4 สัตว์เลี้ยงเอ็กโซติสุดฮอต ที่ใครเห็นเป็นต้องหลงรัก!!!
ในปัจจุบันมีคนหันมาให้ความสนใจกับสัตว์เลี้ยงแปลกๆ ( Exotic Pet )มากขึ้น ไม่ว่าจะเนื่องมาจากกระแสนิยม หรือ การต้องการหาสิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิต แต่จากสาเหตุอะไรก็แล้วแต่สัตว์เหล่านี้ก็ได้เข้ามานั่งอยู่ในหัวใจใครต่อหลายคนแล้ว และด้วยความที่สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างพิเศษ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงทั่วไปอย่างน้องหมาน้องแมว ดังนั้น การศึกษาหาข้อมูลของสัตว์ชนิดนั้นๆ ก่อนจะซื้อมาเลี้ยงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่โดยพฤติกรรมของคนส่วนมากแล้วจะไม่ค่อยมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้นๆ ก่อน อาจได้ข้อมูลจากผู้ขายมาบ้างแต่ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องเท่าไรนัก
เพราะฉะนั้น วันนี้เพื่อให้คนรักสัตว์ที่คิดจะเลี้ยงเหล่าสัตว์เลี้ยงหน้าแปลก(แต่น่ารัก) ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับนิสัยใจคอและวิธีการเลี้ยงพวกเขาอย่างถูกต้อง ชลลี่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแปลกๆ สุดฮิตมาฝากกันค่ะ ไปดูกันดีกว่าว่าจะมีตัวอะไรบ้าง
เม่นแคระเจ้าหนามตัวน้อย
เริ่มจากเจ้าทุเรียนแคระ เอ้ย! ไม่ใช่สิ ... "เจ้าเม่นแคระ" ต่างหากล่ะคะ หลายคนอาจจะฝังใจว่าเม่นไม่ใช่สัตว์เลี้ยงแต่เป็นสัตว์ที่มีอันตราย (เพราะเค้าอาจจะสะบัดหนามใส่เรา) แต่ชลลี่จะบอกให้นะคะว่าถ้าคุณอยากมีเพื่อนแก้เหงาในยามราตรีล่ะก็ ไม่มีใครจะเหมาะไปกว่าเจ้าเม่นแคระแล้วล่ะค่ะ เพราะเม่นแคระ เป็นสัตว์นอนกลางวัน ตื่นหากินตอนกลางคืน ถ้าเลี้ยงเม่นแคระในบริเวณที่ใกล้กับบริเวณที่นอน เราจะได้ยินเสียงเม่นแคระกระทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งคืน เช่น เดินไปมาในกล่อง ยกถ้วยอาหารเล่น กัดกินอาหาร กินน้ำจากขวด ... เจ้าเม่นแคระเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างรักสันโดษและห่วงถิ่นฐานหาอาหาร ถ้าหากอยู่รวมกันอาจจะกัดกันเองก็ได้ ดังนั้นถ้าจะเลี้ยงหลายๆ ตัวก็จะต้องแยกพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนค่ะ
ส่วนเรื่องของความฉลาดแสนรู้ของเจ้าเม่นแคระนั้น คงต้องบอกกันตามตรงค่ะว่า สู้กระต่าย หรือหนูไม่ได้แน่ๆ ... เม่นแคระไม่ใช่สัตว์ที่เป็นมิตรกับคนแปลกหน้านัก(ถึงแม้คนคนนั้นจะดูเป็นมิตรมากแค่ไหนก็ตาม) ด้วยความที่เม่นแคระเป็นสัตว์ที่มีหนามที่ปกคลุมอยู่ด้านบนทั่วทั้งตัว หนามของเม่นแคระไม่มีทางอ่อนนุ่มเหมือนขนสัตว์หลายๆ อย่างแน่นอน ดังนั้นสาวๆ ต้องระวังหนามของเค้าตำมือ เราจะต้องรู้จักวิธีจับที่ถูกต้อง หากจับไม่ถูกวิธีหรือทำให้เค้าตกใจ หนามอาจจะกัดหรือพองหนามขึ้นเพื่อป้องกันเองค่ะ
ชูการ์ไกเดอร์เจ้าจิงโจ้น้อยตาแบ๊ว
หลายคนอาจจะคิดว่าเจ้านี่เป็นประรอก แต่จริงๆ แล้วเจ้านี่คือ "จิงโจ้บิน" ต่างหากค่ะ!! เพราะชูการ์ไกเดอร์เป็นมาร์ซูเปี้ยน หรือสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับเลี้ยงลูก ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ หมีโคอะล่า และจิงโจ้ นั่นเองค่ะ ชูการ์ไกเดอร์เป็นสัตว์สังคมค่ะ สามารถอยู่กันเป็นฝูงได้และจะมีการแบ่งอาณาเขตของฝูงตัวเองอย่างชัดเจน ที่เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้อาจจะคิดว่าเค้าเหมือนพวกกระรอกกระต่ายคือกินแต่พืช แต่จริงๆ แล้วชูการ์ไกเดอร์เป็นสัตว์หากินกลางคืนที่สามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ค่ะ ตามธรรมชาติแล้วจะกินชูการ์ไกลเดอร์กินเนื้อยางหรือน้ำหวานของต้นอคาเซีย และต้นยูคาลิปตัส
สำหรับคนที่คิดว่าจะเลี้ยงชูการ์ไกเดอร์ล่ะก็ เตรียมใจไว้เลยนะคะว่าเจ้านี่เป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยหยุดนิ่ง ต้องใช้พลังงานในการผาดโผนค่อนข้างมาก ดังนั้นพลังงานและพื้นที่ทำกิจกรรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชูการ์ไกเดอร์ที่สุดค่ะ
เวล คาเมเลี่ยน ดุ๊กดิ๊ก
อ้าวนี่มันเจ้าแรงโก้ฮีโร่ทะเลทรายนี่!! ... เวล คาเมเลี่ยน ถือเป็นคาเมเลี่ยนสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในเมืองไทย เพราะความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในไทยได้ง่าย และความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ แต่สำหรับการเลี้ยงเวล คามิเลี่ยนนั้นอาจจะยุ่งยากซักหน่อย เพราะว่าด้วยปัจจัยการเลี้ยงที่ยังจำกัด เช่น เรื่องอาหาร รวมไปถึงสัตวแพทย์ที่มีทักษะด้านสัตว์เลื้อยคลาน ยังมีอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับสาขาอื่น นอกจากนี้การทีเราจะเลี้ยงเวล คาเมเลี่ยน เรายังต้องมีการจัดการการเลี้ยงที่ค่อนข้างต้องการการเอาใจใส่มากกว่าสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ ดังนั้นถ้าใครคิดจะเลี้ยงเจ้าแรงโก้ล่ะก็ คงจะต้องศึกษาวิธีการเลี้ยงให้ดีนะจ๊ะ
ชินชิล่าน่ารักอ่ะ!!
