มนุษย์เคยเกือบสูญพันธุ์เมื่อ 800,000 ปีก่อน!
รู้หรือไม่!? มนุษย์เกือบสูญพันธุ์มาแล้วเมื่อ 800,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของมนุษย์รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเพียง 1,280 คน
มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Science ระบุถึง "ภาวะคอขวดของบรรพบุรุษ" อันเลวร้ายที่ทำให้ประชากรมนุษย์เหลือเพียง 1,280 คนที่สามารถสืบพันธุ์ได้ โดยมนุษย์ในยุคแรกสูญพันธุ์ไปถึง 98.7%
การลดลงของจำนวนประชากรมนุษย์ซึ่งกินเวลานานประมาณ 117,000 ปีนั้นคาดว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง ภัยแล้งที่ยาวนาน และแหล่งอาหารที่ลดน้อยลง
แม้มนุษย์จะเกือบสูญพันธุ์ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้อาจมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปร่างมนุษย์ในยุคปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเกือบสูญพันธุ์นี้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์วิวัฒนาการซึ่งอาจทำให้มนุษย์โฮโมเซเปียนส์แตกต่างจากมนุษย์โฮมินินสายพันธุ์ก่อนๆ เช่น มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลและมนุษย์เดนิโซวาน
สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการที่ทำให้จำนวนประชากรสิ่งมีชีวิตลดลงส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่แปรปรวน อุณหภูมิที้เปลี่ยนแปลง ภัยแล้งรุนแรง และแหล่งอาหารที่อาจน้อยลง เช่น สัตว์อย่างแมมมอธ แมสโทดอน และสลอธยักษ์สูญพันธุ์ จากการศึกษาพบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมในปัจจุบันอาจสูญหายไปแล้วประมาณ 65.85 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากยุคที่เกิดภาวะคอขวดนี้ การสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมทำให้จำนวนมนุษย์ที่สามารถสืบพันธุ์ได้สำเร็จลดลง และถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสายพันธุ์
การศึกษานี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่าประชากรมนุษย์จำนวนน้อยนิดนี้รอดชีวิตมาได้อย่างไร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการรู้จักใช้ไฟและการใช้สติปัญญาในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม การทำความเข้าใจวิกฤตการณ์โบราณนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถรวบรวมเรื่องราวของวิวัฒนาการของมนุษย์และความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ของเราสามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย
“ผลการวิจัยนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น” หลี่ ไห่เผิง นักพันธุศาสตร์ประชากรเชิงทฤษฎีและนักชีววิทยาเชิงคำนวณจากสถาบันโภชนาการและสุขภาพเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นผู้ร่วมในการศึกษากล่าวแถลง “เป้าหมายในอนาคตคือการวาดภาพการวิวัฒนาการของมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากยุคไพลสโตซีนตอนต้นไปสู่ยุคกลาง ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปริศนาของบรรพบุรุษและวิวัฒนาการของมนุษย์ในยุคแรกต่อไป”