เจ้าจอมเอิบ ผู้ถ่ายภาพในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงกับข้าว (ฉบับปรับปรุงใหม่)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมีพระมเหสี, พระราชา และพระสนม ถึง 92 คน แต่ 1 ใน 92 ที่ทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่งคือ เจ้าจอมเอิบผู้มีสิริโฉมงดงามและเก่งในหลายเรื่อง
เจ้าจอมเอิบ อยู่ในกลุ่มเจ้าจอมก๊ก อ.(คือพี่น้องมีชื่อด้วยพยัญชนะ อ) คือลูกสาวสกุลบุนนาคที่ได้เป็นฝ่ายใน เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค)ซึ่งเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ก่อนหน้านี้ท่านได้เป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี เจ้าจอมเอิบได้รับเลือกเป็นนางมยุรฉัตรเข้าในกระบวนแห่โสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตร์สุขุมพันธุ์ เสร็จงานแล้วถวายตัวเป็นข้าฝ่ายใน พศ.2434 ขณะนั้นอายุได้ 12 ปี และได้อยู่ในวังกับเจ้าจอมมารดาอ่อนผู้เป็นพี่สาวจนได้เป็นเจ้าจอม เนื่องจากเจ้าจอมเอิบนั้นเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงดงามที่สุดในบรรดาพี่น้อง กล่าวกันว่าท่านเจ้าจอมเอิบนั้นมีคุณสมบัติตรงตามตำราหญิงงามอันเป็นที่นิยมแห่งยุคสมัยนั้นทีเดียว กล่าวคือที่หน้าตาที่อ่อนหวานงดงามเยือกเย็น กล่าวกันอีกว่าท่อนแขนของท่านเจ้าจอมเอิบนั้นงดงามกลมกลึงราวกับลำเทียน จึงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษ ได้ตามเสด็จไปแปรพระราชฐานประพาสหัวเมืองเหนือ เมื่อ พศ.2444 หรือไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พศ.2445 และเสด็จประพาสต้นเมื่อ พศ.2447 เป็นผู้ถวายงานอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งสิ้นรัชกาล เช่นเดียวกับเจ้าจอมเอี่ยมผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ
เจ้าจอมเอิบ มีความสามารถในการใช้กล้องถ่ายภาพ สามารถถ่ายภาพ และล้างรูปได้ด้วยตัวเอง เป็นช่างภาพสมัครเล่นในราชสำนัก ซึ่งได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายหลายพระองค์
เจ้าจอมเอิบ โปรดการถ่ายภาพมาก ซึ่งในหนังสือเจ้าจอมก๊ก อ. ระบุว่าท่านได้ถ่ายภาพไว้เป็นอัลบั้ม เราจึงได้เห็นภาพรัชกาลที่ 5 นั่งข้างเจ้าจอมเอิบและบุตรภายในบ้านแบบสบายๆ และภาพที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งคือ ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงกับข้าวแบบลำลองที่พระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆครับ
ทรงกับข้าวแบบลำลองที่พระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ เท่าที่ทราบท่านทรงทอดปลาทูครับ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซ้าย เจ้าจอมเอิบ กลาง เจ้าจอมอาบ ขวา เจ้าจอมเอื้อน
เจ้าจอมเอิบนั่งร่วมโต๊ะเสวยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รูปนี้เจ้าจอมเอิบกำลังถ่ายรูปเจ้าพระยาสุรพันธ์ ผู้บิดา
ภาพประกอบ: คนกลางเจ้าจอมเอิบทรงยืนถือภาชนะ ถ่ายที่ห้องเครื่องพระที่นั่งวิมานเมฆ
มีบันทึกในพระราชปรารภในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเจ้าจอมเอิบว่า “ทำไมจึงเห็นหน้าเจ้ามากกว่าใครๆ หมด เห็นจะเปนด้วยอยู่กันมานาน ฝันก็ฝันถึงเจ้าร่ำไป” ครั้งเมื่อทรงส่งตุ้มหูไข่นกการเวกพระราชทานเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ก็พระราชทานแก่เจ้าจอมเอิบด้วย ๑ คู่ “ตุ้มหูคู่หนึ่งเปนไข่นกการเวกเหมือนกัน ฉันได้ซื้อที่เมืองนีศส่งทางไปรสนีย์ให้สดับ.. ...ฉันได้ส่งไปอีกคู่ ๑ สำหรับให้เอิบจากปารีสรวมเป็นสองคู่ด้วยกัน”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอมเอิบได้พำนักอยู่ที่ตำหนักในวังสวนสุนันทา ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ย้ายไปมาอยู่ที่เรือนสร้างใหม่ริมคลองสามเสน กับถนนสามเสน โดยท่านได้สร้างบนที่ดินพระราชทานแก่เจ้าจอมก๊กออ รวมทั้งตัวท่านด้วย ต่างได้รับพระราชทานกันคนละแปลง เป็นสัดส่วน เรียกว่า "สวนนอก"(แต่ละสวนจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป วังของเสด็จพระองค์หญิงทั้งสองพระองค์พระราชธิดาในท่านเจ้าจอมมารดาอ่อนนั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วังสวนปาริจฉัตก์ หรือ สวนท่านอ่อน ส่วนที่เป็นของท่านเจ้าจอมน้องๆทั้งสี่ท่านที่เหลือ ก็เรียกว่า สวนท่านเอิบ สวนท่านอาบ สวนท่านเอื้อน และสวนท่านเอี่ยม ตามลำดับ
ภาพนี้ถ่ายตอนอายุมากแล้วแต่ไม่ทราบอายุ
เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ ๕ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ที่บ้านราชบูรณะ สิริอายุ 65 ปี
เป็นยังไงบ้างครับเพื่อนๆ ได้อ่านจบแล้ว รู้สึกประทับใจเจ้าจอมเอิบบ้างหรือเปล่าครับ ผมก็เพิ่งทราบเหมือนกันครับว่าภาพที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงนั่งทอดอาหารที่ริมระเบียงเป็นฝีมือถ่ายภาพของเจ้าจอมเอิบ ซึ่งผมเชื่อว่าภาพนี้เจ้าจอมท่านคงล้างและอัดรูปเองด้วยเช่นกัน เป็นผู้หญิงที่สวยและก็เก่งด้วยในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านถึงได้ทรงรักมากคนหนึ่ง แต่บั้นปลายชีวิตไม่รู้ว่าท่านจะว้าเหว่เพียงใดที่ขาดผู้เป็นที่รัก อีกทั้งยังต้องปรับสภาพกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 สำหรับวันนี้คงต้องลาก่อนแล้วพบกันใหม่ครับ
หมายเหตุ ต้องขออภัย ณ ที่นี้สำหรับภาพเจ้าจอมเอิบที่อยู่ด้านบนสุด ซึ่งอยู่เหนือกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แต่ด้วยการวางภาพตามลำดับเนื้อหา ซี่งก็พยายามนำไว้แค่ภาพเดียว จึงเรียนมาด้วยความเคารพ
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ภาพประกอบ Wikipedia.org, reurnthai.com, Google.co.th
ที่มา: Wikipedia.org, reurnthai.com, Google.co.th