Gen Z ในไต้หวัน ปฏิรูปการทำงาน ! ไม่ลาออก ขอชีวิตที่สโลวไลฟ์มากขึ้น
Gen Z ในไต้หวัน ปฏิรูปการทำงาน ! ไม่ลาออก ขอชีวิตที่สโลวไลฟ์มากขึ้น
ในไต้หวัน คนรุ่นใหม่วัยทำงานอย่าง Gen Z มีแนวโน้มฉีกกฎเกณฑ์ ไม่ยึดมั่นหลักการทำงานแบบเดิมๆ ที่ต้อง "อดทนไว้เพื่อแลกกับการเลื่อนตำแหน่ง" แต่พวกเขากลับมุ่งเน้นไปที่การรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิต พร้อมทั้งกล้าที่จะปฏิเสธการทำงานล่วงเวลาอย่างไม่มีเหตุผล รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ บางคนใช้กระทั่ง "การลาออก" เป็นการตอบโต้
ทัศนคติของการ "ปฏิรูปการทำงาน หรือ Workplace Reform" นี้ ทำให้บริษัทในไต้หวัน ต้องพิจารณาวิธีการบริหารบุคคลากรใหม่ หากพนักงานไม่ยอมทนเพื่อแลกกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย การบริหารจัดการกำลังคนในบริษัท ก็ถึงคราวเข้าสู่ยุคของการ "ปฏิรูป!!!"เสียที
พนักงานจากแพลตฟอร์มฟอรัมออนไลน์ กำลังเลือกขนมทานเล่น และสนทนากันในที่ทำงาน: "ฉันคิดว่ารสโยเกิร์ตน่าจะอร่อยกว่านะ"
ตู้ขนมที่เรียงรายให้เลือกตามใจชอบ อยากทานอะไร เชิญตามสบาย เครื่องดื่มในตู้เย็นมีให้เลือกแบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ ก็มีพร้อม ในยามบ่ายแก่ๆ แบบนี้ ดื่มเสร็จแล้วค่อยกลับไปทำงานต่อก็ได้
ตัดภาพไปยังอีกห้อง พนักงานกำลังนอนพัก พร้อมเพลิดเพลินไปกับบริการนวดผ่อนคลาย โดยข้างๆ มีเตียงสองชั้น ผ้าห่มคลุม สำหรับพักผ่อน เพื่อชาร์จพลัง นึกไม่ถึงว่าที่กำลังกล่าวถึงนี้ คือ พนักงานที่กำลังทำงานอยู่!!! สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการสำหรับพนักงานบริษัท แต่สิ่งที่ดึงดูดพนักงานในบริษัทนี้ มีมากกว่านั้น
พนักงานจากแพลตฟอร์มฟอรัมออนไลน์ คุณเจียง เจียอี้ กล่าวว่า "สิ่งที่ฉันค่อนข้างชื่นชอบ คือ การทำงานที่ยืดหยุ่น บริษัทเราให้สิทธิ์ในการทำงาน Remote ระยะไกล จำนวน 2 วัน ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 14 วัน ต่อปี ได้ อยากไปญี่ปุ่น เกาหลี หรือยุโรป ก็สามารถทำงานจากที่นั้นได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเพื่อนร่วมงานของเราหลายคนที่ทำงาน Remote ระยะไกลอยู่ ต่อมาที่ฉันชื่นชอบ คือ ที่นี้มีสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พร้อมกับทรัพยากร ที่สนับสนุนและเอื้อต่อการเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ มากมาย อย่างเช่น ฉันก็ไปลงเรียนคอร์สภาษาอังกฤษ ทุกๆวันอังคาร ที่บริษัทจัดให้ และสุดท้าย คือ ฉันต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่เพื่อนร่วมงานมีความสัมพันธ์อันดี ทำงานร่วมกันมีความสุข สามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
คุณเจียง เจียอี้ หรือ Kelly อายุ 24 ปี เริ่มจากการฝึกงานที่บริษัทนี้ หลังจากนั้นได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ปัจจุบันทำงานในบริษัท ในตำแหน่ง Creator for Business Development Partner สำหรับคนวัย Gen Z ที่เกิดหลังปี 2000 การทำงานไม่ใช่แค่เพื่อเงินเดือนอีกต่อไป แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขายังคาดหวังอยู่อีก
พนักงานจากแพลตฟอร์มฟอรัมออนไลน์ คุณเจียง เจียอี้ กล่าวว่า "สิ่งที่ฉันอยากทำ หลังนอกเวลางาน คือการเรียนรู้การใช้งาน AI หรือเรียนรู้ภาษาอื่นๆ เช่น บริษัทของเรา ก่อนหน้านี้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ AI เช่น ChatGPT AI Book Club ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกินคาดสำหรับคนที่เรียนสายสังคมศาสตร์อย่างฉันมาก ฉันมองว่า คนรุ่นก่อนมักยอมทำงานในตำแหน่งเดิมนานๆ เพื่อแสวงหาความมั่นคง ซึ่งต่างกับคนรุ่นนี้ คนรุ่นฉัน เราจะคิดกันว่า ถ้าเจองานที่ไม่ใช่ เราก็พร้อมลาออกไปหางานใหม่ พวกเราพร้อมที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ"
พนักงาน Gen ใหม่ที่เผชิญกับวัฒนธรรมการทำงานแบบเก่า มีท่าทีตอบสนองที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งสิ่งนี้ถูกเรียกว่า "การปฏิรูปการทำงาน" ( Workplace Reform)
