“8 สัญลักษณ์มงคล”
“8 สัญลักษณ์มงคล” หรือ “ปาจี๋เสียง”(八吉祥) หรือ “จี๋เสียงปาเป่า”(吉祥八宝) คือภาพสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาฝ่านมหายานทั้งแปดอย่าง เรียกกันว่า “อัษฏมงคลแปดประการ” จัดเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายสิ่งของเครื่องใช้ หรือวัตถุมงคลทั้งแปดประเภท ซึ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความสิริมงคลทั้งปวง
สัญลักษณ์มงคลทั้งแปดประการ จึงไม่เพียงเป็นลวดลายอันสวยงาม แต่ยังแฝงความหมายอันลึกซึ้งต่อหลักพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนา เชื่อกันว่า สัญลักษณ์ทั้งแปดนี้ก็คือ ทรัพย์ประจำกายขององค์พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้รูปสัญลักษณ์ทั้งแปดจะปรากฎอยู่ในสถาปัตยกรรมจีนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเป็นลวดลายประดับบนอาคารวัด วิหาร อาราม รวมทั้งเป็นลวดลายบนเครื่องเรือนเครื่องใช้ของภิกษุฝ่ายมหายาน และยังใช้เป็นแบบอย่างลวดลายผ้าสำหรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และงานศิลปะประเภทศิลปะประเภทศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ในสมัยราชวงศ์ชิง เฉียนหลงฮ่องเต้ยังได้เคยมีรับสั่งให้จัดสร้างจัดทำภาชนะและเครื่องเคลือบดินเผาสำหรับใช้ในวังเป็นลาย 8 สัญลักษณ์มงคลอีกด้วย เพื่อให้พระองค์และราชวงศ์ประสบโชคดีและมีความสิริมงคลตลอดไป
ในพุทธศาสนาตันตระวัชรยานถือว่า 8 สัญลักษณ์มงคลนี้เป็นสิ่งแทนพระวรกายของพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวคือ
ร่มวิเศษ (เป๋าส่าน 宝伞) เป็นสัญลักษณ์แทน พระเศียร (ศีรษะ)
สัญลักษณ์แทนอำนาจแห่งพุทธองค์ที่ปกป้องความร้อนจากสุริยะ ดั่งแสงธรรมที่คอยป้องกันจิตวิญญาณของมนุษย์ให้พ้นภัยจากภยันตรายทั้งปวง
ปลาทอง(จินอวี๋ 金鱼) เป็นสัญลักษณ์แทน พระเนตร (ดวงตา)
สัญลักษณ์แทนตาทั้งคู่ที่เปิดกว้างเสมอแม้อยู่ในน้ำ เหมือนปลาที่ลืมตาว่ายน้ำแม้ในสายน้ำเชี่ยว และความรู้แจ้งต่ออุปสรรคและปัญหาทั้งปวง ดังเช่นการปฏิบัติตนอย่างมีสติสัมปัญชัญญะในวิถีทางที่ถูกต้อง นำพามาซึ่งความสุขและสมหวัง
ดอกบัว (เหลียนฮวา 莲花) เป็นสัญลักษณ์แทน พระชิวหา(ลิ้น)
สัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่แม้กำเนิดจากโคลนตม แต่ก็ไม่แปดเปื้อนมลทิน ซึ่งสัญลักษณ์ดอกบัวในอีกนัยหนึ่งก็คือ การแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์พระศาสดาแห่งพุทธศาสนา
แจกันวิเศษ (เป่าผิง 宝瓶) เป็นสัญลักษณ์แทน พระศอ (คอ)
สัญลักษณ์แทน ที่บรรจุสมบัติ คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เปรียบเสมือนทรัพย์ในแจกันสมบัติ ที่จะช่วยให้ผู้ศรัทธาสมมาดปรารถนา
ธงชัย (ไป๋ไก้ 白盖) เป็นสัญลักษณ์แทน พระวรกาย(ร่างกาย)
สัญลักษณ์ทนความรู้อันกระจ่างแจ้งและธรรมเหนืออธรรม เปรียบเสมือนดังธงชัยที่ประกาศพระศาสนาสู่การรู้แจ้งเห็นธรรม
ธรรมจักร (ฝ่าหลุน 法轮) เป็นสัญลักษณ์แทน พระบาท(เท้า)
สัญลักษณ์แทนพระธรรมคำสอน ความไม่หยุดนิ่งและเคลื่อนที่อยู่เสมอ เป็นวงล้อแห่งธรรมที่แทนคำสอนของพระพุทธองค์ที่ไม่หยุดนิ่ง และเคลื่อนที่สู่ความรุ่งเรืองตลอดเวลา
หอยสังข์ (ฝ่าหลอ 法螺) เป็นสัญลักษณ์แทน พระวาจา(คำพูด)
หรือบางครั้งเรียกว่า หอยสังข์ขาว หรือ ไป๋ไห่หลัว (白海螺) สัญลักษณ์แทนเสียงแห่งพระธรรมของพุทธองค์ที่ก้องกังวานไปทุกสารทิศ หรือเสียงแห่งการประกาศพระศาสดาสู่โลก
เงื่อนไม่รู้จบ (ผานฉาง 盘长) เป็นสัญลักษณ์แทน พระจิต(จิตใจที่รู้แจ้ง)
สัญลักษณ์แทนจิตใจอันพิสุทธิ์ ความลึกซึ้งในห้วงดวงใจความคิดและความรักที่เป็นเงื่อนตายดั่งปมที่ไม่รู้จบ หรือรักอมตะนิรันดร์
อนึ่งอิทธิพลของภาพ 8 สัญลักษณ์สิริมงคลนี้ ยังได้แพร่หลายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ตามพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เผยแผ่ไปจากจีนสู่ดินแดนต่าง ๆ ทำให้คติความเชื่อเรื่อง 8 สัญลักษณ์มงคลมีส่วนสัมพันธ์กับศิลปะของธิเบต เนปาล และภูฏาน ซึ่งจะเรียก 8 สัญลักษณ์นี้ว่า “ทาชิทักเย” (Tashi Tagye)