เที่ยวอิ่มบุญ เสริมบารมี เวียนเทียนรอบพระธาตุ
เที่ยวอิ่มบุญ เสริมบารมี เวียนเทียนรอบพระธาตุ
พระธาตุภาคเหนือ
พระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน
เป็นศูนย์กลางแห่งความศรัทธาในพุทธศาสนาบนแผ่นดินล้านนา ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร วัดสำคัญที่สุดของ จ.ลำพูน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นเจดียสถาน 1 ใน 7 องค์ของไทยที่พระมหากษัตริย์ต้องแต่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เทียนทอง ธูปเงิน เป็นเครื่องราชสักการะหลังขึ้นครองราชย์ ในอดีตองค์พระธาตุเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ก่อด้วยศิลาแลง สูง 12 ศอก มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ แต่ละซุ้มประดิษฐานพระโกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ได้ยึดครองเมืองหริภุญไชย มีการปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงรูปทรงเป็นเจดีย์ทรงลังกาตั้งแต่นั้นมา
ดูข้อมูลพระธาตุหริภุญไชยเพิ่มเติม
พระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 9 โดยพระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้อัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระ นำมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ขุดพบจากนิมิตฝันของพระมหาสุมนเอง เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่เชียงใหม่แล้ว พระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน พระเจ้ากือนาทรงเลื่อมใส ได้อัญเชิญบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนองค์ที่สอง ได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างเพื่อเสี่ยงทายว่า ช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นั่น แล้วปล่อยช้างไปช้าง ด้มุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันตก ขึ้นไปยังดอยสุเทวะฤาษี หรือดอยสุเทพปัจจุบัน แล้วมาหยุดที่ยอดดอยสุเทพ พระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้สร้าง พระเจดีย์ ณ ที่นั้น มีขนาดสูง 5 วา เมื่อ พ.ศ. 1916 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2068 พระเจ้าเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ของเชียงใหม ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ โดยได้นิมนต์พระมหาญาณมงคลโพธิ จากลำพูนมาเป็นประธานการบูรณะ โดยขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สูง 11 วา กว้าง 6 วา ที่ปรากฏทุกวันนี้
ดูข้อมูลพระบรมธาตุดอยสุเทพเพิ่มเติม
พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
นับเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรมสารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า(พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอุชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวต เป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสวกอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1454 ต่อมาอีก 100 ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถร ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบถวายให้พระเจ้ามังรายะนะธิราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำเอาพระบรมธาตุขึ้นบรรจุสร้างใหม่ขึ้นมาอีกองค์หนึ่งบนดอยตุง พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิม
ดูข้อมูลพระธาตุดอยตุงเพิ่มเติม
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
เป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณตามลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสนสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง
ดูข้อมูลวัดพระธาตุช่อแฮเพิ่มเติม
พระธาตุภาคใต้
พระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฏร์ธานี
เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นหนึ่งในสามของ โบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของภาคใต้ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดโบราณของจังหวัด ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมนั้น มีลักษณะเป็นเจดีย์องค์เดียว ในปัจจุบันที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยองค์เจดีย์พระบรมธาตุมีความสูงจากฐานใต้ดินถึงยอด 24 เมตร ตั้งอยู่ บนฐาน สี่เหลี่ยมสูงย่อเก็จ ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ใช้ภาพของ เจดีย์พระบรมธาตุนี้เป็นสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัด และเป็นสัญลักษณ์ในธงประจำกอง และผ้าพันคอลูกเสือด้วย ซึ่งถือกันว่าถ้าใครไปเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี หากไม่ได้ไปนมัสการ พระบรมธาตุไชยาแล้วก็เหมือนกับยังไปไม่ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดูข้อมูลพระบรมธาตุไชยาเพิ่มเติม
พระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครราชสีมา
พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ซึ่งอยู่ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ ที่ชาวนครเรียกว่า วัดพระธาตุ มีจุดเด่นที่ยอดเจดีย์ ซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้ จากความเชื่อ เล่าสืบตอบกันมาว่าองค์พระธาตุประกอบด้วยทองรูปพรรณและของมีค่ามากมายจรดปลายเจดีย์ ซึ่งสิ่งของมีค่า เหล่านี้พุทธศาสนิกชนนำมาถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้ตนได้พบกับนิพพาน ทุกปีช่วงวันมาฆและวันวิสาขบูชา จะจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุซึ่งถือเป็น งาน บุญประจำปีที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศมาร่วมสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่นี้ความ มหัศจรรย์อย่างหนึ่งของ องค์พระบรมธาตุ คือ องค์พระธาตุจะไม่มีเงาทอดลงพื้นไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางใด ซึ่งยังไม่มี ใครหาคำตอบ ได้ว่าเป็นเพราะอะไร จากความมหัศจรรย์นี้ ท.ท.ท. จึงให้เจดีย์นี้เป็น 1 ใน unseen Thailand ของเมืองไทย
