Hate-stalking ชอบส่องโซเชียลมีเดียของคนที่เกลียด ส่องคนที่เราหมั่นไส้ คือเรื่องบันเทิง
‘Hate-stalking’ หรือ พฤติกรรมตามส่องคนที่ถึงจะทำให้เรารู้สึกหมั่นไส้ แต่มีความสำคัญ (บางอย่าง) มากพอให้ยังอยากติดตาม และสงสัยใคร่รู้เรื่องของเขา ยิ่งตามส่อง ยิ่งรู้สึกว่าเรารู้จักเขาถ่องแท้ หลายครั้งก็หยิบไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อได้อย่างสนุกสนานมันมือ ทั้งที่จริง สิ่งที่เราเสพจากโซเชียลมีเดียของเขาอาจไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของเขาก็ได้
ดร.ดาเรีย คุสส์ (Daria Kuss) ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักจิตวิทยาไซเบอร์ มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเทรนต์ ประเทศอังกฤษ อธิบายถึงพฤติกรรมนี้ว่า “ด้วยข้อมูลส่วนบุคคลที่แชร์กันอย่างมากมายในโซเชียลมีเดีย ทำให้เราอาจตัดสินคน ๆ หนึ่ง จากชุดข้อมูลที่เห็นนั้นอย่างง่ายดาย จนอาจทึกทักเอาเองว่ารู้จักคน ๆ นั้นเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องชีวิตประจำวันของเขา เรื่องส่วนตัวของเขา ไปจนถึงทัศนคติหรือความคิดเห็นของเขา และเป็นเรื่องปกติที่มันอาจพัฒนาไปสู่ความรู้สึกต่อต้านบุคคลนั้นอย่างรุนแรง เพียงแค่การเสพคอนเทนต์ของเขาในโซเชียลมีเดียเท่านั้น”
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว อย่างเช่น การที่เราสนใจเรื่องราวของอีกฝ่าย แต่อีกฝ่ายอาจไม่ได้สนใจหรือแม้กระทั่งรู้จักเราด้วยซ้ำ แบบที่เรียกว่า ‘Parasocial Relationship’ แบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนดังและบรรดาผู้ติดตามของพวกเขา แต่ในยุคนี้ที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็น ‘อินฟลูฯ’ ได้ในพื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเอง ความสัมพันธ์แบบ Parasocial ก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายกับทุกคน
ระบบอัลกอริทึมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ยิ่งเสิร์ช ยิ่งส่องโปรไฟล์ หรือมีปฏิกิริยาต่อคอนเทนต์ใด ๆ มากเท่าไร ระบบจะยิ่งเข้าใจว่าเราสนใจเนื้อหานั้น และจะยิ่งป้อนเนื้อหานั้นใส่เรามากขึ้นไปอีก
สาเหตุที่เรายิ่งเกลียดใครสักคน แต่กลับยิ่งอยากรู้เรื่องราวของเขามากขึ้น อ้างอิงจากงานวิจัยและทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องมาอธิบายดังนี้
1.ทฤษฎีการจัดการความรู้สึกไม่แน่นอน (Uncertainty Management Theory) อธิบายว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะพยายามลดความไม่แน่นอนในชีวิต โดยการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม แม้แต่ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เราไม่ชอบ
2.ผลกระทบของความหลงใหลในแง่ลบ (Negative Obsession Effect) มีงานวิจัยที่พบว่า ความรู้สึกเชิงลบที่รุนแรง อย่างเช่น ความเกลียดชัง สามารถนำไปสู่การหมกมุ่นกับสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความรู้สึกนั้นได้ ซึ่งอธิบายว่าทำไมเราจึงมักจะติดตามคนที่เราไม่ชอบอย่างใกล้ชิด
3.ทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison Theory) มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเพื่อประเมินคุณค่าทางสังคมของตน การติดตามชีวิตของคนที่เราไม่ชอบ อาจเป็นวิธีหนึ่งในการเปรียบเทียบ และยืนยันคุณค่าของตัวเอง
4.ความเจ็บปวดที่น่าพึงพอใจ (Schadenfreude) หมายถึง ความสุขหรือความพึงพอใจที่ได้จากความทุกข์หรือความโชคร้ายของผู้อื่น แม้ว่าจะฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่ความจริงแล้วมนุษย์เราสามารถรู้สึกพึงพอใจเมื่อเห็นผู้อื่นมีความทุกข์ได้ในบางสถานการณ์
5.ผลกระทบของการเปิดรับซ้ำ (Mere Exposure Effect) ทฤษฎีที่บอกว่าการเปิดรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ สามารถนำไปสู่ความชอบที่เพิ่มขึ้นได้ แม้แต่กับสิ่งที่เราไม่ชอบในตอนแรก นี่อาจอธิบายว่าทำไมเราถึงยังคงติดตามคนที่เราไม่ชอบ
วิธีแก้ไขพฤติกรรม ‘Hate-stalking’
- การปรับมุมมอง แทนที่จะมองว่าการติดตามคนที่คุณไม่ชอบเป็นการ ‘รู้เท่าทัน’ ลองมองว่ามันเป็นการเสียเวลาและพลังงานกับสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์
- กำหนด Digital Boundaries ตั้งกฎสำหรับตัวเองในการใช้โซเชียลมีเดีย อย่างเช่น จำกัดเวลาการใช้งาน หรือบล็อกเนื้อหาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิต
- เลิกยึดติดกับความรู้สึกเกลียดชัง หรือ ไม่ชอบ ฝึกการปล่อยวางความรู้สึกเหล่านี้ แล้วหันมาพัฒนาตัวเองเพื่อคว้าเป้าหมายและความสำเร็จของเราเอง






















