คดีปล้น 300 ล้านเยน ปริศนาที่ยังไม่คลี่คลายในญี่ปุ่น
คดีปล้นเงินสดมูลค่า 300 ล้านเยนเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ยังคงเป็นหนึ่งในตำนานอาชญากรรมที่น่าเหลือเชื่อที่สุดในญี่ปุ่น จอมโจรนิรนามได้หายตัวไปพร้อมกับเงินจำนวนมหาศาล แม้ตำรวจจะระดมกำลังค้นหานานนับทศวรรษก็ไม่พบร่องรอยใดๆ เลย
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1968 ผู้จัดการธนาคารนิออนทรัสต์ สาขาโคคูบุจิ ได้รับจดหมายขู่ให้เตรียมเงิน 3 ล้านเยน เพื่อแลกกับการไม่ถูกวางเพลิงบ้าน แม้ตำรวจจะวางกำลังดักซุ่ม แต่คนร้ายก็ไม่ปรากฏตัว
สามวันต่อมา ในวันที่ 10 ธันวาคม 1968 แผนการปล้นที่แยบยลก็ถูกเปิดเผย บริษัทโตชิบาเบิกเงิน 300 ล้านเยน เพื่อจ่ายโบนัสพนักงาน โดยธนาคารใช้เพียงรถเก๋ง Nissan Cedric ธรรมดา และพนักงาน 4 คนในการขนส่ง ขณะเดินทาง รถขนเงินถูกมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งขับตามประกบ ชายผู้ขับขี่อ้างตัวเป็นตำรวจ แจ้งว่ามีระเบิดซ่อนใต้ท้องรถ และใช้พลุควันสีดำสร้างสถานการณ์ให้เหมือนมีระเบิดจริง เขาออกคำสั่งให้พนักงานลงจากรถเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่เขาจะกระโจนเข้าไปในรถและขับหนีไปอย่างรวดเร็ว ปล่อยให้พนักงานยืนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ตำรวจเริ่มการสืบสวนทันที แต่กลับพบว่าหลักฐานสำคัญหลายชิ้นถูกทำลายลง หมวกแก๊ปของคนร้ายที่น่าจะมีคราบเหงื่อ ถูกตำรวจหลายคนหยิบมาลองสวม ทำให้หลักฐานปนเปื้อน รถยนต์ที่ถูกขโมยมาและใช้ในการหลบหนีก็ถูกทิ้งไว้พร้อมผ้าคลุม บ่งบอกว่าคนร้ายมีการเตรียมการมาอย่างดี และอาจมีผู้ร่วมก่อเหตุมากกว่าหนึ่งคน
การสอบสวนมุ่งไปที่ผู้ต้องสงสัยสองราย รายแรกคือ นาย S วัย 19 ปี ซึ่งมีพ่อเป็นตำรวจสายตรวจ แต่กรุ๊ปเลือดและลายมือไม่ตรงกับหลักฐาน อีกทั้งเขามีพยานหลักฐานยืนยันที่อยู่ชัดเจน และที่น่าแปลกคือ นาย S ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงเพียง 5 วันหลังเกิดเหตุ ทำให้ความเกี่ยวข้องของเขายังคงเป็นปริศนา
ผู้ต้องสงสัยรายที่สองคือ คนขับแท็กซี่ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายภาพสเก็ตช์ ลายมือตรงกับจดหมายข่มขู่ และมีกรุ๊ปเลือด B ตรงตามหลักฐานที่พบ ตำรวจรีบจับกุมและแถลงข่าวใหญ่โต แต่บริษัทแห่งหนึ่งกลับออกมาให้หลักฐานว่า คนขับแท็กซี่รายนี้กำลังสัมภาษณ์งานอยู่ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ทำให้เขาถูกปล่อยตัว และชีวิตของเขาก็ต้องพังทลายลงจากข้อกล่าวหาที่ผิดพลาด จนเขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงเช่นกัน
คดีนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้กับตำรวจญี่ปุ่น ซึ่งต่อจากนี้ไปพวกเขาจะไม่จับกุมใคร หากไม่มีหลักฐานมัดตัว 100% คดีปล้น 300 ล้านเยนนี้ทำให้รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณกว่า 990 ล้านเยนในการสืบสวน และตรวจสอบผู้ต้องสงสัยกว่า 100,000 ราย ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับมูลค่าเงินที่ถูกปล้นไปในเวลานั้น (ปัจจุบันเทียบเท่าประมาณ 500 ล้านบาท)
แม้คดีจะหมดอายุความไปแล้วเมื่อปี 1975 โดยไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้เลย แต่ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า เหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นการจัดฉากของธนาคารเอง หรือมีตำรวจอยู่เบื้องหลัง เพราะคนร้ายรู้เส้นทางและวิธีการทำงานของตำรวจอย่างดีเยี่ยม การปล้นครั้งนี้จึงถูกจัดให้เป็นการปล้นที่สมบูรณ์แบบที่สุดตลอดกาล เพราะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และคนร้ายก็หายตัวไปพร้อมกับเงิน โดยทิ้งไว้เพียงปริศนาที่ยังคงค้างคาใจผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้





