ดูข้อมูลพระบรมธาตุเจดีย์พิ่มเติม
พระธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม
เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อสิริมงคลแก่ภูมิภาค มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่แสดงว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรื่องของนครจำปาศรี เมืองโบราณในอดีต พระธาตุนาดูนเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกขานว่าเป็น 'พุทธมณฑลแห่งอีสาน' รอบองค์พระธาตุมีบริเวณกว้างขวาง จัดแต่งเป็นสวนรุกชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม
พระธาตุศรีสองรัก จ.เลย
เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเลย โดยตัวองค์พระธาตุนั้น มีศิลปกรรม การก่อสร้างแบบ ล้านช้าง พระธาตุศรีสองรักได้สร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ผู้ครอบครองกรุงศรีอยุธยาแห่งอาณาจักรสยาม และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) แห่งอาราจักรล้านช้าง เพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญญาทางพระราชไมตรี และเป็นด่านกั้นเขตแดนของสองพระนครใสสมัยโน้น เพื่อร่วมกันต่อสู้กับพม่า และเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำไมตรีกันได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นสักขีพยานจึงได้ขึ้นชื่อว่า “ พระธาตุศรีสองรัก ” การสร้างพระธาตุศรีสองรัก นับเป็นสักขีพยานในความรักใคร่ของชนชาติเผ่าลาวในดินแดนล้านช้าง มาตั้งแต่โบราณการเป็นอย่างดี พระธาตุศรีสองรักนี้ ประชาชนในท้องที่จังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะการทำพิธีสมโภชและนมัสการพรเจดีย์ขึ้นทุกปีจนถือเป็น ประเพณีตลอดมาจนทุกวันนี้
ดูข้อมูลพระธาตุศรีสองรักเพิ่มเติม
พระธาตุพนม จ.นครพนม
เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน ประดิษฐานบนเนินที่เรียกว่าภูกำพร้า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์คือ พระยาสุวรรณภิงคารนะ พระยาคำแดง พระยาอินทปัตถะนคร พระยาจุลนีพรหมทัต และพระยานันทเสน เพื่อบรรจุพระอุงรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ลักษณะพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม หรือทรงแจกัน ก่อด้วยอิฐมีลวดลายจำหลักลงไปในแผ่นอิฐ มีซุ้มคั่นด้านละซุ้ม ซ้อมกัน 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมาอย่างวิจิตร พระธาตุพนมได้รับการบูรณะเรื่อยมาตามกาลเวลา และในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้หักโค่นลง ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้ร่วมกันสละทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นใหม่ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2522
พระธาตุภาคกลาง
พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมายาวนานในแผ่นดินสุวรรณภูมิ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี
ภูเขาทอง (พระบรมบรรพต) วัดสระเกศ จ.กรุงเทพมหานคร
ภูเขาทอง สร้างเป็นรูปภูเขา มีพระเจดีย์อยู่บนยอด มีบันไดเวียนเป็นทางขึ้นไปถึงพระเจดีย์ 2 ทางคือด้านเหนือทางหนึ่ง ด้านใต้ทางหนึ่ง สำหรับขึ้นและลงคนละทางเพื่อสะดวกในเวลาเทศกาล และยังมีบันไดตรงด้านใต้อีกทาง หนึ่งแต่บันไดตรงได้รื้อเสียเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ พ.ศ 2493 ฐานโดยรอบวัดได้ 8 เส้น 5 วา ส่วนสูง 1 เส้น 19 วา 2 ศอก บรมบรรพตนี้ นับว่าเป็นปูชนียสถานอันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง และเป็นสมบัติทรงคุณค่าของชาติอีกด้วยการสร้างบรมบรรพตนี้ได้เริ่มขึ้นในรัชกาลที่ 3 ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์ให้เหมือนอย่างวัดภูเขาทองในจังหวัดพระนครศรีอยุทธยา ซึ่งที่วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นตั้งอยู่ที่ชายทุ่ง มีพระเจดีย์อยู่องค์หนึ่ง เป็นที่สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยาลงไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลประจำปี จุดประสงค์เดิมก็เพื่อจะไปนมัสการพระเจดีย์ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการประชุมรื่นเริงโดยทางเรือกันอยู่ ทรงพิจารณาเห็นว่าที่วัดสระเกศเป็นสถานที่เหมาะสมจึงโปรดให้สมเด็จพระบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างเมื่อแรกลงมือสร้างแล้ว พระราชทานนามว่า พระเจดีย์ภูเขาทอง
ขอขอบคุณ
http://travel.edtguide.com/328373_วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร-ลำพูน-วัด-เจดีย์-วิหาร-พระธาตุ
http://travel.edtguide.com/77303_วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ-เชียงใหม่-วัด-เจดีย์-วิหาร-พระธาตุ
http://travel.edtguide.com/77240_พระธาตุดอยตุง-เชียงราย-แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
http://travel.edtguide.com/76789_วัดพระธาตุช่อแฮ-แพร่-วัด-เจดีย์-วิหาร-พระธาตุ
http://travel.edtguide.com/77389_วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร-สุราษฎร์ธานี
http://travel.edtguide.com/328337_วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร-นครศรีธรรมราช-วัด-เจดีย์-วิหาร-พระธาตุ
http://travel.edtguide.com/77124_พระธาตุนาดูน-มหาสารคาม-แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
http://travel.edtguide.com/328400_พระธาตุศรีสองรัก-เลย-แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
http://travel.edtguide.com/328637_พระธาตุพนม-วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร-นครพนม
http://travel.edtguide.com/77009_วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร-นครปฐม
http://travel.edtguide.com/77258_วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร-ภูเขาทอง-วัด-เจดีย์-วิหาร-พระธาตุ