ขอบอกว่าน่ารักมากๆ เลยล่ะค่ะเจ้าตัวนี้ มองเผินๆ เหมือนหนู+กระต่าย+จิงโจ้ ชลลี่เองก็หมายมั่นปั้นมือไว้ว่า ซักวันจะต้องเลี้ยงเจ้าชินชิล่าให้ได้เลยทีเดียวเชียว ... เห็นเป็นสัตว์แปลกๆ แบบนี้ แต่ชินชิล่าไม่ได้เลี้ยงยากอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจหรอกค่ะ การเลี้ยงชินชิล่านั้นข้อควรระวังมีอยู่แค่ 2 อย่าง คือ อากาศ และ อาหาร ในเรื่องของอากาศ ชินชิล่า เป็นสัตว์เมืองหนาวและไม่สามารถระบายความร้อนด้วยตัวเองได้ แต่ชินชิล่าก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในห้องที่ไม่ต้องเปิดแอร์ได้ แต่จะต้องไม่ร้อนจนเกินไปและมีอากาศถ่ายเทที่สะดวก แต่ถ้าสามารถเลี้ยงในห้องแอร์ได้ ชินชิล่าจะมีขนที่หนานุ่มมากกว่าค่ะ
ส่วนเรื่องอาหาร ชินชิล่า เป็นสัตว์ที่กินน้อย เพราะมาจากเขตที่แห้งแล้งบนเทือกเขาสูง กินเพียงหญ้าแห้งและเมล็ดพืช ดังนั้นจึงไม่ควรให้อาหารมากเกินไป ควรให้อาหารสำเร็จรูปของชินชิล่า 2 ช้อนโต๊ะต่อวันหรือ 1/3 ถ้วย สำหรับตัวโตเต็มวัย ร่วมกับการให้หญ้าแห้งควบคู่ไปด้วยไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมดาหรือแบบอัดแท่งก็ได้ นอกจากนี้ อาจจะให้ผลไม้ชิ้นเล็ก ๆ 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยระบบย่อย เช่น แอปเปิ้ล สาลี แต่ไม่ควรให้ กะหล่ำปลี ข้าวโพด หรือผักกาด เพราะผักเหล่านี้มีแก๊สซี่งอาจจะทำให้ชินชิล่ามีอันตรายได้
สำหรับการทำความสะอาดตัวของชินชิล่า ห้ามอาบน้ำเด็ดขาด ให้ใช้ทรายขี้เถ้าภูเขาไฟสำหรับชินชิล่า ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป นำขี้เถ้าภูเขาไฟใส่โหลแก้ว หรือถาด แล้วใส่ไว้ในกรง ชินชิล่า จะลงไปคลุกทำความสะอาดตัวเอง แค่นี้ ชินชิล่า ก็จะขนฟูน่ารักแล้วล่ะค่ะ
แต่ละตัวน่ารักๆ ทั้งนั้นเลย ... เห็นแบบนี้แล้วอยากจะเปิดสวนสัตว์ที่บ้านไปซะให้มันรู้แล้วรู้รอดไป อ๊ะๆๆ แต่ไม่ใช่ว่าเห็นแค่ความน่ารักของพวกเขาแล้วก็จะรีบไปซื้อหามาเลี้ยงกันทันทีโดยไม่ศึกษาข้อมูลนิสัยใจคอและวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องก่อนนะคะ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วในตอนต้นว่า ถ้าหากคิดจะเลี้ยงเจ้าสัตว์พวกนี้จริงๆ เราจำเป็นจะต้องศึกษาอย่างละเอียดและเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะรับผิดชอบชีวิตของพวกเขาด้วย ไม่ใช่ว่าซื้อมาเลี้ยงแล้วก็ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ใส่ใจดูแล ทำแบบนี้ไม่ดีไม่เอา ชลลี่ไม่ปลื้มนะคะ!!!
เรื่องโดย : ชลลี่