การจับปลาด้วยนกกาน้ำ เรื่องราวที่อยากให้อ่าน
สวัสดีครับเพื่อนๆ ช่วงนี้นึกไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี บังเอิญเมื่อกระทู้ที่แล้วที่ผมโพสท์เรื่อง ภาพวิวสวยๆ ทั่วทุกมุมโลก มีเพื่อนสมาชิกชื่อ GaNSince สงสัยว่าภาพที่เห็นด้านบนนี้อยู่ที่ไหน ก็เลยทำให้ผมนึกขึ้นได้ทันทีว่ามีเรื่องได้เขียนแล้ว ก็ต้องขอบคุณน้อง ด้วยนะครับที่ทำให้มีเรื่องได้เขียน
ปัจจุบันเพื่อนๆ คงรู้จักการหาปลากันดี ตั้งแต่ การใช้แห (เด็กต่างจังหวัดอาจยังคงได้เห็นกันอยู่) การใช้อวน ใช้เบ็ด ไปจนถึงการใช้เรือประมงขนาดใหญ่ออกสู่ทะเล แต่เชื่อหรือไม่ครับ ยังมีการหาปลาอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้อุปกรณ์ในการหาปลาที่ไม่ได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ทั่วไป แต่เป็นการใช้ชีวิตของนกตัวน้อยที่มีชื่อว่า "นกกาน้ำ" ในการช่วยจับปลาให้ชาวประมง การหาปลาด้วยวิธีนี้ได้มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว วิธีนี้ถูกพบที่ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น
การจับปลาของนกกาน้ำ เป็นการประมงแบบพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ด้วยการใช้นกกาน้ำ ซึ่งเป็นนกที่เชียวชาญในการว่ายน้ำและดำน้ำจับปลาด้วยปาก ด้วยความที่มีจะงอยปากยาวแหลมและพังผืดที่เท้าเชื่อมติดกันเหมือนเป็ด โดยนกกาน้ำหลายชนิดสามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ บางตัวอาจจะถือกำเนิดมาในคอกเลี้ยงของมนุษย์
การจับปลาด้วยวิธีการแบบนี้ เริ่มที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นระยะเวลานานกว่า 1,500 ปี มาแล้ว ในจีนและญี่ปุ่น โดยชาวประมงจะพายเรือออกไปพร้อมด้วยฝูงนกกาน้ำ จากนั้นจะปล่อยให้นกลงไปในน้ำ และใช้ไม้พายตีน้ำเพื่อให้นกตื่นตัวและดำลงไป ทั้งนี้จะต้องใช้เชือกผูกคอนกด้วยเพื่อมิให้นกกลืนปลาลงไป แต่เมื่อนกตัวใดหาปลาได้ ชาวประมงจะแบ่งชิ้นปลาให้แก่นกเป็นรางวัล
สำหรับชาวจีนจะถ่อแพออกสู่แม่น้ำ ปัจจุบันยังคงมีให้เห็นที่ทะเลสาบ เอ๋อไห่ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงในเมืองต้าลี่ มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนกกาน้ำผูกขาไว้ประมาณ 5-10 ตัว ส่วนที่ลำคอของนำก็จะผูกเป้นบ่วงไว้เพื่อไม่ให้นกกลืนปลาลงไปได้ แล้วปล่อยให้นกดำลงไปจับปลา เมื่อนกคาบปลาไว้ได้แต่ไม่สามารถกลืนลงไปได้ ชาวประมงก็จะจับออกจากปากนกเป็นอันเสร็จขั้นตอน
ในภาพจะเห็นว่าที่คอมีเชือกผูกอยู่
ที่ทะเลสาบเอ๋อไห่ ในมณฑลยูนนาน ยังคงอนุรักษ์การจับปลาด้วยนกกาน้ำอยู่ โดยถือเป็นไฮไลต์การท่องเที่ยวที่สำคัญประการหนึ่งของทะสาบแห่งนี้
การจับปลาของชาวประมงญี่ปุ่น
ภาพวาดโบราณของญี่ปุ่น แสดงถึง เทศกาลอุไก
