมากของตน ไม่ใช่เป็นการรวมตัวเนื่องจากความเห็นพ้องทางด้านอุดมการณ์ พันธมิตรอันเป็นการฉวยโอกาสนี้ไม่เพียงแต่มีความได้เปรียบเหนืออุดมการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่มักจะมีอายุสั้น จากความลำเอียงในการเลือกปฏิบัติในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน หรือความเปลี่ยนแปลงในความเป็นผู้นำในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลก็จะยกเลิกให้การสนับสนุนรัฐบาล

ถึงกระนั้น รัฐบาลซึ่งมีความมั่นคงก็ยังมีกำหนดวาระการทำงาน และจะต้องหลุดจากอำนาจ ทุก ๆ สี่หรือห้าปีจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ทำให้นโยบายของพรรคการเมืองที่สมัครรับเลือกตั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนในระยะสั้นในระหว่างช่วงเวลาที่ตนยังคงอยู่ในอำนาจ มากกว่าที่จะเสนอนโยบายอันก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว แนวคิดดังกล่าวได้มองว่า การทำนายสภาพสังคมในระยะยาวแทบจะเกิดขึ้นตรงตามที่ทำนายไว้ทีเดียว

อิทธิพลจากชาติตะวันตก

ความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยนั้นมาจากอิทธิพลตะวันตกทั้งสิ้น อันเกิดมาจากการต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็น โดยชาติตะวันตกได้ใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในระหว่างสงครามเย็น จึงอาจสรุปได้ว่า ประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดจากกระบอกปืน หรืออำนาจของเงินทั้งสิ้น อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเข้าแทรกแซงทางทหาร อันเป็นการก่อตั้งสถาบันประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของชนส่วนใหญ่ภายในประเทศนั้น

ความต้องการให้โลกทั้งใบอยู่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว และความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยนั้นถือว่าเป็นสงครามทางความคิด ซึ่งการต่อสู้ระหว่างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับการปกครองในรูปแบบอื่นนั้นเป็นสงครามที่ชอบด้วยเหตุผล และประชาธิปไตยสมควรที่จะได้รับชัยชนะ ทว่าการจำกัดความของประชาธิปไตยของชาติตะวันตกในปัจจุบันนี้ เป็นเพียงการปกครองโดย "กองกำลังประชาธิปไตย" เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของชาติตะวันตก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

สถาบันอันเป็นประชาธิปไตยซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในบางประเทศ โดยมิได้มีการลงมือปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง ดังที่ประชาธิปไตยถูกมองว่าไม่ธรรมดาหรือขัดกับวัฒนธรรมจนไม่อาจยอมรับได้ อาจส่งผลให้ความเป็นประชาธิปไตยไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาว กรณีที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงสถาบันประชาธิปไตยซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยแรงกดดันจากต่างชาติ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน การสนับสนุนจากต่างประเทศให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ นั้นไม่อาจหยุดยั้งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้

กระบวนการตัดสินใจล่าช้า

กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยการตัดสินใจของเสียงข้างมากในการตัดสินในประเด็นหนึ่ง ๆ ซึ่งมักจะใช้เวลานานกว่าการตัดสินใจโดยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบสนองต่อสถานการณ์ระหว่างสงคราม ซึ่งการตัดสินใจจำเป็นต้องอาศัยความเด็ดขาดรวดเร็วในการปกครองประเทศ

การกีดกันแนวคิดอันไม่ใช่ประชาธิปไตย

บางรัฐยังได้มีการกีดกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมีความเห็นต่อต้านประชาธิปไตย และขัดขวางพรรคการเมืองซึ่งต่อต้านประชาธิปไตย ประกอบกับ พรรคการเมืองบางพรรคได้ผสมรวมแนวคิดเบ็ดเสร็จนิยมเข้าไปในทฤษฎีประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของวัฒนธรรมทางการเมืองเองด้วย ตลอดไปจนถึง หลักการของตลาดเสรี ซึ่งเป็นจำกัดเสรีภาพทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ได้ผลในทางทฤษฎี

นอกจากนี้ยังได้มีการเปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และกระทำการใด ๆ โดยอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่สมควรจะถูกล้ม ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะขัดต่อศีลธรรมก็ตาม ดังนั้นรัฐต่าง ๆ จึงเกิดความเชื่อที่ว่าประชาชนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และการตัดสินใจทั้งหลายนั้นเป็นการกระทำอันสมควรดีแล้ว

ความล้มเหลวในการขจัดความเหลื่อมล้ำ

ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ เมื่อเวลาผ่านไป ความมั่งคั่งและรายได้กระจุกตัวอยู่ในหมู่เศรษฐี และความเหลื่อมล้ำนั้นก็ยังคงเพิ่มขึ้นทุกขณะอีกด้วย นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลวในทางทฤษฎีของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ นอกจากความเหลื่อมล้ำทางด้านฐานะความเป็นอยู่แล้ว ยังได้มีความแตกต่างทางด้านเพศ ชาติพันธุ์ หรือสถานะทางสังคม

นอกจากความล้มเหลวในการกำจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างพลเมืองภายในประเทศแล้ว ในระดับโลก ความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐ ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยากจนของชาวแอฟริกา อันเป็นประเด็นปัญหาระดับโลก แต่ประชาธิปไตยไม่อาจยื่นมือเข้ามาเยียวยาได้ และนับวันความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจนจะยิ่งห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาในด้านอื่น

 

ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย

 

เนื้อหาโดย: Spirit of Queen
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Spirit of Queen's profile


โพสท์โดย: Spirit of Queen
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
40 VOTES (4/5 จาก 10 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
รพ.แม่ลาน แจง! "บังชาติ"หรือ"แม่หญิงลี" ไม่ได้เป็นบุคลากรรพ.แม่ลาน หลังบุคคลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด!สาวสั่งอาหารผ่านแอพฯ แต่ไรเดอร์แชทบอกเธอให้เปลี่ยนร้าน เพราะร้านนี้สกปรกมาก 😌บ้าไปแล้ว! โพสต์ขายดินสอ 5 ล้าน..อึ้งกว่าคือ มีคนแย่งซื้อถึง 4 คน"ซีอิ๊วแบบเม็ด" ฉีกทุกกฎของซอส..นวัตกรรมใหม่จาก "เด็กสมบูรณ์"สารก่อมะเร็ง 4 อย่าง ที่ลูกคุณอาจจะได้รับทุกวันไต้หวันสั่งปิดร้านอาหารดัง หลังทำลูกค้าดับ 2 รายและป่วยหนัก 4 รายครูหนุ่มชาวจีนโพสต์รูปตัวเอง เปรียบเทียบสมัยก่อนเเละหลังทำงานได้ 6 ปี เปลี่ยนไปจริง ๆ 😌ลาวขุดพบเจอหีบกะไหล่โบราณ รอการเปิด คาดว่าน่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ!อีกแล้ว! รถไฟฟ้าสายสีเหลืองหยุดวิ่งตลอดสาย..เหตุชิ้นส่วนรางจ่ายไฟฟ้าร่วง
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ระทึก! เรือยักษ์บรรทุกสินค้าชนสะพานถล่ม ทำให้มีผู้คนและรถยนต์จำนวนมากตกลงสู่แม่น้ำเบื้องล่าง"ซีอิ๊วแบบเม็ด" ฉีกทุกกฎของซอส..นวัตกรรมใหม่จาก "เด็กสมบูรณ์"เลขมงคลเลขวันเกิดพระราชวงศ์ เลขเด็ด 1 เมษายน 2567ทำไม...ต้องกินอาหารคลีน
ตั้งกระทู้ใหม่