ติดหวาน อาการติดหวาน จะเลิกยังไง โรคร้ายของคนติดหวาน
ติดหวาน (Sugar Blues) หรือ ภาวะเสพติดน้ำตาล คือ ร่างกายมีความต้องกินอาหาร เครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอยู่ตลอดเวลา หากไม่ได้กินจะแสดงอารมณ์ที่ผิดปกติ จากการหิวโหย โดยเฉพาะช่วงเวลาประมาณสิบโมงเช้า และบ่ายสามโมง หากยังไม่เลิก หรือทำการแก้ไขสภาวะนี้ จะทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโรคร้ายต่าง ๆ
สาเหตุของการติดหวาน
- พฤติกรรม เมื่อกินของหวานเข้าไปแล้ว จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่ชื่อว่า โดพามีน จนเกิดการเสพติด มักเกิดกับผู้ที่ประสบกับภาวะเครียดเรื้อรัง นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ตามกลไกของธรรมชาติจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ขาดสมดุล ความอยากกินอาหารหวาน หรือมีไขมันสูงจึงมีมากขึ้น กินในปริมาณมากเท่าใดก็ไม่อิ่ม หากรสชาตินั้นไม่หวานจัด
- กรรมพันธุ์ บางรายมียีน (Gene) ที่ติดความหวานมาจากบรรพบุรุษ รวมทั้ง การเลี้ยงดูแลบุตรหลานของแต่ละบ้านก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของการกินอาหาร หากพ่อ แม่ ไม่มีวินัยในเรื่องของโภชนาการ ก็เป็นเรื่องที่ยากจะปลูกฝังให้เด็กเป็นคนรักสุขภาพ
อาการติดหวาน
- กินอาหารที่มีรสชาติหวานเป็นประจำ
- มักเติมน้ำตาลลงในอาหารเพิ่มเติม
- หิวบ่อย คิดถึงเมนูอาหารหวานตลอด
- มักจะมีอาหาร และเครื่องดื่มเต็มอยู่ภายในตู้เย็น
- เลือกดื่มน้ำที่มีรสหวาน มากกว่า น้ำเปล่า
- กินผลไม้ตากแห้ง ดอง แช่อิ่ม หรือ ผลไม้สดรสหวานจัด อย่างเช่น ทุเรียน มะม่วงสุก
- หากกินของที่ไม่ถูกปากจะมีอาการ หงุดหงิด เหนื่อยล้า หดหู่ เศร้าผิดปกติ หรืออารมณ์เสีย
โรคร้ายของคนติดหวาน
1.โรคเบาหวาน ภาวะต้านอินซูลินที่รุนแรง จะทำให้ตับอ่อนไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลงได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่พุ่งสูงขึ้น หรือสวิงขึ้นลง จะทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ในที่สุด
2.โรคหัวใจ อาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เพราะน้ำตาลมีผลต่อกระบวนการสูบฉีดของหัวใจ เพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว กลูโคส และอินซูลินในกระแสเลือด
3.ไขมันพอกตับ เมื่อตับสังเคราะห์ฟรักโทสให้กลายเป็นไขมันแล้ว ก็จะนำไปเก็บไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่ตับ
4.ไขมันในเลือดสูง เมื่อกินอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลมาก ๆ จะทำให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ขึ้นในร่างกาย ทำให้ปริมาณไขมันในเลือดสูงขึ้น
5.โรคอ้วน ความหวานจะทำให้รู้สึกหิวมากขึ้น ไม่รู้สึกอิ่ม จะรู้สึกว่า กินเท่าไรก็ไม่พอ และมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว
6.ความดันโลหิตสูง น้ำตาลทำให้ฮอร์โมนแคทีโคลามีน และกรดยูริกสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
7.ไมเกรน น้ำตาล และของหวานต่าง ๆ เป็นหนึ่งในอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน
8.ฟันผุ น้ำตาลนั้นย่อยง่าย แบคทีเรียในช่องปากจึงสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุของปัญหาในช่องปากต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟันผุ เคลือบฟันกัดกร่อน โรคเหงือก และกลิ่นปาก
9.มะเร็ง อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ใช้ควบคุมการเจริญเติบโต การเพิ่มขึ้นของเซลล์มะเร็ง การเพิ่มขึ้นของอินซูลิน และระดับอินซูลินที่ไม่คงที่ อาจทำให้มีเซลล์มะเร็งเติบโตอยู่ในร่างกายได้
10.โรคกระดูกเปราะ น้ำตาลสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ทำเกิดความไม่สมดุลในเลือด เมื่อเลือดมีความเป็นกรดมากขึ้น ร่างกายจึงต้องปรับสมดุลโดยการดึงแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ในกระดูกมาใช้แทน
ติดหวานแก้ไขอย่างไร
- สังเกตปริมาณน้ำตาล และวัตถุดิบบนฉลากผลิตภัณฑ์ ทุกครั้งก่อนกิน
- ไม่ปรุงน้ำตาลในอาหารเพิ่มเติม
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม
- ดื่มน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาล
- กินผลไม้หวานน้อย อย่างเช่น ชมพู่ แตงโม ฝรั่ง
- หลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้แปรรูป อย่างเช่น กล้วยตาก มะม่วงแช่บ๊วย
- เพิ่มปริมาณผักใบเขียวในอาหาร เพราะมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ส่งผลให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่ซื้อขนมตุนไว้ในตู้เย็น
- ไม่อดอาหาร กินให้ตรงต่อเวลา และถูกหลักโภชนาการ

















