แค่ 'วางแผนเที่ยว' ก็เพิ่มความสุข ออกเดินทางไปเที่ยวกัน ช่วยบูสต์สมองให้กระฉับกระเฉงได้
การเดินทางไปเที่ยวช่วยให้มีความสุขมากขึ้น
จากงานวิจัยของ Kumar และคณะ (2014) ศึกษาในกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน พบว่า คนที่ใช้เงินไปกับการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายในชีวิต อย่างเช่น การออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ เป็นคนที่มีความสุข มากกว่า คนที่ใช้เงินไปกับวัตถุสิ่งของต่าง ๆ อย่างเช่น การซื้อรถคันใหม่
ความสุขที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปเที่ยว เป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดแค่เพียงระหว่างการเดินทาง และหลังจากการเดินทางเสร็จสิ้นไปแล้วเท่านั้น ในระหว่างที่เรากำลังวางแผนการท่องเที่ยว หรือแม้แต่เพียงแค่คิดว่าจะได้เดินทางท่องเที่ยว ก็ทำให้คนมีความสุขได้แล้ว ซึ่งเป็นความสุขยืนยาว มากกว่า ความสุขจากการที่ได้เป็นเจ้าของวัตถุชิ้นใหม่
งานวิจัยของ Chen และคณะ (2013) ศึกษาในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน พบว่า การเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ทำให้มีความสุขมากขึ้น ทำให้เรามีความพึงพอใจในชีวิต มีอารมณ์ทางบวก ไม่มีอารมณ์ทางลบ และความสุขนี้จะคงอยู่ยาวนาน
การจดจ่อกับรายละเอียด 'วางแผนเที่ยว' ส่งผลดีต่อจิตใจ
อามิต คูมาร์ อธิบายว่า การจดจ่ออยู่กับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการวางแผนการเดินทางนั้น มีประโยชน์ในแง่การสร้างและรับรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจ มากกว่า ประสบการณ์ของการซื้อและครอบครองสิ่งของต่าง ๆ
แมทธิว คิลลิงส์เวิร์ธ ผู้ร่วมวิจัยของคูมาร์ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การวางแผนทริปท่องเที่ยว สามารถส่งเสริมการมองโลกในแง่ดีให้คนเราได้
“มนุษย์เราส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตไปกับจินตนาการถึงอนาคต การคำนึงถึงอนาคตของคนเราสามารถเป็นแหล่งของความสุขได้ หากเรารู้ว่ามีสิ่งดี ๆ กำลังมา และการเดินทางก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกดีอย่างยิ่ง และทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย” แมทธิว อธิบาย
แมทธิว มองว่า การวางแผนการเดินทางสามารถสร้างความสุขและสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้คนเราได้
- ประการแรก คือ การเดินทางท่องเที่ยวมักเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาสั้น ๆ เพียงครั้งคราว เรารู้ดีว่าการเดินทางมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่กำหนดไว้ จิตใจของคนเราจึงมีแนวโน้มที่จะลิ้มรสมันได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อนที่มันจะเริ่มต้นขึ้น ทำให้แค่คิดถึงทริปนั้นก็มีความสุขแล้ว
- ประการที่สอง ก็คือ เมื่อเริ่มวางแผนเที่ยว เราจะค้นหาข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทางในทริป จนรู้มากพอที่จะจินตนาการและตั้งตารอทริปนั้น แต่ยังมีความแปลกใหม่และความไม่แน่นอนที่ทำให้จิตใจของเราพะวงอยู่กับมัน จนกลายเป็นว่าเราเสพความสุขจากทริปนั้นได้ทันทีที่คิดถึง ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มออกเดินทางจริงด้วยซ้ำ
ดร.เอริกา แซนบอร์น นักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญด้านความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ย้ำชัดเจนว่า การวางแผนออกเดินทางท่องเที่ยวทำให้คนเรามีความสุขมากขึ้นจริง โดยในทางจิตวิทยาแล้ว การคิดวางแผนเที่ยวทำให้สมองของคนเราหลุดออกจากสภาพแวดล้อมที่ซ้ำซากจำเจของชีวิตประจำวันไปได้ชั่วขณะหนึ่ง มันจึงช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล
จากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และคำอธิบายจากนักจิตวิทยาข้างต้นทำให้ สรุปได้ว่า การได้เริ่มค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวและวางแผนทริปสนุก ๆ ให้ตนเอง ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วงปรับปรุงสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้จริง แม้ในที่สุดแล้วอาจจะได้ไปหรือไม่ได้ไปทริปนั้นก็ตาม




















