สัญญาณไฟจราจร สร้างมาเพื่อรถม้าไม่ใช่รถยนต์
สัญญาณไฟจราจร หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Traffic lights, stoplights, traffic lamps, traffic signals, signal lights, robots หรือ semaphore อยู่กับท้องถนนมาช้านาน ว่าแต่สัญญาณไฟจราจรนี้มีที่มายังไง
สัญญาณไฟจราจรมีขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 10 ธันวาคม ปี ค.ศ.1868 เป็นผลงานของ เจ.พี. ไนต์ วิศวกรชาวอังกฤษ โดยติดตั้งที่สี่แยกใจกลางมหานครลอนดอนบริเวณหน้ารัฐสภาอังกฤษ เพื่อใช้ควบคุมการสัญจรของรถม้า และคนเดินเท้าในบริเวณสี่แยก โดยสัญญาณไฟจราจรในสมัยนั้นมี 2 แขน เมื่อแขนทั้ง 2 ข้างเคลื่อนตัวขนานกับพื้น พาหนะที่กำลังสัญจรบริเวณสี่แยกจะต้องหยุดทันที แต่หากแขนทั้ง 2 ข้างเคลื่อนตัวทำมุม 45 องศา หมายความว่า ให้ผู้ใช้พาหนะทุกชนิดใช้ถนนอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
บรรยากาศการสัญจรบนท้องถนนด้วยรถม้า
สัญญาณไฟจราจรนั้นมีเพียง 2 สี คือ สีแดง และสีเขียว โดยสีแดง หมายถึง "หยุด" ส่วนสีเขียวหมายถึง "ระวัง" ทั้งนี้ด้วยความที่สัญญาณไฟจราจรใช้พลังงานจากแก๊ส จึงมักมีอุบัติเหตุไม่คาดฝันอยู่เสมอ โดยในวันที่ 2 มกราคม ปี ค.ศ. 1869 หลังเปิดใช้ไม่นาน ดวงไฟก็เกิดการระเบิด จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บถึง 1,869 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งดูแลการทำงานของสัญญาณไฟจราจร 1 คนเสียชีวิต
หลังจากนั้นสัญญาณไฟจราจรก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนเริ่มเข้าสู่ปี ค.ศ.1912 ซึ่งเป็นยุคแห่งการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ก็มีการคิดค้นสัญญาณไฟจราจรแบบใช้พลังงานไฟฟ้า ที่เมืองซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา โดย เลสเตอร์ ไวร์ ตำรวจชาวอเมริกัน โดยสัญญาณไฟจราจรยังคงมีเฉพาะไฟเขียว และไฟแดงเท่านั้น จนเมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ. 1920 วิลเลียม พอตต์ ตำรวจจราจรเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ก็ได้ออกแบบสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ ด้วยการเพิ่มไฟสีเหลือง เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ระวัง และชะลอความเร็วก่อนที่จะหยุด หรือออกตัว ทั้งนี้การทำงานของสัญญาณไฟจราจรยังต้องให้มนุษย์ควบคุม
ต่อมาในปี ค.ศ. 1923 การ์แรตต์ มอร์แกน นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เชื้อสายแอฟริกัน ก็ได้ออกแบบสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติ มีไฟ 3 สี ทำจากวัสดุที่เป็นแก้ว โลหะ หรือปุ่มสะท้อนแสงติดอยู่กับเสาไม้หรือเสาเหล็กเพื่อให้ในกลางคืนได้ง่าย
ทั้งยังสามารถตั้งเวลาเปลี่ยนไฟในช่วงวินาทีหรือนาทีตามแต่ความหนาแน่นของรถยนต์ในบริเวณนั้น โดยสัญญาณไฟจราจรนี้ติดตั้งที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ในบางเมืองจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า detector เพื่อควบคุมสัญญาณไฟจราจรด้วยสวิตช์หรือแม่เหล็กที่อยู่บนพื้นถนน เมื่อมีรถมากสัญญาณไฟจราจรก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเพื่อระบายรถออก ในทางตรงกันข้ามเมื่อมีรถบนถนนน้อยลงสัญญาณไฟจราจรก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ทั้งนี้ ในปัจจุบันการควบคุมจราจรจะต้องมีการวางแผนและศึกษามาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ติดตั้ง หรือระยะเวลาการปล่อยรถ เพื่อให้การจราจรบนท้องถนนเป็นไปอย่างคล่องตัว และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ท้องถนน
เอสารอ้างอิง
www.mentalfloss.com, www.ideafinder.com, www.myuniversalfacts.com
Photo
qw88nb88.wordpress.com, justacarguy.blogspot.com, nenajackson.wordpress.com