นักข่าว / หวัง เฮ่าหยู กล่าวว่า "สิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปการทำงาน คือ การทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมท้าทายวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ เช่น พนักงานออฟฟิศในอดีต อาจะจะเลือกทนกับข้อเรียกร้องที่ไม่เหมาะสม แต่พนักงานรุ่นใหม่คิดว่า การอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ toxic แบบไม่จบไม่สิ้น การปฏิรูปการทำงานในมุมมองของคนรุ่นใหม่แบบพวกเขา ยังหมายถึง การให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคล การปฏิเสธการทำงานล่วงเวลาอย่างไม่สมเหตุสมผล การปฏิเสธวัฒนธรรมการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ และการให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร"
นี่คงทำให้ฝ่ายบริหารของบริษัทรู้สึกหวั่นใจไม่น้อย พวกเขาอาจต้องเริ่มตระหนักว่า วิธีการบริหารแบบเดิม อาจล้าสมัยไปแล้วไหม?
ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแพลตฟอร์มฟอรัมออนไลน์ เผิง มู่เจี้ยน กล่าวว่า "คนรุ่นใหม่ใส่ใจตนเอง พวกเขามักตั้งคำถามว่า จะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เป้าหมายคืออะไร ดังนั้นเราจึงแนะนำให้ลองแบ่งการทำงานเป็นสองทิศทาง ก่อนอื่น คือ ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า งานนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร มีเป้าหมายใด ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนเห็นภาพของพัฒนาการสิ่งนั้นได้อย่างชัดเจนขึ้น อาจจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อเรื่องนั้น ส่วนที่สอง คือ การให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะจากเพื่อนร่วมงาน เพราะในกระบวนการตัดสินใจเราต้องยอมรับว่า มักจะมีจุดบอดเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าเพื่อนร่วมงานช่วยกันหาทางเลือกอื่นๆเพิ่มเติม ก็จะเป็นเรื่องที่ดี"
การทำงานร่วมกับพนักงาน Gen Z กลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับบริษัท การเผชิญกับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน การแก้ไขปัญหา มีเพียงสิ่งนี้
ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแพลตฟอร์มฟอรัมออนไลน์ เผิง มู่เจี้ยน กล่าวเพิ่มเติมว่า "ฉันคิดว่า ปัญหาของความขัดแย้งระหว่างรุ่น หรือการขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ จริงๆ แล้ว เกิดจากความคิดที่แตกต่างกัน ทุกคนควรมีอิสระทางความคิด แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ต้องเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และพร้อมผสมผสานเพื่อหาแนวทางที่ดีกว่า ในการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วย"
Human Resources Agency เชื่อว่า การปฏิรูปการทำงานของ Gen Z เกิดจากการได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมโดยรวม รวมถึงทิศทางของสังคมที่เปลี่ยนไป
หยาง จงปิ จาก Human Resources Agency กล่าวว่า "เพราะพวกเขารู้สึกว่าในชีวิตจริงมีหลายเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการขึ้นเงินเดือนหรือการเลื่อนตำแหน่ง เช่น ราคาบ้านที่สูงเกินไป หรือการซื้อรถดีๆ หรือการทำตามความฝันในชีวิต ล้วนต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่พวกเขารู้สึกว่า การปีนขึ้นไปทีละขั้นในการทำงาน แม้ว่าจะได้เงินเพิ่มไม่มาก แต่เลือกที่จะแสวงหาความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต หรือไม่ ก็ไม่ยอมรับวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น ต้องทำงานล่วงเวลาอย่างไม่สมเหตุสมผล แบบนี้น่าจะดีกว่า"
พนักงาน Gen Z ไม่ยอมก้มหัวให้เจ้านายแบบถวายชีวิตอีกต่อไป แต่พวกเขากำลังแสวงหาความสมดุลระหว่างงานและชีวิต และยิ่งกว่านั้น พวกเขากล้าที่จะซื่อสัตย์ต่อความต้องการของตนเอง
ที่มา: TVBS新聞網, yahoo!新聞
