การเลี้ยงนกกาน้ำให้จับปลาเป็นหนึ่งในธรรมเนียมวิธีการจับปลาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการจดบันทึกว่าการจับปลาแบบนี้มีมาประมาณเกือบจะ 1500 ปีก่อน ชาวประมงที่ถูกเรียกว่า Ushou (อุโชว คนที่บังคับนกกาน้ำให้จับปลา) จะคอยควบคุมเชือกที่ผูกกับคอนกกาน้ำ 5 –10 ตัว ที่คอของนกกาน้ำจะถูกเชือกพันไว้ ถึงแม้ว่านกจะกลืนปลา แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปอยู่ท้องได้ถ้าสิ่งนั้นใหญ่เกินกว่าความกว้างที่กำหนดไว้ ซึ่งก็จะเหมือนกับที่ประเทศจีน
ปลาที่จับด้วยนกกาน้ำ คือ ปลา ayu หรือปลา Sweetfish เป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติอร่อย การจับปลาด้วยนกกาน้ำ จะกระทำในเวลากลางคืน ยกเว้นในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง
ชาวประมงจะจุดโคมไฟไว้ที่หัวเรือ ซึ่งเมื่อปลา ayu ตกใจแสงไฟ ก็จะว่ายแฉลบไปมา ทำให้เกล็ดปลาสะท้อนกับแสงไฟ และจะถูกนกกาน้ำจับกินโดยง่าย
ปลา ayu
ปลา ayu ที่จับโดยนกกาน้ำ จะไม่มีรอยบาดแผลใดๆ จึงจัดเป็นของชั้นดี ราคาแพง และจะถูกส่งไปถวายให้กับราชวัง หรือบรรดาขุนนางต่างๆ ที่ปกครองเขตแดนนั้นๆ
Oda Nobunaga ได้มอบฐานันดร ให้กับชาวประมงที่ยึดอาชีพนี้ว่า ujou หรือครูฝึกนกกาน้ำ มีสถานะสูงเช่นเดียวกับ takajou หรือครูฝึกเหยี่ยว เลยทีเดียว
ปัจจุบัน วิธีการประมงแบบนี้ได้ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา แต่ในญี่ปุ่นยังคงมีการอนุรักษ์ประเพณีนี้อยู่ ที่เมืองเซะกิ จังหวัดกิฟุ มีประเพณีการจับปลาอะยุ ที่แม่น้ำนะงะระ โดยเป็นประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 1,500 ปีแล้ว เรียกว่า "เทศกาลอุไก" (ญี่ปุ่น: โดยผู้ที่จับปลาจะเรียกว่า "อุโช") จะมีในระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม-15 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นประเพณีใหญ่มีการเฉลิมฉลองด้วยพลุและดอกไม้ไฟ
สำหรับวิถีชีวิตของชาวบ้านกับการหาปลาด้วยการใช้วิธีแห่งห่วงโซ่อาหาร นับเป็นความชาญฉลาดของคนรุ่นก่อนที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่จะมีสักกี่คนที่จะสืบสานการหาปลาด้วยวิธีเช่นนี้ อาจจะดูใจร้ายไปสักหน่อยกับเจ้านกกาน้ำ แต่มันก็ได้อาหารเป็นรางวัลในที่สุด บทความนี้ตั้งใจเขียนเพื่อส่งท้ายปีเก่าให้เพื่อนๆ ได้อ่าน (ไมู่รู้จะได้ลงทันหรือเปล่า) หวังว่าเพื่อนๆ คงได้เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ กันบ้าง สำหรับปีนี้คงต้องลากันด้วยบทความนี้ึครับ ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนมีความสุขในวันปีใหม่นี้ แล้วพบกันใหม่ปีหน้า 2556 ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพประกอบ http://www.nomaders.com, FinishingBig02, http://www.thaibiznews.net/ukai
ที่มา: http://www.thaibiznews.net,
th.wikipidea.org, http://www.japan-mook.com/web/?option=com_content&view=article&id=710000157&Itemid=89